บ.จีนแห่ลงทุน‘แผงโซลาร์เซลล์’ในไทย หวังเป็นฐานผลิตหลังยุโรปโต้ทุ่มตลาด

ทีมข่าว TCIJ : 30 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 25858 ครั้ง

‘พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์’ (Solar power) ที่ใช้แผง ‘โซลาร์เซลล์’ (Solar cell) ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบติดตั้งบนพื้นดินที่ใช้พื้นที่จำนวนมาก บางประเทศเริ่มมีการพัฒนาบนพื้นน้ำและในทะเลแล้ว ที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์ม’ (Solar farm) หรือการติดตั้งบนหลังคาอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘โซลาร์รูฟท็อป’ (Solar rooftop) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็น ‘พลังงานแห่งอนาคต’   หลายประเทศได้ส่งเสริมให้มีการใช้ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ด้วยเช่นกัน แต่กลับพบว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตและการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ของไทยยังต้องพึ่งพิงประเทศอื่นอยู่มาก โดยเฉพาะประเทศจีนอันเป็นมหาอำนาจของโลกในอุตสาหกรรมนี้

ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย

สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง มีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์ทั่วประเทศทุกพื้นที่ เป็นค่ารายวันเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 18.0 เมกะจูลต่อตารางเมตร/วัน ( MJ / m2 – day ) จัดอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (ที่มา: คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา, 2555)

แม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากในปี 2554 ที่มีการใช้เพียง 100.34 เมกะวัตต์ มาในปี 2558 ข้อมูลจากกรมพลังงานทดแทนระบุว่าไทยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 1,419.58 เมกะวัตต์ (อ่านเพิ่มเติม: สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าปี 2555-2558) แต่ทั้งนี้ยังถือว่าการผลิตและจ่ายเข้าระบบยังมีปริมาณน้อยอยู่ เพราะจากที่ผ่านมาต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีราคาสูง โดยเฉพาะการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ผู้ลงทุนจะต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น การมีที่ดินมากพอในการสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์นั้น ต้องใช้พื้นที่ในการตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถึง 15 ไร่ รวมทั้งยังต้องศึกษาสภาพพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ส่วนการติดตั้งบนหลังคาแบบโซลาร์รูฟท็อปนั้นก็ยังใช้ต้นทุนที่สูง ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วไปไม่มีกำลังทรัพย์ในการติดตั้ง นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์มีอายุประมาณ 25 ปี ทำให้ค่าดูแลและบำรุงรักษาในแต่ละปีค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีมูลค่าที่สูง (ก่อนปี 2556 มีต้นทุนประมาณ 20 บาทต่อหน่วย) แม้ว่าไทยจะมีนโยบายการส่งเสริมในช่วงหลังโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป แต่ก็พบว่ายังคงมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา (อ่านเพิ่มเติม: หักเหลี่ยมธุรกิจโซลาร์เซลล์ ยุค คสช. เมื่อ'โซลาร์รูฟท็อป'แค่ใช้เอง-ห้ามขาย และ ‘โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ’ ส่อแววสะดุด กองทัพ-อปท.ติดข้อกม.-อ้างรบ.ที่แล้ว)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของไทยยังสูงอยู่ แม้ศักยภาพของแสงอาทิตย์ในไทยจะมีเหลือล้นก็ตาม  คืออุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในไทยยังมีไม่แพร่หลาย และผู้ประกอบการไทยยังมีศักยภาพทั้งด้านทุนและเทคโนโลยีสู้ต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทจากจีนไม่ได้

 

‘จีน’ มหาอำนาจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของโลก

ในปี 2558 พบว่าบริษัทจากจีนติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยปริมาณการติดตั้งเป็นจำนวนวัตต์ (watt) มากที่สุดในโลกถึง 6 อันดับ การประมาณการปริมาณกำลังผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ส่งมอบให้ลูกค้า 10  อันดับในปี 2558 ของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมีดังนี้ อันดับ 1 Trina Solar ปริมาณกำลังผลิตที่ส่งมอบให้ลูกค้ารวม 5.74 กิกะวัตต์ อันดับ 2 Canadian Solar กำลังผลิตรวม 4.7 กิกะวัตต์ อันดับ 3 Jinko Solar กำลังผลิตรวม 4.51 กิกะวัตต์ อันดับ 4 JA Solar กำลังผลิตรวม 3.93 กิกะวัตต์ อันดับ 5 Hanwha Q CELLS กำลังผลิตรวม 3.3 กิกะวัตต์ อันดับ 6 First Solar กำลังผลิตรวม 2.8 กิกะวัตต์ อันดับ 7 Yingli Green กำลังผลิตรวม 2.35-2.40 กิกะวัตต์ อันดับ 8 SFCE กำลังผลิตรวม 2.28 กิกะวัตต์ อันดับ 9 กำลังผลิตรวม ReneSola 2.69 กิกะวัตต์ และอันดับ 10 SunPower Corp. กำลังผลิตรวม 1.18-1.25 กิกะวัตต์ ทั้งนี้เป็นบริษัทจากจีนได้แก่อันดับ 1, 3, 4, 7, 8 และ 9 บริษัทจากสหรัฐอเมริกาได้แก่อันดับ 6 และ 10 ส่วนอีก 2 อันดับ (2 และ 5) เป็นบริษัทจากแคนาดาและเกาหลีใต้ตามลำดับ (อ่านเพิ่ม: ‘จับตา : บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก’) ส่วนข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์สู่ตลาดโลกได้ประมาณ 16.7 กิกะวัตต์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ประกอบการจีนก็ยังได้ทำการขยายฐานการผลิตเพื่อส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย 

อุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์ของไทย

ต้นทุนการผลิตที่แพงกว่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของไทยสู้จีนไม่ได้  แนวโน้ม 'การลงทุนร่วม' ระหว่างไทยกับจีนจึงมีมากขึ้นในปัจจุบัน (ที่มาภาพ: pv-tech.org)

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (ปี 2556) ระบุว่าการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย เริ่มขึ้นในช่วงปี 2546 โดยเป็นการผลิตเซลล์และแผงชนิด Amorphous Silicon และการประกอบแผงเซลล์ชนิด Crystalline Silicon โดยการนำเข้าแผ่นเซลล์สำเร็จรูป และต่อมาพัฒนาการผลิตแผ่นเซลล์ด้วยการนำเข้าแผ่น Wafer จากต่างประเทศ โดยช่วงก่อนปี 2556 ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขึ้นรูปโซลาร์เซลล์และประกอบแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด, บริษัท เอกรัฐโซลาร์ จำกัด, บริษัทโซลาร์ตรอน (มหาชน) จำกัด, บริษัทโซลาร์เพาเวอร์เทคโนโลยี (SPOT) จำกัด และบริษัทชาร์ปเทพนคร จำกัด  ทั้ง 5 รายนี้มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้นเพียง 110 เมกะวัตต์ต่อปี โดยที่ผ่านมากับพบปัญหาไม่มียอดสั่งซื้อในประเทศมากพอ ได้ทำให้บางรายต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

เสียงจากผู้ประกอบการแผงโซลาร์เซลล์ไทยในอดีต “ทำไมถึงไปไม่รอด?”

ความไม่แน่นอนของนโยบาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศต้องล้มลุกคุกคลานมาตลอด อาทิเช่น ตัวอย่างของบริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อเดือน ส.ค. 2556 ที่ผ่านมาว่า การที่ไม่มียอดคำสั่งซื้อแผงเซลล์เข้ามาทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือน้อยมาก หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตเต็มกำลังที่ 25 เมกะวัตต์ต่อปี เพราะหลังจากที่กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเลย เพราะนำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ มีต้นทุนผลิตแผงเซลล์ต่ำกว่าร้อยละ 15-20 และยังเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนให้

“บริษัทต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานเมื่อปี 2550 เพราะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งในปี 2551-2552 บริษัทได้ส่งออกแผงเซลล์ไปเยอรมัน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คำสั่งซื้อหยุดลง ดังนั้นหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป บริษัทก็ต้องปิดโรงงาน ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เพราะไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนต่อได้ " ผู้บริหารท่านหนึ่งของบริษัทฯ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (ฐานเศรษฐกิจ, 21 ส.ค. 56)

ส่วนในปัจจุบัน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยที่ผ่านมา มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ยแล้วเติบโตประมาณร้อยละ 55 ต่อปี (ตั้งแต่ปี 2554-2558) โดยมีตลาดสำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี 2558 ไทยมีการส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 1,452.4 จากปี 2557 โดยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 73.2 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด  หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 160 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 โดยเฉพาะในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในไทยเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีมูลค่าการลงทุนราว 45,186 ล้านบาท เติบโตมากกว่าร้อยละ 850 จากปี 2557 ซึ่งหากบริษัทผู้ผลิตมีการลงทุนตามแผนที่วางไว้ อุตสาหกรรมผลิตเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยโดยรวมน่าจะมีกำลังการผลิตพุ่งสูงกว่า 1,000 เมกะวัตต์ต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และในกรณีที่มีการผลิตเต็มกำลังในอนาคต ก็น่าจะส่งผลให้การผลิตโดยภาพรวมสูงกว่า 2,000 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์โดยภาพรวมของไทย ให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าการส่งออกที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2558 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการในประเทศแสวงหาโอกาสไปสู่การส่งออกมากขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการในประเทศที่หดตัวลง อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามการลงทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบกับการผลักดันโครงการเปิดเสรีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัยหรืออาคารภาคธุรกิจ (โซลาร์รูฟท็อป) และโครงการโซลาร์ฟาร์มในส่วนราชการของรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้ามาลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของนักลงทุนต่างชาติในไทยเพื่อการส่งออก

เมื่อจีนรุกไทย ลงทุนตั้งโรงงานหลายพื้นที่

ถึงแม้ว่าการส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยโดยภาพรวมจะเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นนักลงทุนต่างชาติซึ่งใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตและส่งออก มากกว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทยรายเดิมในตลาด ทั้งนี้ในกรณีผู้ประกอบการไทยจะมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม (Value-added) จากกระบวนการผลิตเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ที่เกิดขึ้นในประเทศเกือบร้อยละ 40 แต่สำหรับโครงการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละโครงการ อาจมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งความต้องการในประเทศที่หดตัวในปัจจุบัน และภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ ที่อาจจะมีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในเรื่องราคาและเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการไทยในตลาดจึงควรต้องปรับตัวเน้นไปสู่การส่งออกมากขึ้น

ทั้งนี้ ทุนจากจีนก็ได้ส่งสัญญาณการขยายฐานการผลิตในไทยด้วยเช่นกัน จากข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 ที่ผ่านมาพบว่ามีโครงการเกี่ยวกับการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ขนาดโหญ่ (มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท) ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่าสูงถึง 45,186 ล้านบาท เติบโตมากกว่าร้อยละ 850 จากปี 2557 ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่เพียง 4,714 ล้านบาท และโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวจีน โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทย ประกอบกับความต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก

ข้อมูลจาก BOI ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนในช่วงเดือน ต.ค. ปี 2558 ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากจากจีนได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศจีนได้ถูกสหรัฐอเมริกาและยุโรปออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) ทำให้ผู้ผลิตหลายรายย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเองโดยตรงหรือผ่านทางสิงคโปร์เพื่อเลี่ยงการถูกมาตรการ AD ดังกล่าว ส่วนการประเมินของผู้บริหารบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการของไทยที่ผลิตแผงเซลล์ 5-6 ราย กำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ และผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยและอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานในช่วง 1-2 ปีนี้อีก 5 ราย คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 1,000-2,000 เมกะวัตต์

สำหรับการลงทุนโดยตรงและการลงทุนร่วมของทุนจากจีนในอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่น่าสนใจช่วงที่ผ่านมามีดังนี้

ภายในโรงงานของบริษัท โจงลี่ เทลซัน โซล่าร์ (ไทยแลนด์) โรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์เต็มรูปแบบแห่งแรกในไทยที่ลงทุนโดยบริษัทจีน (ที่มาภาพ: สภาธุรกิจไทย-จีน)

ก.ย. 2559 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ลงนามสนับสนุนทางการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจร่วมกับบริษัท โจงลี่ เทลซัน โซล่าร์ (ไทยแลนด์) บริษัทลูกของ Zhongli Talesun Solar ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่จากจีน ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2558 บริษัท โจงลี่ฯ เพิ่งเปิดตัวโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์แบบเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จ.ระยอง บนพื้นที่ 64 ไร่ โรงงานงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์และระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็มรูปแบบในไทยแห่งแรกที่ลงทุนโดยบริษัทจีน ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 5,600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2554  มีกำลังการผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ 1.8 กิกะวัตต์ นำเข้าวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตมาจากจีนและเยอรมนี โดยใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตทั้งหมด

บริษัทในเครือของ Yingli Green Energy Holding Company Limited หรือ Yingli Solar หนึ่งในมหาอำนาจของอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์สัญชาติจีน ก็กำลังจะมาลงทุนในประเทศไทยแล้ว

ก.ย. 2559 บริษัท ดีมีเตอร์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ดีมีเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์กับ HAINAN YINGLI NEW ENERGY RESOURCES CO.,LTD บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากประเทศจีนซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Yingli Green Energy Holding Company Limited (NYSE: YGE) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์สัญชาติจีนยักษ์ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ประเทศสหรัฐฯ มีออฟฟิศใน 30 ประเทศทั่วโลก ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วมากกว่า 60 ล้านแผง กำลังการผลิตรวมกว่า 1,400 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ 90 ประเทศทั่วโลก กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ต่อปี

ก.ย. 2559 บริษัท เทเช่นเทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้ Techen ประเทศจีน เปิดเผยว่าบริษัทฯ ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาทสร้างโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 300 เมกะวัตต์ ใน จ.ชลบุรี โดยการก่อสร้างจะเสร็จในเดือน ต.ค. 2559 นี้และคาดว่าจะ เดินเครื่องเต็มกำลังปี 2561 โรงงานแห่งนี้ถือเป็นโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์แห่งที่ 4 ของ Techen ต่อจากโรงงานในประเทศเปรู บราซิล และจีน โดยถ้าโรงงานใน จ. ชลบุรี เดินเครื่องก็จะทำให้กำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของ Techen เพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์ทั่วโลก

นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ คาดทั้งปี 2559 ยอดขายที่ดินในนิคมจะสูงถึง 500 ไร่ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ (ที่มาภาพ: thaimediapr.com)

ต.ค. 2559 บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าปัจจุบันบริษัทมียอด ขายที่ดินรอการโอน (Backlog) อยู่ประมาณ 300-400 ไร่ โดยทั้งปี 2559 บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม 500 ไร่ และมั่นใจจะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทสามารถทำยอดขายที่ดินได้เกินครึ่งหนึ่งของเป้าหมายแล้ว เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์

อ่าน 'จับตา': “บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6513

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: