รถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง คาดเริ่ม ธ.ค. 2559 'เด่นชัย-เชียงใหม่' ตั้งงบ 61,068 ล้าน

31 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3862 ครั้ง


	รถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง คาดเริ่ม ธ.ค. 2559 'เด่นชัย-เชียงใหม่' ตั้งงบ 61,068 ล้าน

รฟท. เผยความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ อยู่ระหว่างการปรับร่างทีโออาร์ประกวดราคาใหม่ทั้งหมด ประกอบด้วย เส้นทาง ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง148 กิโลเมตร/มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร/นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร ซึ่งประมาณเดือนมิถุนายนจะสามารถประกาศเชิญชวนผู้สนใจได้ ทั้งนี้ทั้ง 4 เส้นทางดังกล่าวจะสามารถลงนามในสัญญาโครงการได้ประมาณเดือนธันวาคม 2559 เส้นทาง 'เด่นชัย-เชียงใหม่' มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท

31 พ.ค. 2559 หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รายงานว่านายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับร่างทีโอาร์ประกวดราคาใหม่ทั้งหมด ประกอบด้วย เส้นทาง ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง148 กิโลเมตร/มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร/นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร ซึ่งประมาณเดือนมิถุนายนจะสามารถประกาศเชิญชวนผู้สนใจได้ ทั้งนี้ ทั้ง 4 เส้นทางดังกล่าวจะสามารถลงนามในสัญญาโครงการได้ประมาณเดือนธันวาคม 2559 สำหรับเหตุผลในการปรับร่างทีโออาร์ใหม่นั้น เพื่อให้เกิดความหลากหลายสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลโครงการ เป็นการเปิดกว้างในการประมูลมากขึ้น ซึ่งร่างทีโออาร์เดิมมีข้อท้วงติในประเด็นที่เปิดให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลนั้นน้อยไปหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของบริษัทที่จะเข้ามาร่วมประมูลใหม่ ส่วนเส้นทางช่วง ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่นคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร และเส้นทางช่วง ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการ ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม

โดยการให้ข้อมูลจาก นายสุชัย รอยวิรัตน์ ผู้จัดการโครงการ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษา โดยมีแนวทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ประกอบด้วย แนวเส้นทางเลือกที่ 4 ซึ่งจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีผู้ให้ความเห็นสนับสนุนถึงร้อยละ 86.53 โดยเป็นการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ใหม่ 1 ทางขนานกับทางรถไฟเดิม แนวเส้นทางโครงการ จะผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ โดยช่วงสถานีรถไฟเด่นชัย ถึง สถานีรถไฟห้างฉัตรจะใช้แนวเส้นทางเดิมเป็นหลัก แต่จะมีการปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน ช่วงสถานีรถไฟห้างฉัตร ถึงสถานีรถไฟลำพูน จะเป็นการก่อสร้างแนวรถไฟใหม่ทั้งหมด และช่วงสถานีรถไฟลำพูนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ จะเป็นการสร้างทางใหม่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทางรวม 189 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้น 103 กิโลเมตรทางยกระดับ (Viaduct) 44 กิโลเมตร และสะพานบก (Short Span Bridge) 25 กิโลเมตร มีสถานีหลักตามแนวเส้นทาง 18 สถานี ได้แก่ ปากปาน แก่งหลวง ห้วยแม่ต้า บ้านปิน ผาคัน ปางป๋วย แม่จาง แม่เมาะ ศาลาผาลาด แม่ทะ หนองวัวเฒ่า นครลำปาง ห้างฉัตร ศาลาแม่ทา ลำพูน ป่าเส้า สารภี และ เชียงใหม่ โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ที่ อำเภอสารภี และ ศูนย์ขนส่งสินค้า

(CY) 2 แห่ง คือ พื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์ซ่อมบำรุงและที่ อำเภอห้างฉัตร รวมทั้งมีแก้ไขจุดตัดทางรถไฟจำนวน 119 จุด โดยไม่รวมจุดตัดที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทดำเนินการ ทั้งมีการออกแบบจะเป็นไปตามมาตรฐานของ American Railway Engineering and maintenance-of-Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหลัก

จากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 12.06 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 291 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับร้อยละ 1.01 มูลค่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจทางตรงทั้งหมด 4,298.39 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าในปี พ.ศ.2565 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,963,535 คน-เที่ยว/ปี ขนส่งสินค้า จำนวน 0.91 ล้านตัน/ปี

เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่จะพาดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล จังหวัดลำปาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำพูน จึงออกแบบโครงสร้างทางรถไฟเป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ความยาว 3.91 กิโลเมตร และบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ความยาว 1.06 กิโลเมตร เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อการ สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งจะมีการปลูกป่าชดเชยพื้นที่ป่าไม้ที่สูญเสียไป นอกจากนี้ยังออกแบบทางรถไฟเป็นทางรถไฟยกระดับ บริเวณพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ความยาว 1.2 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และการดำรงชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงลดปัญหา ด้านเวนคืนที่ดิน มีการพิจารณาจ่ายค่าชดเชย การเวนคืนอย่างยุติธรรม โดยยึดหลักตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2556 จังหวัดลำปางมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในจังหวัด เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางด้วยรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอีกด้วยนอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาอีก 1 จังหวัดคือจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น สนข.จะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการได้ที่ www.denchai-chiangmai-doubletrack.com  และแฟนเพจรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: