สำรวจสถานภาพแรงงานไทย แบกหนี้เกือบหมื่นบาทต่อเดือน แนะเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 350 บาท

30 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2009 ครั้ง


	สำรวจสถานภาพแรงงานไทย แบกหนี้เกือบหมื่นบาทต่อเดือน แนะเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 350 บาท

หอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยและสถานภาพของภาคธุรกิจไทย แบกหนี้นอกระบบว่าร้อยละ 60 สูงสุดในรอบ 8 ปี แนะขอขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 350 บาท (ขอบคุณภาพจาก: intrafish)

30 เม.ย. 59 กรมประชาสัมพันธ์รายงานเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจ ‘สถานภาพแรงงานไทยในทัศนะของแรงงานไทย’ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,212 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 15,000 บาท และมีรายจ่ายในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งร้อยละ 95.9 มีภาระหนี้สิน และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ร้อยละ 60.62 ที่เป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงต้องมีการผ่อนชำระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 9,657 บาท เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 42.5 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

สำหรับความเห็นจากผลสำรวจระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่จึงต้องการให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เป็นวันละ 357 บาท จากเดิมที่อัตรา 300 บาท และควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพและกลไกตลาดที่แท้จริง เนื่องจากการใช้จ่ายมากขึ้นในทุกกิจกรรมโดยเฉพาะช่วงวันหยุดแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานยังมีความกังวลเป็นอย่างมากที่จะตกงาน เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว 

อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ หรือปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง 

“สถานภาพแรงงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แรงงานจึงขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 356.76 บาท จากปัจจุบัน 300 บาท ให้ทันตามภาวะค่าครองชีพที่มีการขึ้นตามกลไกตลาด และค่าจ้างที่ไม่ปรับขึ้นมาหลายปี อย่างไรก็ตาม แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน เพราะเห็นนายจ้างมีผลประกอบการไม่ดีนักตามเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้รายได้ไม่พอใช้จ่าย จะเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เศรษฐกิจซึมตัวทุกพื้นที่ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น “  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจกล่าว

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจสถานภาพของภาคธุรกิจต่อแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง พบว่าธุรกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร และอาจต่ำสุดในไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว เพราะจะมีผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มองว่าควรจะปรับไม่เกิน 310 บาทต่อวัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: