สตง.ระบุเลนจักรยาน กทม. ลงทุนสูงไม่คุ้มค่า พบบางเส้นทางใช้แค่ 10 คนต่อวัน

30 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4855 ครั้ง


	สตง.ระบุเลนจักรยาน กทม. ลงทุนสูงไม่คุ้มค่า พบบางเส้นทางใช้แค่ 10 คนต่อวัน

เผยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินส่งหนังสือถึง กทม. ระบุเส้นทางจักรยานของ กทม. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เบื้องต้นตรวจสอบใน 2 เส้นทาง รอบเกาะรัตนโกสินทร์ 12 ถนน และวงเวียนใหญ่  4 ถนน พบยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุง ส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยานเพียง 5-10 รายต่อวันเท่านั้น (ที่มาภาพ: YouTube Thai Fact)

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าจากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือถึง ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และการระบายน้ำ สภา กทม. ให้ทำการตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้าง พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางจักรยานของ กทม. เนื่องจากสตง.ตรวจสอบพบว่า เส้นทางจักรยานของ กทม.ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง  บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงไม่เป็นการประหยัดงบประมาณ ดังนั้นสตง.จึงได้ส่งหนังสือให้สภากทม. ทำการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินโครงการของกทม. ทั้งนี้ในปัจจุบัน กทม.มีเส้นทางจักรยานในถนนสายหลักทั้งสิ้น 54 เส้นทาง รวมระยะทาง 364.54 กิโลเมตร ซึ่งในปีงบประมาณ 57-58 ได้ทำการปรับปรุง จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 40.69 กิโลเมตร ใช้งบประมาณกว่า 54.99 ล้านบาท เบื้องต้น สตง.ได้ทำการตรวจสอบใน 2 เส้นทาง คือเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวม 12 ถนน และเส้นทางจักรยานรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ รวม 4 ถนน ซึ่งผลการตรวจสอบพบยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุง โดยส่วนใหญ่พบผู้เข้ามาปั่นจักรยานเพียง 5-10 รายต่อวันเท่านั้น อีกทั้ง สตง.ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการปรับปรุงเส้นทาง ที่มีการติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงบริเวณเส้นทาง ทั้งที่มีการติดตั้งหลักพลาสติกล้มลุกสะท้อนแสงในเส้นทางอยู่แล้ว จึงเป็นการดำเนินการที่เกินความจำเป็น ไม่ประหยัดงบประมาณกว่า 3.41ล้านบาท

พล.ต.ท.ธีระชัย ง่วงบรรจง รองประธานคณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และระบายน้ำ สภากทม. กล่าวว่า สภากทม.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาตรวจสอบถึงความคุ้มค่าเหมาะสม โดยหากมีการตรวจสอบ พบว่าเส้นทางจักรยานใด ไม่เกิดความคุ้มค่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านการจราจร และการใช้ชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ และประชาชนใช้งานเส้นทางจักรยานจำนวนน้อย สภา กทม.จะเสนอแนะฝ่ายบริหารกทม. ให้ทำการยกเลิกเส้นทางจักรยานนั้นๆ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณที่จะต้องใช้ในการซ่อมบำรุง และลดผลกระทบของประชาชน ทั้งนี้ จัดทำเส้นทางจักรยาน ควรมีการสำรวจจำนวนความต้องการการใช้งานในพื้นที่นั้นๆ เพราะคนในพื้นที่จะเป็นผู้ใช้งานมากที่สุด และสำรวจกายภาพถนนที่ผ่านมาบางเส้นทางก็มีความไม่เหมาะสม อาทิเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่กายภาพถนนมีความแคบ เมื่อแบ่งผิวจราจรเป็นทางจักรยาน ก็ทำให้ผิวจราจรเกิดความแคบลง จนสร้างผลกระทบต่อการจราจรมากยิ่งขึ้นอีกด้วย และในการพิจารณางบประมาณปี 60 เพื่อสร้างทางจักรยานก็อาจต้องชะลอไว้ก่อน.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: