“ซื้อกินหลายกว่าเฮ็ดเอง”: ภาพสะท้อนหมู่บ้านอีสานยุคการลดลงของสังคมเกษตร

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : 28 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3614 ครั้ง


ซึ่ง Araghi (1995) เสนอว่าการทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทนั้นต้องทำความเข้าใจจากมุมมองโลกาภิวัตน์เพื่อวิเคราะห์เงื่อนไขที่ทำให้เกิดกระบวนการลดลงของความเป็นชาวนา (Global depeasantization) ในกรณีนี้ ผู้เขียนเห็นว่าโลกาภิวัตน์ด้านอาหารมีอำนาจควบคุมห่วงโซ่การผลิตและจำหน่ายอาหารของคนทั้งโลกผ่านห้างต่างชาติที่ทำมาค้าปลีกในพื้นที่เมืองเล็กๆที่คนชนบทสามารถเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็วเพราะการมีระบบคมนาคมที่ดีและความใกล้ชิดระหว่างเมืองและชนบทที่มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในพื้นที่ที่ผู้เขียนเข้าไปศึกษาข้อมูล พบว่าหมู่บ้านแห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการไหลบ่าของโซเชียลมีเดียที่คนรุ่นใหม่ส่วนมากและรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านนี้เริ่มใช้สมาร์ทโฟนทั้งแบบถูกและค่อนข้างแพง และยุคที่ไม่สามารถแบ่งขอบเขตได้ชัดเจนได้อีกต่อไประหว่างเมืองและชนบทในแทบทุกมิติ เช่น พื้นที่กายภาพ การผลิตขยะ การใช้เทคโนโลยีการสื่อการ การเสพสื่อ การเมือง และวัฒนธรรมการบริโภคการบริโภค เป็นต้น อีกทั้งเป็นยุคที่คนอีสานรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจทำการเกษตรมากนักเพราะประสงค์จะก้าวออกจากสังคมเกษตรกรรม

Tacoli (2015:1-2) กล่าวว่าองค์กรที่ชื่อว่า International Institute  for Environment and Development (IIED) ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารเพื่อความมั่นคงอาหารได้ศึกษาระบบการผลิตและการบริโภคของคนในชนบทในหลายภูมิภาคของโลกมีข้อสรุปว่าคนในชนบทจำนวนมากซื้ออาหารจากภายนอกมากกว่าอาหารที่ตนผลิตได้เอง คนชนบทมิใช่ผู้ผลิตอาหารอย่างเดียวอีกต่อไปเหมือนที่เคยเข้าใจกันมาก่อนหน้านี้ แต่คนชนบทกำลังกลายเป็นกลุ่มผู้ซื้อสำคัญของโลกไปแล้ว ชนบทมิใช่ฐานการผลิตที่มีความมั่นคงอีกต่อไป เช่น ในแอฟริกาตะวันตกที่พบว่าคนชนบทซื้ออาหารที่นำเข้ามากกว่า50เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น หรือในกลุ่มประเทศเอเชียนั้น อย่างเช่น ชาวบ้านในประเทศเวียดนามมากกว่า50เปอร์เซ็นต์ซื้อข้าวกินทั้งที่เป็นประเทศที่ส่งข้าวออกขายต่างประเทศเป็นอันดับสองของโลก ดังนั้นภาพลักษณ์ดั้งเดิมที่คนชนบทถูกสร้างขึ้นในลักษณะแบบคู่ตรงข้าม (Traditional dichotomy) กับเมืองคือ “คนชนบทคือผู้ผลิตส่วนคนเมืองคือผู้บริโภค” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไปแล้วเพราะปัจจุบันคนชนบทกลายลูกค้าซื้ออาหารมากกว่าอาหารที่ตนผลิตหรือหาจากธรรมชาติ

พลวัตและความหลากหลายของวิถีการดำรงชีพของชาวบ้าน

ข้อมูลที่นำเสนอในบทความสั้นนี้มาจากการศึกษาภาคสนามของผู้เขียนในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แต่ข้อมูลที่เสนอนี้มาจากกรณีศึกษาจากหมู่บ้านหนึ่งที่ห่างจากตัวอำเภอไม่ถึง 10 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้ค่อนข้างใกล้ชิดกับเมืองพิบูลมังสาหารผ่านการค้าขายและการไปรับจ้างแรงงาน ปัจจุบันในหมู่บ้านมี 125 ครัวเรือน (พ.ศ. 2559) จากอดีตจนถึงก่อนมีเขื่อนปากมูล (ในปีพ.ศ. 2537) นั้นวิถีการดำรงชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือการจับปลาทั้งเป็นอาหาร นำปลาแลกข้าวเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนา และไม่มีที่นา  และ ปลายังเป็นรายได้ นอกจากนี้ชาวบ้านยังพึ่งพาทรัพยากรต่างๆจากป่าแหล่งน้ำและที่ดินสาธารณะรวมทั้งที่นา นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนทำอาชีพค้าขายกับคนภายนอก เช่นแม่คนหนึ่งอายุมากกว่า 65 ปีในปัจจุบันเล่าว่าครอบครัวของแม่ไม่มีนา สามีหาปลา ส่วนแม่ค้าขาย แม่มักเดินทางจากหมู่บ้านไปขายข้าวหลามในเมืองต่างๆของศรีสะเกษและสุรินทร์ที่ตั้งอยู่ริมทางรถๆไฟโดยการขึ้นรถไฟจากอำเภอวารินไปลงในบางอำเภอที่เป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ เช่น สถานีรถไฟอุทุมพรพิสัย และสถานีรถไฟศรีขรภูมิ เป็นต้น และเมื่อมีงานบุญ แม่นั่งเรือตามแม่น้ำมูลไปกับพ่อแม่เพื่อนำถั่วลิสงคั่วไปขายซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่แม่ทำเช่นนี้ มีชาวบ้านคนอื่นๆจากหมู่บ้านเดียวกันและจากหมู่บ้านอื่นๆที่ตั้งริมแม่น้ำมูลก็ขายถั่วดินเช่นกัน หากคนใดมีฐานะดีก็มีตะเกียงขนาดใหญ่ที่เรียกว่าตะเกียงเจ้าพายุติดตั้งและขายของดีกว่าคนที่มีตะเกียงน้ำมันธรรมดาซึ่งมีขนาดเล็ก แม่ค้าคนไหนมีตะเกียงเล็ก จะถูกเรียกว่าสาวตะเกียงน้อย ส่วนลูกของแม่เรียนหนังสือจบมัธยมและวิทยาลัยและได้ทำงานกับบริษัทในภาคตะวันออกและกรุงเทพ คนที่ไม่ได้เรียนก็มีครอบครัวอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ส่วนลูกสาวทำงานรับจ้างในกรุงเทพ แม่อยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่เปิดร้านค้าเล็กๆขายขนมเล็กๆน้อยๆและทำสวนผักและผลไม้ เช่นน้อยหน่า มะพร้าวและ มะละกอ เพื่อขายและแจกพี่น้อง ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งมีนา 15 ไร่แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวมีกันหลายคนเธอเป็นวัยกลางคนอายุประมาณ 40 กว่าปี เธอเล่าว่าหลังจากที่พ่อตายลงทำให้ขาดหัวหน้าครัวเรือนเธอเห็นคนในหมู่บ้านเดินทางไปกรุงเทพฯทำงานในร้านอาหาร เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานกับเพื่อนบ้านโดยทำงานร้านอาหาร เธอได้ความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยมาจากที่ทำงาน เมื่อเธอกลับมาได้แต่งงานกับคนในหมู่บ้านประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา สามีหาปลาเป็นหลักส่วนเธอก็หาปลาช่วยสามีและครอบครัวทำนาด้วยลูกสาวและลูกเขยที่อยู่ด้วยทำงานรับจ้างในและนอกหมู่บ้าน

ปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวบ้านภายในหมู่บ้านนี้คล้ายๆกับชาวบ้านในภาคอีสานโดยรวมคือมีการเปลี่ยนแปลงไปมากนับจากอดีต ชาวบ้านพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกชุมชนมากกว่าภายในชุมชน คนหนุ่มสาวไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านพวกเขาทำงานในเมืองใหญ่และส่งเงินกลับบ้าน พ่อแม่และเด็กวัยเรียนอยู่ในหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้านมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างเช่น ถนนลาดซีเมนต์ภายในหมู่บ้าน ไฟฟ้า ส้วม และ น้ำประปา มีวัดเป็นศาสนสถานทางพิธีกรรมและความเชื่อ นักเรียนระดับประถมศึกษาไปโรงเรียนในอีกชุมชนหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกันซึ่งเป็นชุมชนที่หมูบ้านนี้แยกตัวออกมา นักเรียนระดับมัธยมส่วนมากในหมู่บ้านเรียนที่โรงเรียนมัธยมในตัวเมืองพิบูลมังสาหาร มีนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เรียนในเมืองอุบลราชธานี อาชีพของคนที่เหลือในชุมชนคือทำนา (กรณีมีที่นาซึ่งมีน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้าน) หาปลา หน่อไม้ แต่โดยมากคนในหมู่บ้านค้าขาย เช่นบางคนทำขนม เลี้ยงกบขาย บางคนขายผลไม้ที่ปลูกในสวน และส่วนมากรับจ้าง  เช่น ก่อสร้าง หรือบางคน ขับรถตุ๊กๆระหว่างหมู่บ้านกับเมือง เป็นต้น

แหล่งอาหารของครอบครัว

การสัมภาษณ์เจาะลึกภาคสนามพบว่าอาหารที่ชาวบ้านกินในหมู่บ้านส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ได้ผลิตเอง เป็นการพึ่งพาอาหารจากการซื้อมากกว่า ดังเห็นได้จากแหล่งอาหารที่มาจากหลายที่หลายทางผสมผสานกัน ดังนี้

(หนึ่ง) ผลิตเอง ได้แก่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ก่อนสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านบางคนที่มีนา ก็ปลูกข้าว แต่ส่วนมากไม่สนใจทำนาเพราะหาแต่ปลาและแลกข้าว แต่ทุกครัวเรือปลูกผักริมแม่น้ำมูล เช่น ตระไคร้ ใบมะกรูด หอม กระเทียม พริก ผักชี ข้าวโพด แตงกวา มะละกอ และอื่นๆ หลังจากมีเขื่อนปากมูล ริมฝั่งมูลถูกน้ำท่วมทั้งหมด ชาวบ้านจึงย้ายมาปลูกในสวนรอบบ้านแต่เนื่องจากพื้นที่ไม่มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่ได้ปลูกผัก มีบางครอบครัวที่ปลูกผักและผลไม้ เช่น พริก มะละกอ และน้อยหน่า เป็นต้น บางครอบครัวที่มีนา พวกเขาปลูกผักในที่นา แต่ปีพ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีที่แล้งมาก ผักต่างๆที่ปลูกไว้ไม่ได้ผล เช่น แตงร้าน แตงกวา ถั่วฝักยาว ยี่หร่า และ  ผักชีลาว ส่วนการสัตว์เลี้ยงนั้นในอดีต ชาวบ้านไม่ค่อยได้เลี้ยงวัวควายมากนัก เลี้ยงเพื่อเป็นแรงงานทำนาและเป็นอาหารในงานบุญชาวบ้านเพราะไม่ค่อยได้กินเนื้อยกเว้นมีงานบุญจึงฆ่าวัวควายหรือเป็ดไก่ ชาวบ้านนิยมกินปลาจากแม่น้ำมูลเป็นหลัก ปัจจุบันปลาจำนวนมากได้สูญหายไปเพราะเขื่อนปากมูล และการผลิตอื่นๆลดลงไปมากทั้งปลูกและเลี้ยงสัตว์เนื่องจากการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป กิจกรรมการผลิตของชาวบ้านเน้นการทำงานนอกภาคเกษตรได้แก่ ค้าขาย ทำงานบริษัท และ รับจ้างทั่วไป

 

ถ่ายภาพโดย จุฬาลักษณ์ กาฝา

(สอง) เก็บหาจากธรรมชาติ ในอดีตชาวบ้านหาปลาจากแม่น้ำมูลทุกครัวเรือน ปลาจึงเป็นอาหารหลักที่ประหยัดและมีคุณค่าทางโภชนาการ หากต้องการกินอาหารที่มาจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น กบ หรือเขียด ชาวบ้านหาทั้งจากแม่น้ำมูลและห้วยเล็กๆ (ฮ่อง) รอบๆหมู่บ้านได้แก่ฮ่องสวน และฮ่องแฮ รวมทั้งหาจากทุ่งนาหลังเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ  ส่วนหน่อไม้หาได้จากนาและป่าริมมูลที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง ส่วนสัตว์ป่าหาได้จากป่าริมมูลและป่าสาธารณะรวมทั้งทุ่งนา ปัจจุบันการหาอาหารจากธรรมชาติลดลงไปมากเพราะเขื่อนปากมูลและการมีพฤติกรรมการซื้ออาหารเข้ามาแทนที่อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของการดำรงชีพ

 

ถ่ายภาพโดย จุฬาลักษณ์ กาฝา

(สาม) รถเร่ คือแหล่งอาหารของชาวบ้านยุคเร่งรีบ รถเร่วิ่งเข้ามาขายอาหารถึงหมู่บ้านทุกวัน เข้ามาพร้อมกับเครื่องกระจายเสียงเชิญชวนซื้อสินค้า ในรถมีอาหารเกือบทุกอย่างที่ต้องการ เช่น เนื้อสด เช่น หมู เนื้อหมู ไก่สด ไข่ไก่ ไก่ย่าง น้ำพริก ปลานิล ผลไม้ อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป ผลไม้ ขนม และผักต่างๆ  เช่น  พริก กวางตุ้ง คะน้า แตงกวา ผักกาด มะเขือ และ ถั่วฝักยาว เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านบอกว่าอาหารประเภทเนื้อที่ขายในรถเร่สดกว่าซื้อจากห้างโลตัสบิ๊กซี แต่มีราคาแพงกว่า ดังนั้นชาวบ้านบางครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมากที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงนิยมซื้อเนื้อจากรถเร่ซึ่งมักเป็นกรณีที่เนื้อที่ซื้อจากห้างโลตัสบิ๊กซีหมดไปจากตู้เย็นแล้ว

รถเร่ขายอาหารในหมู่บ้าน

ถ่ายภาพโดย จุฬาลักษณ์ กาฝา

(สี่) ห้างโลตัสและบิ๊กซี ที่อยู่ในเมืองพิบูลมังสาหารที่มาเปิดเมื่อประมาณ2ปีที่ผ่านมากลายเป็นตลาดเครื่องอุปโภคและบริโภคของชาวบ้านรุ่นใหม่จากหมู่บ้าน ผู้หญิงคนเดิมเล่าว่าคนรุ่นใหม่ เช่นลูกสาวลูกเขยนิยมเข้าไปซื้ออาหารจากสองห้างซึ่งต้องจ่ายมากกว่า หนึ่งพันบาทในแต่ละครั้งเพราะซื้อมาในปริมาณมากเนื่องจากสินค้าลดราคาซึ่งถูกกว่าที่ขายในท้องตลาด โดยเฉพาะเนื้อหมูหรือเนื้อไก่และมักรอซื้อเย็นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่สินค้าเหล่านี้และสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำปลา น้ำมัน ผงซักฟอก ซอสปรุงรสและ ผงชูรส ลดราคา ส่วนไก่และหมูนั้นชาวบ้านบางคนก็นิยมเช่นครอบครัวของผู้ให้ข้อมูล ที่มักซื้อตอนลดสต๊อกแม้จะไม่สดก็ตามเพราะแรงจูงใจด้านราคา แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ซื้อสินค้าเหล่านี้จากตลาดสดพิบูลมังสาหาร การซื้ออาหารมาแช่เข็งในตู้เย็นนั้นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆครอบครัวซึ่งเกิดขึ้นหลังมีห้างโลตัสและบิ๊กซีมาตั้งในอำเภอเพราะราคาถูกกว่าตลาดสดในเมืองพิบูล ในแง่รสชาติผู้หญิงที่สัมภาษณ์เล่าว่าไก่หรือหมูที่ลูกสาวซื้อมาตอนลดสต๊อกไม่สดเพราะแช่ไว้ในตู้เย็นนานมาแล้วซึ่งบางครั้งต้องทิ้งเนื้อเหล่านั้นไปเพราะกินไม่อร่อยและมีกลิ่น

นอกจากนี้พบว่าคนรุ่นใหม่นิยมซื้อเครื่องแกงสำเร็จที่ขายตามห้างและตลาดมาทำกิน เช่น แกงเขียวหวาน หรือ ต้มข่าไก่ โดยเพียงเทเครื่องแกงสำเร็จรูปและกะทิกล่องลงไปตามด้วยเนื้อหรือไก่และผักก็เสร็จสิ้นแล้ว คนรุ่นใหม่ให้เหตุผลว่ามีความสะดวกแม้ไม่รู้ส่วนประกอบอาหารก็สามารถทำอาหารไทยได้ เพียงทำตามขั้นตอนที่บอกไว้บนหน้าซอง และไม่ต้องมาถามกับแม่ว่าต้องใส่อะไรบ้าง แต่ถ้าหากเป็นเมนูอีสานดั้งเดิมลูกสาวจะให้แม่เป็นคนทำอาหารนั้นๆเช่น แกงขี้เหล็กหรือป่นปลา หากเป็นเมนูใหม่ๆลูกสาวจะเป็นคนทำอาหาร เช่นอาหารประเภท ผัด ทอด หรือแกงไทยๆ หรือแม้กระทั่งอาหารถวายพระก็กลายเป็นอาหารถุงและขนมจากร้านค้า รถเร่ หรือห้างมากขึ้นเช่น ขนมโฮมมี่ ขนมปัง ของหวานบรรจุถุงพลาสติก หรือ ขนมไข่ เป็นต้น

(ห้า) ร้านค้าขายอาหารในหมู่บ้าน ในหมู่บ้านมีร้านขายสินค้าครบวงจรอยู่ 1 แห่ง ได้แก่ อาหารถุง อาหารแห้ง ผัก และสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องดื่ม เบียร์ น้ำอัดลม น้ำดื่มชูกำลัง เหล้า และ บุหรี่ เป็นต้น ส่วนอีกหนึ่งแห่งขายอาหารปรุงสุก ได้แก่ก๋วยจับและก๋วยเตี๋ยว และสินค้าอุปโภคบริโภค และร้านที่สามขายเฉพาะอาหารปรุงสุกได้แก่ก๋วยจับ ชาวบ้านซื้ออาหารจากร้านค้าเหล่านี้กรณีที่ไม่ได้ซื้อมาจากตลาดหรือไม่มีอาหารกินในบางมื้อ โดยมากคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านซื้ออาหารปรุงสุกจากร้านในหมู่บ้านมากกว่าคนรุ่นเก่าๆเพราะยังนึกถึงอาหารจากปลาแม่น้ำมูลหรืออาหารที่เก็บได้จากท้องถิ่น

 

                                                ป่นปลา (น้ำพริกปลา) จากร้านอาหารหรือรถเร่

ข้าวสารขายในหมู่บ้าน

(หก) ตลาดพิบูลมังสาหาร เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน ชาวบ้านที่มาขายผลผลิต เช่น ขนมไทย (ใส่ใส้ ขนมต้ม และอื่นๆ) ปิ้งกบ หน่อไม้ หรือ ปลา ก็มักซื้อทั้งอาหารสด อาหารถุง  อาหารแห้ง เครื่องปรุงรสและข้าวสารกลับบ้านไปด้วย หรือชาวบ้ายบางคนตั้งใจเข้ามาซื้ออาหารในตลาดและทำธุระอื่นๆ ชาวบ้านบางคนเห็นว่าการซื้ออาหารสดและสุกจากตลาดเพิ่มความสะดวก ประหยัดเวลาและเงินมากกว่าทำกินเองและสามารถเลือกชนิดอาหารได้ตามต้องการ

 

อาหารสดจากตลาดพิบูลมังสาหาร

 

(เจ็ด) ขอจากเพื่อนบ้าน การขออาหารจากเพื่อนบ้านลดลงไปมากในปัจจุบันเพราะแต่ละบ้านไม่ค่อยได้ผลิตอาหารเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตามการขอจากเพื่อนบ้านยังคงมีอยู่บ้างเช่น ใบแมงลัก ใบกระเพรา ตระไคร้หรือใบมะกรูด เป็นต้น

(แปด) ซื้อจากเพื่อนบ้าน ปัจจุบันการซื้อวัตถุดิบบางอย่างจากเพื่อนบ้านมาทำอาหารเป็นเรื่องปกติแล้วในชุมชน เช่นผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า ตนซื้อมะพร้าวลูกละ 5 บาทจากเพื่อนบ้านหรือแม้แต่กับญาติพี่น้องเพื่อทำขนม ซึ่งแต่เดิมขอมะพร้าวกันได้ ปัจจุบันผักผลไม้ที่ชาวบ้านผลิตได้มักนำไปขายเพื่อสร้างรายได้มากกว่า

เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงด้านแหล่งที่มาของอาหาร

ข้อมูลที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านผลิตอาหารน้อยลงแต่ซื้อจากภายนอกมากขึ้น ซึ่งเงื่อนไขที่ทำให้แหล่งอาหารของชาวบ้านแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากในยุคโลกาภิวัตน์ พอสรุปคร่าวๆว่ามาจากหลายเงื่อนไขประกอบกัน ดังนี้

ประการแรก เขื่อนปากมูล ถือว่าเป็นปฐมเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้แก่ปลาและสัตว์น้ำรวมทั้งพืชพรรณที่เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวบ้าน เขื่อนนี้กักเก็บน้ำเพื่อปั่นไฟฟ้าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 เขื่อนปากมูลทำลายฐานทรัพยากรอาหารและรายได้ของชาวบ้าน (WCD 2000, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2545, มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2545,  คณะนักวิจัยไทบ้านกรณีเขื่อนปากมูล 2545) ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ไม่มากนักประกอบการไม่มีที่ดินทำกินที่พอเพียง การทำงานนอกหมู่บ้าน การออกไปรับจ้างและค้าขายในเมืองมากขึ้นกว่าเดิม (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2545) แม้ว่าก่อนมีเขื่อนปากมูลชาวบ้านออกไปทำงานที่กรุงเทพตามร้านอาหารหรือโรงงานแต่ก็เป็นคนส่วนน้อยในหมู่บ้านเมื่อเปรียบเทียบกับการย้ายถิ่นหลังจากมีเขื่อนปากมูลแล้ว (สัมภาษณ์ วันที่ 22 มิถุนายน 2559)

ประการที่สอง การย้ายถิ่นมาทำงานในเมืองและอิทธิพลของเมือง เมืองคือปัจจัยดึงดูดที่สำคัญให้คนชนบทเข้ามาทำงานและซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคกลับไปยังชนบท เช่น อาหาร ดังที่ชาวบ้านเล่าว่าอาหารและเครื่องปรุงรสรวมทั้งข้าวสารหาได้จากตลาดในเมือง โดยเฉพาะเมื่อซื้อจากห้างใหญ่ๆเช่นโลตัสหรือบิ๊กซีที่มีราคาค่อนข้างถูก เช่น อาหารประเภทเนื้อและไข่ไก่ เป็นต้น นอกจากนี้เมนูอาหารที่ผู้ย้ายถิ่นเห็นในเมืองได้ถูกนำกลับบ้านเพื่อทำให้สมาชิกในครัวเรือนได้กิน เช่น ผู้ให้ข้อมูลหญิงเล่าว่าเธอออกจากบ้านตอนเป็นสาวและทำงานในร้านอาหารที่กรุงเทพ เธอได้ความรู้เกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารที่เธอเรียกว่า  “อาหารไทย” เธอนำ “เมนูผัดกระเพรา” กลับมาทำเองเมื่อเลิกขายแรงงาน เธอว่าส่วนผสมของเมนูนี้เกือบทั้งหมดซื้อมาจากตลาดยกเว้นใบกระเพรา ดังที่เธอพูดว่า “หมูมาจากห้างบิ๊กซีหรือไม่ก็ห้างโลตัสเพราะถูกกว่าตลาดเนื่องจากมีคนมากในบ้านคือมี 8 คน หากซื้อหมูจากตลาดคงไม่พอ ส่วน หอมหัวใหญ่ ถั่วฝักยาวจากตลาดพิบูล เกลือ ชูรส รสดี น้ำปลา น้ำมัน กระเทียม ซ๊อสภูเขาทอง ส่วนพริกสดหรือพริกแห้ง ไม่ซื่อจากตลาดพิบูลก็ซื้อจากรถเร่ ใบกระเพราขอจากเพื่อนบ้านเพราะปลูกที่บ้านไม่ได้ไก่เขี่ยต้นกระเพราตายหมด

ประการที่สามโลกาภิวัตน์ด้านอาหาร การเปิดห้างของบรรษัทข้ามชาติเพื่อขายปลีกได้แก่บิ๊กซีและโลตัสในอำเภอพิบูลมังสาหารสองปีกว่าที่ผ่านมาสามารถดึงดูดลูกค้าจากชนบทที่เป็นคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านได้มากทีเดียวซึ่งการมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาตั้งในเมืองขนาดเล็กเพื่อขายอาหารทั้งสด แช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดสะท้อนกระบวนการโลกาภิวัตน์ด้านอาหารที่ทรงอำนาจ ซึ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนเคลื่อนย้ายแรงงานได้เป็นอย่างดี McMichael (2004) และ Via Campesina (2011) วิเคราะห์ว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์ด้านอาหารมีอำนาจและอิทธิพลควบคุมทุกขั้นตอนของสายพานการผลิตได้ทำลายความหลากหลายของอาหารของท้องถิ่น อำนาจการผลิตอาหารของคนท้องถิ่น และอธิปไตยทางอาหาร เช่น ผลิตเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต การทำเป็นอาหาร จนกระทั้งถึงการจัดจำหน่าย

ประการที่สี่ บุตรหลานได้รับการศึกษาสมัยใหม่ เพื่อการมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง ทำให้พ่อแม่สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านจำนวนมากเรียนหนังสือระดับสูงขึ้นและคนกลุ่มนี้มักทำงานต่างถิ่น ภายในหมู่บ้านจึงเหลือแต่รุ่นพ่อแม่และวัยเรียนหนังสือ การพูดคุยกับนักเรียนในหมู่บ้านพบว่าพวกเขามีความใฝ่ผันอยากมีการศึกษาระดับสูงๆและมีอาชีพที่มีรายได้มั่นคงเช่นรับราชการครูหรือเป็นหมอ เมื่อถามเรื่องอาหารพบว่าเด็กรุ่นใหม่กินอาหารกลางวันที่ซื้อในโรงเรียนหรือตอนเย็นก่อนการกลับบ้านก็นิยมซื้ออาหารหน้าโรงเรียนกิน เช่น ลูกชิ้น น้ำอัดลม หรือ ไก่ทอด เป็นต้น เด็กรุ่นใหม่มีความคุ้นเคยกับอาหารสำเร็จรูปมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากนี้พวกเขานิยมกินอาหารที่ซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้านเช่นก๋วยเตี๋ยวหรือก๋วยจั๊บ (สัมภาษณ์ข้อมูลภาคสนาม 2 ธันวาคม 2558) ดังที่ผู้ให้ข้อมูลเปรียบเปรยว่า “ทุกวันนี้คนรุ่นเก่าต้องปรับตัวเรื่องการกินอาหารให้เข้ากับคนรุ่นใหม่” (สัมภาษณ์ 24 มิถุนายน 2559)

ประการที่ห้า ชีวิตที่ยุ่งมากขึ้น เนื่องจากการมีความหลายหลายกิจกรรมของครัวเรือนที่แม่บ้านไม่สามารถทำอาหารเองครบทุกมื้อในแต่ละวัน ครัวเรือนจึงเน้นความสะดวกรวดเร็วในการหาอาหารบริโภค การซื้ออาหารปรุงสุกแล้วหรือซื้ออาหารที่มีเครื่องปรุงสำเร็จจึงเป็นทางออกของครัวเรือนยุคใหม่ในหมู่บ้าน รวมทั้งอาหารไปวัดก็เช่นกัน อย่างไรก็ตามพบว่าคนรุ่นใหม่มักเป็นกลุ่มคนที่สนใจซื้ออาหารจากเมืองมากกว่าคนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นเก่าจำนวนมากก็ซื้ออาหารจากเมืองเช่นกันเพราะอาหารจากท้องถิ่นที่เคยหามาก่อนไม่ได้อีกแล้ว รวมทั้งเวลาในการออกไปหาอาหารมีน้อยลงเพราะทำงานอย่างอื่นเช่นรับจ้าง การซื้ออาหารจึงเป็นทางเลือกของคนในหมู่บ้านเพราะสะดวกและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่หลากหลายและเร่งรีบขึ้นของชาวบ้าน

‘ซื้อมากกว่าผลิต’: เมื่อสังคมชนบทกำลังก้าวออกจากสังคมแห่งการผลิตอาหาร

แหล่งที่มาของอาหารที่หลากหลายมากขึ้นของชาวบ้านแต่เป็นการซื้อมากกว่าที่ชาวบ้านผลิตเองที่พบเห็นได้จากหมู่บ้านที่ศึกษากำลังสะท้อนให้เห็นชนบทอีสานยุคการลดลงของสังคมเกษตรและยุคที่ “สังคมชนบทก้าวออกจากสังคมแห่งการผลิตอาหาร” ดังนั้น ภาพคู่ตรงข้ามที่ถูกสร้างขึ้นมานานเกี่ยวกับสังคมชนบทที่ว่า ‘ชนบทผลิตอาหารคนเมืองซื้ออาหาร’นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเพราะภาพเช่นนี้ไม่สามารถทำความเข้าใจชนบทในมิติความเป็นพลวัตที่ซับซ้อนอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงภายใต้ยุคการลดความสำคัญของภาคเกษตร (Deagrarianization) และโลกาภิวัตน์ด้านอาหารที่คนชนบทในประเทศไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หันมาพึ่งพาทรัพยากรนอกภาคเกษตรโดยการอพยพแรงงานทำงานในเมืองมากขึ้นหรือมีอาชีพอื่นๆเพิ่มเติมมากขึ้นในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน อีกทั้งการที่คนรุ่นใหม่มีการศึกษาและอาชีพใหม่ๆ คนในชนบทไม่ยึดกับที่ดินมากเหมือนในอดีตรวมทั้งที่ดินมีนาดเล็กลงเรื่อยๆหรืออาจไม่มีที่ดินเลย คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในหมู่บ้านนิยมบริโภคสินค้าจากเมืองครอบคลุมทั้งเรื่องเทคโนโลยี และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Rigg 2001, 2006, Rigg et al., 2012 and Rigg and Sakunee 2001)

ข้อมูลที่ค้นพบจากหมู่บ้านแห่งนี้สอดคล้องกับการศึกษาทั่วโลกว่าแนวโน้มการกินอาหารจนถึงปี ค.ศ. 2050 ของคนในโลกล้วนมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันคือรูปแบบอาหารที่คนบริโภคจะเปลี่ยนแปลงจากอาหารแบบง่ายๆเป็นอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น  ซึ่งเป็นผลมาจากหลากหลายเหตุผลได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของประชากร ความชอบเฉพาะของบุคคล การขยายตัวของเมืองสู่ชนบท และอุตสาหกรรมอาหารและตลาดอาหารของโลก (Kearney 2010) ซึ่งกระบวนการโลกาภิวัตน์ด้านอาหารกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงอาหารและพฤติกรรมการกินอาหารของคนทั้งในเมืองและคนในชนบทโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มด้านอาหารที่เหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆคือความหลากหลายของอาหารลดลงหรือแคบลงเช่นคนมักกินผลิตภัณฑ์ธัญพืชไม่กี่ชนิด เพิ่มการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมวัว น้ำมันพืช เกลือ และน้ำตาลมากขึ้นโดยไม่ได้เน้นการกินอาหารที่มีเส้นใย และคนชนบทนิยมซื้อสินค้าจากห้างมากขึ้นเนื่องจากการดึงดูดด้วยภาพลักษณ์ความแปลกใหม่น่าเย้ายวนของอาหารประเภทต่างๆที่วางขายในห้าง (Kennedy et al., 2004) ส่วน Hawkes (2006) พบว่าปัจจุบันผู้คนมีพฤติกรรมการปรับตัวต่อการกินอาหาร (Dietary adaptation) นั่นคือการนิยมซื้ออาหารแปรรูปมียี่ห้อและสามารถเก็บแช่แข็งไว้ได้นานเพื่อความสะดวก นิยมกินอาหารนอกบ้านมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ไม่แพงมากเนื่องจากคนชนบทมีรายได้สูงขึ้น อีกทั้งการไม่มีเวลาทำอาหารของผู้บริโภค การโฆษณาของผู้ผลิตผ่านสื่อต่างๆ การเพิ่มขึ้นของห้างค้าปลีกในเมืองเล็กๆกระจัดกระจายทั่วไปหมด เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการทำความเข้าใจแหล่งที่มาของอาหารของคนบทอีสานช่วยทำให้เห็นว่าการซื้อมากกว่าการผลิตนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารรวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพในชนบทในอนาคตอย่างมาก

อ้างอิง

คณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนกรณีปากมูน และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (2545) แม่มูน: การกลับมาของคนหาปลา, ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ (บก.). เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทย.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2543) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การประเมินผลกระทบสิ่งแวด ล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชากรที่ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2545) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

Araghi, A. F. 1995. Global Depeasantization, 1945-1990.  The Sociological Quarterly. 36 (2):337-368.

Kearny, J. (2010) Food consumption trends and drivers. Philos Trans R Soc Lond B Biol Sci, 365(1554): 2793–2807. Doi:  10.1098/rstb.2010.0149 เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 29 มิถุนายน 2559

Kennedy G, Nantel G, Shetty P. (2004) Globalization of food systems in developing countries: a synthesis of country case studies. FAO Food and Nutrition Paper.:1-24. เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2559

McMichael, P. (2004) Global development and the corporate food regime.  Symposium on New Directions in the Sociology of Global Development, XI World Congress of Rural Sociology, Trondheim. July 2004, in http://www.iatp.org/files/451_2_37834.pdf เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2559

Rigg, J. (2001) More than the Soil. United Kingdom: Pearson Education Limited.  

Rigg, J. (2006). ‚Land, Farming, Livelihoods, and Poverty: Rethinking the Links in the

Rural South. World Development, 34 (1): 180-202. 

Rigg, J, Salamanca, Albert, and Parnweel, Michael. (2012) Joining the Dots of Agrarian Change in Asia: A 25    Year View from Thailand. World Development,(10): 1469-1481.

Rigg, J and Sakunee Nattapoolwat. (2001) Embracing the Global in Thailand: Activism and Pragmatism in an Era of Deagrarianization. World Development, 29(6):945-960.

Tacoli, C. (2015) Reframing the debate on urbanisation, rural transformation and food security in http://pubs.iied.org/17281IIED เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน 2559

Via Campesina. (2011) The international voice. http://www.viacampesina.org/en/index.php/organisation-mainmenu-44 เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2559

World Commission of Dams. (2000) Pak Mun Dam Mekong River Basin Thailand. Cape Town: Secretariat of the World Commission of Dam.

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: