เจาะเวลาหาอดีต แบบแผน‘การเกิด-ดับ’ ของรัฐบาลไทยช่วงปี 2518 ถึง 2539

ทีมข่าว TCIJ : 29 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3606 ครั้ง

จากรายงานวิจัยเรื่อง 'รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2518-2539' โดย ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ด้วยเงินทุนสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่เมื่อปี 2541 ที่ได้ศึกษาถึงลักษณะความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 20 ปีเศษดังกล่าว และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล รวมถึงทัศนคติของกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีต่อรูปแบบรัฐบาล  ศึกษาเปรียบเทียบที่มาและการล่มสลายของรัฐบาลแต่ละรูปแบบภายใต้ระบอบการเมืองที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งที่มาและองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาล

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเริ่มจากรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จนถึง รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา มีการสำรวจทัศนคติของกลุ่มบุคคลชั้นนำทางการเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ ข้าราชการประจำระดับสูง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ประมาณ 100 คน โดยผลวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญด้าน แบบแผนการจัดตั้งรัฐบาลและการจัดความสัมพันธ์ทางการเมือง  ที่อาจเป็นข้อสังเกตสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

อ่านตอนแรก : เจาะเวลาหาอดีต : รูปแบบรัฐบาลไทย   จาก 2518 ถึง 2539 มีอะไรในกอไผ่?

ปัจจัยและความแตกต่าง ระหว่างปี 2518-2539

ในช่วงระยะเวลา 20 ปี ดังกล่าว (2518-2539) มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทยทั้ง 3 รูปแบบคือ มีรัฐบาลรูปแบบเผด็จการ  รัฐบาลรูปแบบประชาธิปไตย และรัฐบาลรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความแตกต่างของรูปแบบการปกครอง สรุปได้ดังนี้

รัฐธรรมนูญ ในการกำหนดรูปแบบของรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2018-2539 ปัจจัยสำคัญที่สุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศจะกำหนดหลักเกณฑ์กติกาออกมาว่าในเวลานั้น ๆ ประเทศจะปกครองด้วยรูปแบบใด  จะปกครองด้วยรูปแบบเผด็จการ  รูปแบบประชาธิปไตย  หรือว่ารูปแบบกึ่งประชาธิปไตย  ในช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏว่าประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534  ในบรรดารัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองประเทศเหล่านี้จำนวน 3 ฉบับ  ที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรัฐบาลในรูปแบบเผด็จการ คือ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520 และธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2534 ส่วนรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐเป็นแบบกึ่งประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 (ฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม)  และรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรัฐบาลในรูปแบบประชาธิปไตย คือ  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517  ทั้งนี้การกำหนดว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นแบบใด  สามารถพิจารณาได้จากรูปแบบของสภาที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

การแทรกแซงของทหาร ด้วยการใช้กำลังในการรัฐประหาร หรือการใช้วิธีบังคับ กดดันใช้อำนาจแฝงทางการเมือง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2518-2539 ได้มีการใช้กำลังยึดอำนาจรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จถึง 6 ครั้ง สถิติของการใช้กำลังทหารในการรัฐประหารของไทยนั้นถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก การยึดอำนาจในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่การทำรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และมีเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ต.ค. 2519 การใช้กำลังยึดอำนาจของพลเอกฉลาด หิรัญศิริ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 การก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520  การก่อรัฐประหารของกลุ่มทหาร ‘ยังเติร์ก’ ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2524 การใช้กำลังยึดอำนาจของพันเอกมนูญ รูปขจร เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2528  และการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งการยึดอำนาจเมื่อกระทำสำเร็จก็จะมีการใช้ธรรมนูญการปกครองประเทศและมีรัฐบาลในรูปแบบเผด็จการเข้าปกครองประเทศแทน  ดังเช่นรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น  ซึ่งนอกจากการทำรัฐประหารแล้ว บางครั้งกลุ่มนายทหารยังใช้วิธีอาศัยอำนาจแฝงเข้ามามีอิทธิพลบีบคั้นกดดันทางการเมือง ดังตัวอย่างที่เห็นได้ในกรณีของนายทหารกลุ่ม ‘ยังเติร์ก’ บีบบังคับให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  หรือกรณีที่กองทัพใช้อำนาจอิทธิพลให้พรรคการเมืองสนับสนุนรัฐบาลของผู้นำทหารสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น

ด้านพรรคการเมือง พรรคการเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงรูปแบบของรัฐบาลว่าเป็นแบบใด หากเป็นการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะมีบทบาทสูงในการที่กำหนดผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลในรูปแบบประชาธิปไตยจะเป็นรูปแบบรัฐบาลผสม  โดยรัฐบาลจะมาจากพรรคการเมือง 4-5 พรรค แต่ละพรรคจะกำหนดตัวรัฐมนตรีแต่ละคน ทั้งนี้เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลจะจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้เป็นระบบโควตา ตามสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภา  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองก็จะแข่งขันให้ผู้สมัครได้รับเลือกตั้งมากที่สุด หากการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะมีบทบาทสูง แต่หากเป็นรัฐบาลแบบกึ่งประชาธิปไตย พรรคการเมืองก็จะมีบทบาทน้อยลงไป แต่นายกรัฐมนตรีกลับจะมีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองสูงขึ้น เช่นสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น  แต่ถ้าอยู่ในการปกครองระบอบเผด็จการพรรคการเมืองก็จะไม่มีบทบาทเลย

 
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: