เคาะมาตรการเพิ่มรายได้-ลดหนี้เกษตรกรรายย่อย โอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง 1,500- 3,000 บาท

29 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2327 ครั้ง


	เคาะมาตรการเพิ่มรายได้-ลดหนี้เกษตรกรรายย่อย โอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง 1,500- 3,000 บาท

ครม.ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย อัดฉีดเงินผ่าน ธ.ก.ส. เพิ่มรายได้และบรรเทาภาระหนี้ โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยโดยตรงรายละ1,500- 3,000 บาท (ที่มาภาพประกอบ: louisproyect.org)

เว็บไซต์ Money Channel รายงานเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่า นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือ ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ดำเนินการ 2 มาตรการ ประกอบด้วย //มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว 

โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งมีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.51 ล้านคน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิ 1.34 ล้านคน รวมผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 2.85 ล้านคน ใช้งบประมาณ 6,540 ล้านบาท 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรให้กลับมาทำการผลิตต่อไปได้และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทให้เข้ามาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่มีวินัยในการชำระหนี้ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้สินต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท จำนวนประมาณ 2,897,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 334,525 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559– 31 มีนาคม 2561 

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นการปฏิรูประบบการผลิตด้านเกษตรกรรมครั้งสำคัญ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งกว่าครึ่งเป็นการผลิตสินค้าด้านเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดนิยามคำว่าเกษตรพันธะสัญญา หมายถึง ระบบการผลิตผลิตผลทางการเกษตรระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป //การกำหนดกลไกรับผิดชอบ โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธะสัญญาที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกตรและสหกรณ์เป็นประธาน และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน เพื่อดูแลตรวจสอบสัญญากลางที่ไม่เคยมีมาก่อน

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: