"ชาวนายุคใหม่" แห่งที่ราบลุ่มราษีไศล

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 31 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3077 ครั้ง


โดยการการหนุนเสริมจากนักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในท้องถิ่น ในฐานะชาวนา พวกเขามิได้ผลิตเพื่อยังชีพอีกต่อไป หากมุ่งผลิตเพื่อการค้าและต้องการเป็น“ผู้ประกอบการ”ที่เน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตอบสนองกับความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคชนชั้นกลาง นอกจากนี้ชาวนายังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทุน และรัฐผ่านการต่อรองในรูปแบบต่างๆ เช่นการใช้ความรู้และทักษะสมัยใหม่ในการบริหารทุนเพื่อความยั่งยืนในการค้าและการตลาด การใช้สื่อสมัยใหม่ในการเข้าถึงผู้บริโภคอีกทั้งมีความสามารถในการต่อรองกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สนับสนุนโดยนักพัฒนาเอกชนพร้อมๆความการปรับใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้แก่โลกทัศน์แบบชาวพุทธและวัฒนธรรมชุมชนเช่นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเป็นผู้ประกอบการ [1]

“ที่ราบลุ่มราษีไศล

ศรีศักร วัลลิโภดม (2545) กล่าวว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลางเรียกว่าที่ราบลุ่มราษีไศลซึ่งเป็นพื้นที่นับตั้งแต่เขตอำเภอราษีไศลไปจนถึงบริเวณที่แม่น้ำมูลและชีมาบรรจบกัน (ปัจจุบันคือพื้นที่ที่อยู่เหนือบริเวณฝายหัวนาขึ้นไป)  บริเวณนี้มีพัฒนาการชุมชนบ้านและเมืองเก่าแก่กว่าเขตที่สูง หรือเขตบริเวณที่เรียกว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” อีกทั้งที่ราบลุ่มราษีไศลมีร่องรอยการสืบเนื่องของผู้คนหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ชุมชนโบราณที่มีการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาและพบร่องรอยของชุมชนที่ทำเกลือและถลุงเหล็ก

“ที่ราบลุ่มราษีไศล” เป็นแหล่ง“ป่าบุ่งป่าทาม” (ภาษาทางราชการเรียกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ-Wetlands) ขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดด้านระบบนิเวศน์ในภาคอีสานดังที่นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์เปรียบเทียบว่าเป็น“มดลูกของแม่น้ำอีสาน” (ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ และคณะ 2544)และ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน” (ศันสนีย์ ชูแวว 2548) ที่ราบลุ่มแห่งนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ซึ่งมากที่สุดคือไทยลาว และบางส่วนเป็นกูย เยอร์ และเขมร (กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ  2552) วิถีการดำรงชีพของชาวบ้านในอดีตก่อนการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา (ก่อนพ.ศ.2532) นั้นเน้นพึ่งพาทรัพยากรในป่าทามเพื่ออาหาร รายได้และแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรมนอกจากนี้ชาวนาใช้ที่ดินเป็นฐานการผลิตข้าวนาปีและปลูกผักเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่หอมแดง พริก ข้าวโพด และ ถั่วฝักยาว เป็นต้นชาวนาสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมาต่อเนื่องนับตั้งแต่สังคมอีสานเข้าสู่ยุคเงินตราอย่างเข้มข้นเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา จวบจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเก็บหาผลผลิตจากป่า ที่ดินและแหล่งน้ำตามฤดูกาลโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เห็ด หน่อไม้ มันแซง แมลง ปลา และสัตว์น้ำต่างๆ อีกทั้งเลี้ยงวัวควายเพื่อเป็นเงินออมทุนทางการเกษตร การศึกษา และอื่นๆที่สำคัญ เช่น การแต่งงาน การสร้างบ้าน และบางชุมชนใช้ดินจากป่าทามปั้นหม้อซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว (คณะนักวิจัยไทบ้านราษีไศล 2547)

ผู้ต่อรองกับรัฐในการจัดการทรัพยากรบุ่งทาม

การเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองกับรัฐของชาวนาในที่ราบลุ่มราษีไศลเรื่องการจัดการทรัพยากรบุ่งทามและการชดเชยจากผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและหัวนาได้รับสนับสนุนโดยนักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ เนื่องจากที่ราบลุ่มราษีไศลมีเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่สองเขื่อนได้แก่ เขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำขนาดใหญ่โขงชีมูล สำหรับกรณีเขื่อนราศีไศลที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในที่ราบลุ่มราศีไศลนั้น สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2535 และเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทานในปี พ.ศ. 2536   ได้ท่วมและทำลายป่าบุ่งป่าทามถึง 438,437 ไร่ จาก 1,249,709 ไร่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่ป่าทามในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบ ครอบคลุม 142 หมู่บ้าน 21 ตำบล 8 อำเภอ 3  จังหวัดในสุรินทร์ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ (สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม2540) ชาวนาในลุ่มน้ำโดยการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักพัฒนา เช่น คุณสนั่น ชูสกุล ได้ศึกษาผลกระทบและวิถีชีวิตโดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกทั้งได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย สนั่น ชูสกุล (2556) สรุปผลกระทบที่สำคัญของเขื่อนราศีไศลว่ามี 9 ประการได้แก่ 1) การสูญเสียที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าทามของชาวบ้าน 2) การสูญเสียพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ 3) เกิดปัญหาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมนอกอ่างเก็บน้ำ 4) การสูญเสียป่าบุ่งป่าทามในฐานะแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ 5) การแพร่กระจายของดินเค็ม 6) น้ำเน่าเสียและปัญหาสุขภาพเมื่อมีการเก็บกักน้ำ 7) น้ำท่วมแหล่งน้ำชลประทานเดิมของหน่วยงานราชการที่สร้างมาก่อนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และ 8) การสูญเสียพื้นที่ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเพราะน้ำท่วมพื้นที่ดังกล่าว

เขื่อนหัวนาตั้งอยู่ในแม่น้ำมูลบริเวณเขตบ้านกอก ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยตั้งห่างจากเขื่อนราษีไศล ประมาณ 90 กิโลเมตร และห่างจากเขื่อนปากมูลประมาณ 160 กิโลเมตร วัตถุประสงค์ของฝายนี้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคและเกษตรชลประทาน ซึ่งคาดว่าพื้นที่ชลประทานทั้งหมดของโครงการนี้มีมากกว่า 100,000 ไร่ และหมู่บ้านที่ทั้งได้ประโยชน์และผลกระทบมีจำนวน 61 หมู่บ้านในอำเภอกันทรารมย์ อำเภอเมือง อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย และ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 2543)ชุมชนพึ่งพาระบบนิเวศแม่น้ำและบุ่งทามในการอุปโภค บริโภคและเกษตรกรรมโดยคาดว่ามีรายได้จากป่าบุ่งป่าทามประมาณ 30,000  บาทต่อครอบครัวในแต่ละปี ปัจจุบันชาวนาในพื้นที่หัวนามีความวิตกเรื่องผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศลแม้ว่ายังไม่มีการเปิดใช้เขื่อนอย่างเป็นทางการ (กนกวรรณ มะโนรมย์และคณะ 2552)

ผลกระทบของทั้งเขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนาทำให้ชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนและต่อมาในปี 2553 ได้จัดตั้งเป็นสมาคมคนทามซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (คอปม.) และเครือข่ายองค์กรชาวบ้านฮักแม่มูนเมืองศรีสะเกษ จำนวนกว่า 2,800 คน ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดแห่งลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดและสุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมคนทาม  ชาวบ้านในนามสมาคมคนทามลุกขึ้นมาเรียกร้องกับรัฐบาลจนนำมาสู่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของทั้งสองเขื่อนโดยสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลันขอนแก่น มหาวิทยาลัยสุรนารีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลักดันโดยชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและสนับสนุนการและวางกลยุทธ์การเคลื่อนไหวและการกำกับติดตามการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่คือสนั่น ชูสกุลและทีมงาน โดยสนั่น ชูสกุลมีฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำกับติดตามการประเมินผลกระทบของทั้งสองเขื่อนนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา กรมชลประทานอนุมัติงบประมาณให้ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งสองเขื่อนดำเนินโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิต โดยหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาดังกล่าวคือการสร้างตลาดนัดสีเขียว (สุรสม กฤษณะจูฑะ 2558)

ผู้ประกอบการตลาดนัดสีเขียว

สมาคมคนทามดำเนินการตลาดนัดสีเขียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งถือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ได้สร้างแบรนด์สินค้าปลอดสารพิษจากผลผลิตที่ทั้งเก็บหาจากป่าทามและผลิตเองโดยมีสถานที่จำหน่ายทั้งที่ตลาดในที่ว่าการอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งจัดขึ้นทุกวัน  พฤหัสบดี (ในปี 2558 ได้ขาย ณ ตลาดแห่งนี้จำนวน 48 ครั้ง)และจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ฝากขายและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ (สำราญ สุรโคตร, สัมภาษณ์ 2558)[2]

ภาพถ่ายโดย : ปราณี มัคนันท์

กระบวนการสร้างผู้ประกอบการเกิดขึ้นจากชาวบ้านสมาชิกของสมาคมคนทามและหัวหน้าโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ที่ดำเนินการผ่านมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี[3]ได้หารือเรื่องความยั่งยืนในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน จึงได้ริเริ่มพูดคุยกับเกษตรกรที่มีความสนใจเพื่อการเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ จากนั้นได้จัดตั้ง “คณะกรรมการตลาดนัดสีเขียว” เพื่อลงเยี่ยมแปลงการผลิและพิจารณากระบวนการผลิตและความปลอด และได้เปิดรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมดำเนินการและจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการ  ซึ่งมีชาวบ้านกลุ่มแรกจำนวน 20 คนสนใจเข้าร่วมโครงการ (ในปี 2558) โดย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรทามมูล  ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีพื้นฐานแนวคิดการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยการส่งเสริมขององค์กรพัฒนาเอกชนในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาของกลุ่มในขณะนั้น เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้โดยไม่ใช้สารเคมี แต่ไม่มีตลอดรองรับ  จากนั้นสารเคมีในแปลง อีกทั้งเพื่อตรวจสอบคุณภาพกระบวนการผลิตของสมาชิก โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาที่มาจากข้อตกลงของคณะกรรมการตลาดนัดสีเขียวได้แก่ การไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและ การไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืชนอกจากนี้เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดสมาชิกและกรรมการได้ตกลงกันประชุมสรุปกิจกรรมทุกสัปดาห์หลังจากการจัดจำหน่ายเพื่อหารือกระบวนการและช่วยเหลือกันของสมาชิด้านการขายหากสมาชิกขาดทุนการผลิต คณะกรรมการได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการแก่สมาชิก (ปราณี มัคคนันท์, สัมภาษณ์ 2558)[4]

นอกจากนี้ผู้ประกอบการตลาดนัดสีเขียวได้พยายามพัฒนาทักษะการบริหารทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น คณะกรรมการและสมาชิกได้ตกลงให้มีการจัดการออมเงินเพื่อให้สมาชิกสามารถทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง ณ ปัจจุบัน (ต้นปี พ.ศ. 2559) สมาชิกตลาดนัดสีเขียวมีเงินออมราวๆ 130,000 บาท โดยแบ่งเป็นเงินหุ้นจากสมาชิกจำนวน 150 หุ้น และการเก็บจากสมาชิกจัดจำหน่ายสัปดาห์ละ 10 บาทพร้อมทั้งพัฒนาทักษะสมัยใหม่ในการจัดการ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการสร้างผลิตภัณฑ์เช่น เข้ารับการอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาจาก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี เป็นต้น การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ การมีแหล่งตลาดใหม่ที่เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร การผลิตที่หลากหลายอย่างในครัวเรือน การมีทักษะของการบริหารจัดการทางบัญชี การพัฒนาสมาชิก การหาตลาดลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆทั้งทางออนไลน์ สื่ออินเตอร์เน็ต เช่น ไลน์และเฟสบุ๊ค การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

กล่าวว่าชาวนาผู้กำลังประกอบการตลาดนัดสีเขียว กำลังดำเนินการ“วิสาหกิจชุมชน” (Community enterprise) ซึ่ง Petrin (1994) นักวิชาการด้านนี้กล่าวว่าวิสาหกิจชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาชนบทที่สนับสนุนโดยหน่วยงานระดับโลก เช่น องค์การประชาชาติด้านอาหารและเกษตร จากการประชุมนานาชาติขององค์การนี้ครั้งที่ 7 ว่าด้วยการพัฒนาชนบท ณ ประเทศเยอรมันนี ระหว่างวันที่ 8-14 กันยายน 1994 ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ในการเปิดการประชุมได้กล่าวว่าวิสาหกิจชุมชนเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาเพื่อกระตุ้นกระบวนการพัฒนาชนบท เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสร้างงาน สร้างรายได้ของคนในชนบทโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ได้ทำงานใกล้บ้านซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการมีอำนาจในสังคม มีอิสระและลดภาระการพึ่งพาทางสังคม นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนยังช่วยการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สภาพแวดล้อมในการเป็นผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนมีความสำคัญมากเนื่องการดำเนินวิสาหกิจชุมชนมีความซับซ้อนและมีความเป็นพลวัตสูง เพราะเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่มและหลายระบบผ่านห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายทั้งระบบ เช่น ชาวบ้านหรือเกษตรกรด้วยกันเอง พ่อค้าแม่ค้า ผู้ขายอุปกรณ์การค้า การขนส่ง การผลิต การแปรรูปสินค้า และลูกค้าเป็นต้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันด้วยการไว้เนื้อเชื่อใจและให้เกียรติกันและมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการเพื่อให้วิสาหกิจดำเนินการไปได้ด้วยความสำเร็จ ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการคือการมีความรู้ความสามารถทางเทคนิค ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และการวางแผนล่วงหน้าในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ขั้นการพัฒนาวิสาหกิจให้เติบโตขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนก็มักเผชิญกับความเสี่ยง เช่นอุปสรรคทางสังคม เศรษฐกิจ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุนและข้อมูลทางการตลาด การขาดประสบการณ์ในการจัดการทางธุรกิจในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงขนาดของธุรกิจ เป็นต้น (Kahan 2012)

“ชาวนายุคใหม่” ณ ที่ราบลุ่มราษีไศล

ลักษณะของชาวนาในที่ราบลุ่มราษีไศลที่กล่าวมาข้างต้นสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ชาวนายุคใหม่”ผู้เขียนเรียกขานเช่นนี้เพราะชาวนามีคุณลักษณะที่สลับซับซ้อน คือชาวนาที่มีความสัมพันธ์กับตลาด ทุน และรัฐอย่างใกล้ชิดและพัฒนาไปสู่ความทันสมัย (รัตนา บุญมัธยะ โตสกุล 2550) และเป็นผู้รู้โลกกว้าง (Cosmopolitan farmers)(Keyes  2012 )โดยสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายทั้งเพื่ออาหารและป้อนตลาดสมัยใหม่ มีความใกล้ชิดกับตลาดและสื่อสมัยใหม่ พยายามเรียนรู้และใช้ความรู้และทักษะสมัยใหม่ในการบริหารทุนเพื่อการค้าและการตลาดตอบสนองต่อชนชั้นกลางในเมืองจากการเป็นผู้ประกอบการตลาดนัดสีเขียว โดยฉวยใช้ประโยชน์จากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ พยายามสร้างแบรนด์ของสินค้าของตัวเอง และการสร้างองค์กรเพื่อการต่อรอง อีกทั้งการรักษาวัฒนธรรมและความเป็นอยู่แบบพื้นถิ่น ผสมผสานกับการเป็นชาวนานักเคลื่อนไหวต่อรองทางการเมืองเรื่องทรัพยากรกับรัฐและทุนเพื่อรักษาและอนุรักษ์บุ่งทาม

นอกจากนี้ “ชาวนายุคใหม่”คือผู้ที่มีเหตุผล (Rational farmers) สามารถตัดสินใจผลิตและเลือกรับหรือเลือกปฏิเสธที่จะเสี่ยงในการลงทุนได้ หลายๆครั้ง ชาวนากล้าที่จะลงทุนและเสี่ยงทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยพิจารณาถึงหลักประกันเสมอว่าคุ้มหรือไม่หรือผลผลิตจะให้ผลกำไรแก่สมาชิกในครัวเรือนมากน้อยเพียงใดเนื่องจากสังคมชาวนาเป็นสังคมแห่งตลาดและการค้ามิได้ผลิตเพื่อการยังชีพเพียงอย่างเดียวและการผลิตของชาวนาเพื่อการสะสมทุนและสร้างความมั่งคั่งของครอบครัวไปพร้อมๆกัน (Popkin 1980) นอกจากนี้ ชาวนายุคใหม่ ในลุ่มน้ำราษีไศลยังมีลักษณะตามที่ ชาร์ล เอฟ คายส์(Charles F Keyes) (1983) (นักวิชาการที่ศึกษาชนบทอีสานอย่างต่อเนื่อง) วิเคราะห์ว่า ชาวนาคิดเชิงกำไรและอรรถประโยชน์ของครอบครัวไปพร้อมๆกับการมีโลกทัศน์เชิงเศรษฐศาสตร์เชิงศิลธรรม กล่าวคือเศรษฐกิจของชาวนายังตั้งอยู่บนหลักแห่งการตอบแทน (Reciprocity) เห็นได้จากการที่ชาวนายังคงมีความเกื้อกูลกัน มีการแลกเปลี่ยนผลผลิต เนื่องจากโลกทัศน์ของชาวนาไทยยังมีโลกทัศน์พุทธศาสนาที่ชาวนายังมีความเชื่อเรื่องกรรม บุญและบาป ผลของบุญกรรมต่อพฤติกรรม ความยากจนหรือความมั่งมีของชาวนา อีกทั้งนำเอาทิศทางการพัฒนาของรัฐที่กระทบโดยตรงต่อชุมชนชนบทมาต่อรองกับรัฐ เช่น นโยบายการผลิตข้าวเพื่อขาย ทำให้ชาวนาทุกคนต่างขยายพื้นที่การถือครองและการเพาะปลูกข้าวมากขึ้น ตลอดจน การต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินของชาวนากับรัฐเป็นต้น นอกจากนี้ “ชาวนายุคใหม่” แห่งที่ราบลุ่มราศีไศลคือชาวนาผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองชอบการบริโภคข่าวสารทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีความใกล้ชิดกับเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติมักส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับชาวบ้านซึ่งแนวคิดนี้ที่ทำให้เข้าใจชาวนาในยุคเศรษฐกิจเงินตราและการเมืองเรื่องของการจัดการทรัพยากรได้เป็นอย่างดี

 

เอกสารอ้างอิง

กนกวรรณ มะโนรมย์ สุรสม กฤษณะจูฑะ และ นพพร ช่วงชิง. 2552. รายงานประเมินผลกระทบทางสังคมกรณีฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน. 2543. โครงการฝายหัวนา. กรุงเทพฯ.

คณะนักวิจัยไทบ้านราษีไศล. 2547. ราษีไศล: ภูมิปัญญา สิทธิและวิถีแห่งป่าทามแม่น้ำมูน ใน
www.searin.org/Th/ThaiBanResearch.htm - 50k เข้าใช้ข้อมูล 15 พฤษภาคม 2559

สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม2540 อ้างใน สนั่น ชูสกุล 2556 ในhttp://e-shann.com/?p=2182เข้าใช้ข้อมูล 10 พฤษภาคม 2559

ประสิทธิ์ คุณุรัตน์และคณะ (2544) การศึกษาสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของป่าบุ่งป่าทามบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนกลาง. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

รัตนา บุญมัธยะ โตสกุล. 2550. ชาวนาอีสาน ชาติไทยและการพัฒนาสู่ความทันสมัย. วารสารสังคมศาสตร์ฉบับพิเศษ. 19(1) หน้า68-129.

ศรีศักร วัลลิโภดม. 2533. “ศรีสะเกษ เขตเขมรป่าดง” แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม หน้า463-497.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. 2542.พื้นที่ชุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.กรุงเทพฯ

ศันสนีย์ ชูแวว และคณะ.2548.โครงการสังเคราะห์นโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างเครือข่ายวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ ระยะที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2548) กรณีการจัดการป่าบุ่งป่าทามhttp://www.thainhf.org/index.php?module=news&page2=detail&id=5เข้าใช้ข้อมูล 10 พฤษภาคม 2559

สนั่น ชูสกุล. 2556.ความจริงที่ราษีไศล:ป่าทามมดลูกของแม่น้ำอีสานอีสาน. ทางอีศาน 11(1)http://e-shann.com/?p=2182เข้าใช้ข้อมูล 10 พฤษภาคม 2559

สุรสม กฤษณะจูฑะ. 2558. รายงานความก้าวหน้าโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Kahan, D. 2012 Entrepreneurship in farming, cited in https://www.researchgate.net/publication/269762230_Entrepreneurship_in_farming (accessed May 15 2016).

Keyes, C.  1983. Economic Action and Buddhist Morality in a Thai Village. The Journal of Asian Studies. 42(4): 851-868.

Keyes, C. 2012 ‘Cosmopolitant’ villagers and populist democracy in Thailand.  South East Asia Research .20(3): 343-360, doi10.5367/sear.2012.0109.

Petrin, T. 1994. Entrepreneurship as an economic force in rural development, Keynote paper presented at the Seventh FAO/REU International Rural Development Summer School, Herrsching, Germany, 8-14 September 1994, cited in http://www.fao.org/docrep/w6882e/w6882e02.htm (accessed May 20 2016).

Popkin, S. 1980. The Rational Peasant: The Political Economy of Peasant Society.Theory

and Society. 9(3): 411-471.

Scott, C. 1967. The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in

Southeast Asia.New Haven. Yale University Press.



[1]ขออุทิศบทความนี้แด่พี่แต (คุณสนั่น ชูสกุล) นักสู้ นักคิด และนักพัฒนาแห่งที่ราบลุ่มราษีไศล

ขอขอบคุณ ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คุณวรรภา วงศ์พินิจ และคุณพงศ์เทพ บุญกล้า ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการเขียนบทความนี้

[2]สัมภาษณ์ สำราญ สุรโคตร มกราคม 2558

[3]ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการ

[4]สัมภาษณ์ ปราณี มัคนันท์ เดือน มกราคม 2558

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: