ชาวบ้านพิจิตรเดินหน้าฟ้องเหมืองทองอัครา หลังได้รับผลกระทบสาหัส ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดลุยฟ้องกลับทุ่งคำ หลังเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 50 ล้าน เหตุทำป้ายรณรงค์ปิดเหมืองฟื้นฟู (ที่มาภาพจาก: oknation)
28 พ.ค. 59 สำนักข่าวไทยโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ถ.รัชดาภิเษก นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ และนายสมชาย อามีน ทนายความจากสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางมาพร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ กว่า 30 คน ยื่นฟ้องบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรื่องละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เรียกค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยมีสารพิษในร่างกาย, ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย, ค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในครัวเรือน, ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
โดยการฟ้องคดีดังกล่าว ชาวบ้านผู้เสียหายซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ที่ประกอบอาชีพทำนารวมกว่า 300 คนได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยมี สื่อกัญญา หรือธัญญารัศมิ์ ธีระชาติดำรง หรือสินทรธรรมทัช หนึ่งในชาวบ้านผู้ได้รับผล กระทบเป็นตัวแทนโจทก์ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,588,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันถัดฟ้อง (27 พ.ค.59) และค่าเสียหายที่ชาวบ้านแต่ละรายได้รับผลกระทบอีก
ด้านหัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า ได้นำผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองมายื่นฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายรายละประมาณ 1,500,000 บาท โดยมีผู้เสียหายที่ร่วมกันยื่นฟ้องในสำนวนวันนี้แล้วกว่า 300 คน ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มไว้พิจารณาหรือไม่ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ขณะที่อนาคตคาดว่าจะมีผู้เสียหายทยอยมายื่นฟ้องเพิ่มอีกหลายคน
วันเดียวกัน เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีมีกลุ่มร้องเรียนไปฟ้องศาลแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายโดยระบุว่า บริษัทยืนยันตลอดระยะเวลา 15 ปีที่บริษัทเปิดดำเนินกิจการ ยังไม่เคยมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามหลักวิชาการ ใดๆ เลยที่บ่งชี้ ว่าการเจ็บป่วยตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ตลอดคำกล่าวอ้างเรื่องการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเหมือง มีสาเหตุมาจากการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี และมีความกังวลใจว่าประ ชาชนอาจถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ โดยสัญญาว่าผู้เข้าร่วมกับ กลุ่มผู้ประท้วงจะได้รับเงินประ มาณ 1.5 ล้านบาทจากการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด และบริษัทจะดำเนินการตามกฎ หมายต่อกลุ่มผู้ฟ้องร้องซึ่งทำการให้ร้ายบริษัท ด้วยการให้ข้อมูลเท็จมาอย่างต่อเนื่องตลอด เพื่อรักษาชื่อเสียงของบริษัทและเพื่อความถูกต้องให้เกิดในสังคมต่อไป
ขณะที่ จ.เลย ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่เมือง เลย มอบหมายให้ตัวแทนชาวบ้าน 6 คนที่เคยตกเป็นจำเลยในคดีกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด พร้อมด้วยทีมทนายความและนักกฎ หมายสิทธิมนุษยชนยื่นฟ้องกลับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในคดีที่บริษัทเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากเหตุการณ์เมื่อปี 2558 ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำซุ้มประตูหมู่บ้าน และได้เขียนข้อความว่า "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" รวมถึงได้ติดป้ายเล็กๆ โดยมีข้อความว่า "ปิดเหมืองฟื้นฟู" บริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 6 คนจงใจละเมิดต่อบริษัท ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีจากเงินต้น และให้รื้อถอนป้ายดังกล่าว โดยเมื่อวัน ที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำพิพากษายกฟ้อง โดยกล่าวว่าชาวบ้านที่ขึ้นป้ายเป็นการเรียกร้องจากการได้รับผลกระทบ จึงเป็นการสู้โดยสุจริตซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐ ทั้งนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงตัดสินใจฟ้องกลับบริษัท เรียกค่าเสียหายที่ทำให้ชาวบ้านเสียชื่อเสียงและเสียเวลารวมกว่า 3 ล้านบาท ณ ศาลจังหวัดเลยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ