กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชสำรวจพบ 20 พื้นที่วิกฤติภัยแล้งในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและเขตพื้นที่อนุรักษ์ เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจนกระทบสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า (ที่มาภาพ: park.dnp.go.th)
30 มี.ค. 2559 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่านายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าปัญหาภัยแล้งในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและเขตพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผล กระทบไม่แตกต่างจากชุมชน โดยได้รับรายงานจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบว่าหลายพื้นที่สัตว์ป่าได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะช้างป่า เพราะเป็นสัตว์ใหญ่ต้องใช้น้ำจำนวนมากในการดำรงชีวิตทำให้ในช่วงหน้าแล้งช้างป่าจะออกมาหาแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนที่อยู่รอบเขตป่ามากกว่าปกติ อาจผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตาม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดทำแผนบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น 5 ปี , ระยะกลาง 10 ปี และระยะยาว 20 ปี สำหรับ 20 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี / เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย จ.สระบุรี / สถานีเพาะเลี้ยงป่ากระบกคู่ จ.ชลบุรี / เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอุทยานสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ราชบุรี / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ-นาสัก จ.สุราษฎร์ธานี / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต จ.นครศรีธรรมราช / เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง จ.สงขลา / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง / เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง จ.นครราชสีมา / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ – ภูกระแต จ.ขอนแก่น / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จ.อุบลราชธานี / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.อุดรธานี / เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาใหญ่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาผาหน้าตั้ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาตาพรม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง จ.พิษณุโลก / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.นครสวรรค์ / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม จ.ตาก / เขตรักษาพันุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จ.เชียงราย / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ขณะที่ นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้มี 20 พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เข้าขั้นวิกฤตจากปัญหาภัยแล้งแล้ว ทั้งแหล่งน้ำในเขตอนุรักษ์ แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด และสัตว์ป่าเริ่มออกมาหากินนอกเขตหลายพื้นที่ เช่น ช้างป่า กินอาหารวันละ 200 กิโลกรัม ใช้น้ำมากกว่า 100 ลิตรต่อตัว แต่ช้างป่าไม่ได้ต้องการน้ำแค่บริโภคอย่างเดียว ยังต้องการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไว้เล่นน้ำด้วย รวมทั้งพบแหล่งการเกษตรรอบพื้นที่อนุรักษ์ที่่เป็นความเสี่ยงช้างป่าออกมาหากินภายนอกด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ