โรงงานผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ ทั้งไทยและต่างชาติ เด้งรับนโยบาย BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี เร่งอัพเกรดโรงงาน-ขยายกำลังการผลิต จับตาทุนต่างชาติเดินทางลัดบุกซื้อโรงงานต่อยอดส่งออก (ที่มาภาพประกอบ: pharmaceutical-journal.com)
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าหลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เห็นชอบนโยบายส่งเสริมการแพทย์ครบวงจร เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ด้วยการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกิจการผลิตยาและการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยกิจการยาที่ปัจจุบันไม่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และหากยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560 จะได้รับยกเว้น 8 ปี ช่วยลดภาระผู้ผลิตยาที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากปรับปรุงโรงงานผลิตให้ได้มาตรฐาน GMP ตามแนวทาง PIC/S
ส่วนกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ส่งเสริมอยู่แล้ว จะสนับสนุนกิจการเอสเอ็มอีที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ อาทิ เดิมได้รับยกเว้นภาษี 5 ปี เพิ่มเป็น 7 ปี เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร ล่าสุดผู้ประกอบการหลายรายได้แสดงความสนใจและเตรียมจะลงทุน
แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตยาเปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวจูงใจผู้ประกอบการมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะนี้หลายรายเร่งศึกษาอัพเกรดโรงงานผลิต หรือบางรายมีแผนต่อเติมโรงงาน รวมถึงการยกระดับมาตรฐานการผลิต (จีเอ็มพี) ให้ได้มาตรฐาน PIC/S (Pharmaceutical Inspection Cooperation Scheme) ของยุโรป
นอกจากนี้ ยังจูงใจกลุ่มทุนต่างชาติ อาทิ เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตยารายใหม่ ๆ ซึ่งอาจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานใหม่ หรือซื้อโรงงานผลิตยาเดิม แล้วอัพเกรดโรงงานเพิ่ม ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ซึ่งจะได้แบรนด์และรายการยาที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถเดินเครื่องผลิตต่อยอดธุรกิจหรือส่งออกได้ทันที ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
นายสุภชัย วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยารายใหญ่ของไทย กล่าวในเรื่องนี้กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมาบริษัทเพิ่งพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน PIC/S และได้ใบรับรองมาตรฐานดังกล่าวแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเครื่องจักรให้เป็นออโตเมชั่น มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปหักภาษีได้เช่นเดียวกัน
"นโยบายนี้ถือเป็นนโยบายที่ดี สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกและส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น นอกจากโรงงานคนไทยแล้วบริษัทยาต่างชาติก็ได้ประโยชน์เช่นกัน"
ด้านนายชาญชัย อุดมลาภธรรม ประธานบริหาร บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยาและเครื่องมือแพทย์กล่าวว่า บริษัทสนใจที่จะยื่นขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการลงทุน ซึ่งอาจจะเพิ่มไลน์การผลิตในกลุ่มยาฉีดหรือยาน้ำ จากเดิมที่มีการผลิตในกลุ่มยาเม็ด คาดว่าจะใช้งบฯลงทุนใกล้เคียงเดิมประมาณ 300 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี รวมทั้งมีแผนจะยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานยุโรป หรือ PIC/S ด้วย ซึ่งจะเอื้อกับการส่งออกยาไปทำตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียได้ง่ายขึ้น ซึ่งในแง่ของพื้นที่นั้นบริษัทมีที่ดินอยู่แล้ว ปัจจุบันมี 27 ไร่ แต่ใช้ไปเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่
"เราวางแผนจะยื่นคำขอให้ทันภายในปี 2560 เราเห็นโอกาสจากตรงนี้และข้อกำหนดที่ต้องได้มาตรฐาน PIC/S ทำให้คู่แข่งลดลงและส่งออกในเอเชียง่ายขึ้น"
ขณะที่ นายวิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ๊นซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวนอกจากกระตุ้นการลงทุนบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจูงใจบริษัทยาต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อส่งออกด้วย เพราะต้นทุนการผลิตจะลดลง อย่างไรก็ตาม นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วยังพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อาทิ ความสะดวกในการผลิตและส่งออก ความรวดเร็วในการขึ้นทะเบียนยา บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
"ปัจจุบันเรามีโรงงาน 2 แห่ง ที่อุตสาหกรรมบางปู ล่าสุดซื้อที่ดิน 17 ไร่ ติดโรงงานเดิม เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต ที่ผ่านมาบริษัทเองเพิ่งลงทุนเมื่อ 3 ปีก่อน ถ้าจะลงทุนอีกก็ต้องมองตลาดส่งออก"
ด้านนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานผู้บริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด บริษัทวิจัยพัฒนา ผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีน แสดงความเห็นว่า เนื่องจากบริษัทเชียวชาญทางด้านวัคซีนและได้รับการสนับสนุนจากบีโอไออยู่แล้ว ยังไม่มีแผนแตกไลน์ผลิตไปยังกลุ่มยา แต่สิ่งที่พยายามเสนอไปยังบีโอไอคือ การส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ อาทิ การวิจัยและพัฒนา เนื่องจากธุรกิจวัคซีนต้องใช้เวลาวิจัยพัฒนานานเป็น 10 ปี แต่ไม่ได้รับสนับสนุนจากบีโอไอ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ