แกะรอย 'ตู้บริจาคเงินวัด' จากศรัทธาสู่ผลประโยชน์ที่ไม่ต้องตรวจสอบ?

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ : TCIJ School รุ่นที่ 3 : 29 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 15451 ครั้ง

วัดแห่งนี้ไม่เคยร้างคนทำบุญ เมื่อเข้ามาในเขตวัด พวกเขาถอดรองเท้าเข้าวิหาร หยอดเงินใส่ตู้บริจาคแลกกับธูป เทียน และทองคำเปลวสำหรับปิดไหว้พระพุทธรูปและรูปจำลองอดีตเจ้าอาวาส เข้าโบสถ์กราบพระประธานองค์โต บางคนยืมหนังสือสวดมนต์ไปท่องบ่น บ้างตรงไปยังศาลาถวายสังฆทานแด่พระภิกษุ เติมน้ำมันมะพร้าวสร้างแสงสว่างให้ชีวิตแด่พระพุทธรูปปางประจำวันเกิด ฯลฯ

ทุกกิจกรรมย่อมมีตู้บริจาคตั้งอยู่ใกล้เคียง รองรับศรัทธาที่เป็นตัวเงินจากสาธุชนที่มาเยี่ยมเยือน

เช่นเดียวกับวัดอีกหลายแห่ง วัดนี้มีตู้บริจาคเงินมากมายหลายขนาด มีรูปแบบและวัสดุหลากหลาย จะมีใครบ้างรู้ว่า หลังเวลาวัดปิดทำการ เงินในตู้บริจาคจะถูกจัดการอย่างไร เงินที่พวกเขายกมือขึ้นพนมจบคำอธิษฐาน จะเดินทางไปที่ใดบ้าง

หยอดเงินใส่ตู้บริจาค : สังฆทานและช่องทางผลประโยชน์

พระวิชิต ธัมมชิโต ผู้เขียนหนังสือรณรงค์การทำบุญถูกวิธีเรื่อง “สังฆทานเจือจานสังคม” “ใส่บาตรให้ได้บุญ” และ “ส่องพระ ส่องตน ก้าวพ้นวิกฤตร่วมกัน” ให้สัมภาษณ์ชี้แจงผู้เขียน เรื่องการทำบุญผ่านการหย่อนเงินใส่ตู้บริจาคว่า การใส่เงินในตู้บริจาคของวัด ถือว่าเป็นการทำบุญในหมวดทาน โดยถือเป็นสังฆทาน หรือทานที่ให้แก่หมู่สงฆ์โดยไม่มุ่งหมายให้เป็นการเฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งให้อานิสงส์มากกว่าการให้อย่างเจาะจงพระรูปนั้นรูปนี้ การทำบุญรูปแบบดังกล่าวจึงถือเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

แต่ผลจากการบำรุงจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นกับว่า ผู้บริหารเงินในตู้บริจาค นำเงินไปทำอะไร

ตู้บริจาคนับเป็นช่องทางรายได้ทางหนึ่งของวัดสำหรับการบำรุงอาคารสถานที่ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมแซม ดูแลอาคารสถานที่ในวัด บ้างเป็นไปเพื่อสวัสดิการการศึกษาของภิกษุ สามเณร และแม่ชี บ้างเป็นอาหารและค่ารักษาพยาบาลสุนัขจรจัด นอกจากนี้วัดยังอาจจัดสรรเงินดังกล่าวตามรายจ่ายที่จำเป็น ตามแต่เจ้าอาวาสเห็นสมควร

เป็นที่รู้กันว่า เงินที่ชาวพุทธหย่อนใส่ตู้บริจาคนับเป็นเงินให้เปล่า วัดไม่จำเป็นต้องออกใบอนุโมทนาบัตรให้ผู้บริจาค การบริหารเงินจากตู้จึงสามารถทำได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ การบริจาคผ่านช่องทางนี้ยังสะดวกรวดเร็ว ทั้งยังไม่ต้องมีพิธีกรรมมากนัก เงินจากตู้บริจาคสร้างรายได้แก่วัดอย่างต่อเนื่องและเป็นกอบเป็นกำ พระวิชิตกล่าวว่า  วัดที่ท่านจำพรรษาอยู่ เพียงเงินจากตู้บริจาคก็สามารถจ่ายครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน อาทิ ค่าน้ำค่าไฟได้ทั้งหมด และมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของรายรับทั้งหมดของวัด

ตู้บริจาค ความหลากหลายของการออกแบบ

ผู้เขียนได้สำรวจตู้รับเงินบริจาคในวัดชื่อดังหลายแห่ง เช่น วัดระฆังโฆษิตาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  วัดยานนาวา วัดช่องลม พบว่าปัจจุบัน ตู้บริจาคมีการออกแบบที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งวัสดุ รูปทรง และข้อความเชิญชวนบริจาค ดังนี้

รูปแบบตู้บริจาค

ตัวอย่างตู้บริจาค

ข้อความที่เขียนชี้แจงรายละเอียดตู้บริจาค

จัดการตู้บริจาคอย่างไร จึงไม่ผิดพระวินัย

ตู้บริจาคหลากประเภทดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า วัดออกแบบวิธีเรี่ยไรเงินจากชาวพุทธที่เข้ามาในวัดผ่านการตั้งตู้บริจาค รายการที่เขียนหน้าตู้บริจาคสะท้อนรายการกิจกรรมที่เป็นรายจ่ายของวัด แม้ไม่มีการระบุไว้ในพระวินัย ว่าพระสงฆ์ควร-ไม่ควรเขียนข้อความอย่างไรในตู้เงินบริจาค (ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการประดิษฐ์ตู้บริจาค) พระวิชิตได้ให้แนวทางวินิจฉัยเกี่ยวกับการเขียนข้อความตู้บริจาคไว้ดังนี้

“การเขียนข้อความที่ระบุวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะเจาะจง อาจจัดได้ว่ามีลักษณะเป็นการเรี่ยไรของพระ ซึ่งมีความหมิ่นเหม่ในทางพระวินัยว่า พระไม่ควรขอปัจจัยจากคนที่ไม่ใช่ญาติ จึงไม่ควรระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าขอเงินไปเพื่อการใดการหนึ่งเป็นการเฉพาะ”

"อย่างไรก็ตาม การเขียนข้อความบนตู้บริจาคเป็นเรื่องที่พูดยาก ต้องดูรายละเอียดการบริหารจัดการ การเขียนระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าวัดจะนำเงินไปทำอะไร และวัดสามารถจัดสรรให้เป็นไปตามนั้น ด้านหนึ่งก็ยุติธรรมกับโยมที่มอบเงินบริจาคให้”

“ในทางตรงข้าม หากโยมหย่อนเงินใส่ตู้บริจาคที่ไม่ได้เขียนข้อความกำกับไว้เป็นการเฉพาะ เช่น “บริจาค” หรือ “ชำระหนี้สงฆ์” อาจกล่าวได้ว่า ผู้บริจาคได้มอบอำนาจให้เจ้าอาวาสบริหารจัดการเงินดังกล่าวเพื่อการบำรุงวัด บำรุงพระศาสนาโดยปริยาย”

อย่างไรก็ตาม ข้อที่น่าสังเกตคือ วัดบางแห่ง โดยเฉพาะวัดเล็กๆ แม้เขียนวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจนที่หน้าตู้บริจาค แต่เมื่อเปิดตู้นำเงินออกมา ก็จะรวมเงินไว้เป็นกองเดียวและไม่แยกบัญชีที่มาของรายรับ เหตุที่จัดการรวมเงินไว้เป็นกองเดียว ก็เนื่องจากความสะดวกในการจัดการเงินบริจาค ทั้งนี้ วัดอาจมีเงินบางส่วน หรือที่ต้องจัดการแยกบัญชี หรือแยกกองบริหาร เช่น  ตู้บริจาคจากองค์กรภายนอก หรือกองทุนที่ตั้งใจจะแยกบัญชีบริหาร เช่น กองทุนเพื่อการศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งเจ้าอาวาสตกลงแยกบัญชีไว้เฉพาะ

พระวิชิตตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารในลักษณะแยกกองเงินดังกล่าว น่าจะมีสัดส่วนน้อยสำหรับวัดขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่วัดขนาดใหญ่อาจมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบกว่า

นอกจากนี้ พระวิชิตยังกล่าวว่า หากพระสงฆ์ที่จัดการเงินมีเจตนาบริสุทธิ์ แม้ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเงินจำนวนมาก แต่หากมีศีล ก็คงสามารถจัดการได้เหมือน “สิ่งของธรรมดาทั่วไปที่ต้องจัดการให้เข้าระบบ” แต่หากพระมีความโลภ และไม่มีระบบตรวจสอบที่รัดกุมและโปร่งใส ก็ง่ายที่จะเกิดการยักยอก ซึ่งเป็นอาบัติแรง หากเกินจำนวนประมาณสองหมื่นบาทก็ต้องอาบัติปาราชิก (หมดจากสภาพความเป็นพระ)

เปิดตู้บริจาค : อิสระจากการตรวจสอบ

จากงานวิจัยเรื่อง ‘การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย’ ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า โดยทั่วไป วัดในประเทศไทยบริหารเงินในตู้บริจาคอย่างขาดความโปร่งใสและมีส่วนร่วม ข้อมูลในรายงานชิ้นดังกล่าวพบว่า จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างวัดไทย 407 แห่ง มีวัดเพียง 4 แห่งเท่านั้น ที่เปิดตู้บริจาคทุกวัน และมีกรรมการตรวจนับเงินแล้วส่งเจ้าอาวาส

ผู้เขียนได้เดินทางไปยังวัดที่ระบุไว้ข้างต้น พบว่า ความถี่และวิธีการเปิดตู้บริจาคของแต่ละวัดมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับการตัดสินใจของเจ้าอาวาส เช่น เจ้าอาวาสอาจมอบหมายให้พระที่ไว้วางใจได้เป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดนับเงินและลงบัญชีรายรับ อาจรวบรวมเป็นรายวัน หรือรายเดือน หรือตามความจำเป็นของพระที่ได้รับมอบหมาย

มีเพียง 4 คน หรือร้อยละ 0.9 ของกลุ่มตัวอย่างคณะกรรมการบริหารวัดจำนวนเท่านั้นที่ระบุว่าเปิดตู้บริจาคเงินวัดทุกวัน มีกรรมการตรวจนับแล้วส่งเจ้าอาวาส (ณดา จันทร์สม, 2555, หน้า 77)

พระรูปที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงิน อาจนับเงินจากตู้บริจาคด้วยตัวเองเอง หรือมีพยานที่เป็นฆราวาสช่วยนับ หรือให้ไวยาวัจกรช่วยนับ หรือมีคณะกรรมการนับเงินจากตู้บริจาคช่วยนับก็ได้

สาเหตุที่วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินในตู้มีความแตกต่าง เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานใดกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเงินในตู้บริจาคอย่างชัดเจน ดังนั้นเงินจากตู้บริจาคจึงนับรวมหรือไม่ถูกนับรวมในบัญชีรายรับของวัดก็ได้ นอกจากนี้ยังไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับให้วัดต้องเปิดเผยรายรับจากตู้บริจาคให้รับรู้เป็นที่สาธารณะอีกด้วย การบริหารเงินจากตู้บริจาคเป็นอิสระในการตัดสินใจของเจ้าอาวาสเป็นสำคัญ โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบทั้งในทางกฎหมาย ทั้งที่วัดมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนกับรัฐ และเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร

คำถามคือ ในขณะที่องค์กรสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ต้องได้รับตรวจสอบ ต้องแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต้องเสียภาษีประจำปี แต่ทำไม วัดจึงได้รับการยกเว้นกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว ทั้งที่เป็นองค์กรประเภทเดียวกัน

ขาดความโปร่งใส  ช่องโหว่ของการจัดการตู้รับเงินบริจาค

ผศ.ดร. ณดา ยังให้แง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการเงินในตู้บริจาคและการบริหารเงินโดยรวมของวัด โดยมีข้อสังเกตว่า การบริหารเงินของวัดไม่ครบองค์ประกอบหลักธรรมาภิบาล โดยตอนหนึ่งของรายงาน คณะวิจัยได้นำองค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล 8 ประการ ได้แก่ หลักความรับผิดชอบ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส หลักนิติธรรม หลักการสนองรับ หลักความเสมอภาค หลักคุณธรรม และหลักความคุ้มค่า มาเปรียบเทียบความสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินของวัดเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎกระทรวง ระเบียบกรมการศาสนา ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมถึงกฎ และมติจากมหาเถรสมาคมฉบับต่างๆ

ความสอดคล้องของการกากับดูแลการบริหารจัดการทางการเงินของวัด ในประเทศไทยตามหลักธรรมาภิบาล (ณดา จันทร์สม, 2555)

ผลจากการเปรียบเทียบตามรายงาน พบว่า หลักความโปร่งใส เป็นหลักธรรมาภิบาลที่ถูกละเลยในระบบการบริหารเงินของวัดโดยภาพรวม เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีกฎระเบียบใดๆ บังคับให้วัดต้องจัดการเงินโดยอิงกับหลักความโปร่งใส รูปธรรมที่ปรากฏคือ  วัดหลายแห่งไม่มีรายงานทางการเงิน หรือแม้จะมีรายงานการเงินก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยให้สาธารณชนหรือหน่วยงานใดตรวจสอบ นอกจากนี้ยังไม่พบว่า วัดจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบบัญชีหรือยอดเงินบริจาคจากหน่วยงานใด นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของวัดยังอยู่ในวงจำกัด

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นเชิงวัฒนธรรมประการหนึ่งที่ทำให้ผู้บริจาคไม่เรียกร้องความโปร่งใสจากวัด กล่าวคือ ชาวพุทธจำนวนมากเชื่อว่า การให้ที่บริสุทธิ์จะต้องไม่อาลัยหรือติดตามผลของการให้ การติดตามหรือตรวจสอบเงินจากการทำทานอาจทำให้อานิสงส์นั้นเสื่อมลงไป

พระวิชิตกล่าวว่า โยมบางคนถึงขั้นตำหนิผู้บริจาคที่ต้องการใบอนุโทนาบัตร (สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้) ว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นการให้ที่เจือปนด้วยจิตคิดจะเอา นอกจากนี้ ชาวพุทธจำนวนมากไม่ประสงค์ที่จะรับรู้เรื่องการบริหารเงินของวัด เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์และความขัดแย้ง

ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.ณดา จึงให้ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความโปร่งใสแก่ระบบการเงินของวัด โดยขอให้มหาเถรสมาคม หรือสำนักงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เครือข่ายและองค์กรฝ่ายฆราวาส  ร่วมกันสร้างหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินของวัดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่น 1. กำหนดให้วัดต้องแสดงรายงานทางการเงินให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตรวจสอบทางบัญชีทุกปี  2. มหาเถรสมาคมหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรเสนอรายงานข้อมูลทางการเงินของวัดโดยภาพรวมอย่างเป็นระบบ  3. มหาเถรสมาคมควรออกกฎเกี่ยวกับการได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารเงินวัด คณะกรรมการดังกล่าวควรมีสมาชิกที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับวัด ควรกำหนดแนวทางการได้มาซึ่งผู้บริหารจัดการการเงินวัดอย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการส่งเสริมความรู้และทักษะแก่ไวยาวัจกรณ์ (ผู้จัดการเงินของวัด) อย่างสม่ำเสมอ และ 4. ประชาชนในชุมชนควรเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมกับวัด เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารการเงินวัดให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

ตู้เงินบริจาค นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการสละทรัพย์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เงินในระบบตู้บริจาคดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อย สามารถสร้างประโยชน์แก่พระศาสนาและชุมชนได้มาก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบว่า สังคมไทยยังไม่มีกลไกตรวจสอบเงินดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ธรรมาภิบาลโดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใสทางการเงินในพระพุทธศาสนาจึงยังมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ มีความเป็นไปได้ที่เงินบริจาคจำนวนมากจะรั่วไหลไปยังกลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับศรัทธาของชาวพุทธ เป็นไปได้ที่เงินบริจาคดังกล่าวจะถูกใช้โดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค โครงสร้างการจัดการเงินที่ไม่รัดกุมยังเอื้อให้พระสงฆ์ต้องผิดพระวินัยร้ายแรงโดยไม่จำเป็น

และทำให้ประชาชนพากันเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างน่าเสียดาย

อ่านเพิ่มเติมรายงานเจาะลึกของ TCIJ 'เจาะเงินฝากวัด3แสนล้าน-เจ้าอาวาสคุม ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล'


อ้างอิง

ณดา จันทร์สม. “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย: ความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล.” NIDA Development Journal: วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ 54, no. 1 (April 21, 2014): 107–42. doi:10.14456/ndj.2014.11.

ณดา จันทร์สม. รายงานฉบับสมบูรณ์ การบริหารเงินของวัดในประเทศไทย. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2555.

เจาะเงินฝากวัด3แสนล้าน-เจ้าอาวาสคุม ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล. (ม.ป.ป.). สืบค้น 24 มิถุนายน 2016, จาก http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4732


อ่าน 'จับตา': “จำนวนวัดในประเทศไทย"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6381

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: