จัดเก็บภาษีรถในเขต กทม.ปีงบ 2559 ได้แล้ว 8.5 พันล้าน

31 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1542 ครั้ง


	จัดเก็บภาษีรถในเขต กทม.ปีงบ 2559 ได้แล้ว 8.5 พันล้าน

กรมการขนส่งทางบกระบุสามารถจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 – ก.ย.59) ได้กว่า 8,548  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนร้อยละ 2.62  แจงประชาชนยังนิยมใช้บริการชำระภาษีรถที่สำนักงานของกรมการขนส่งทางบกมากที่สุด (ที่มาภาพประกอบ: CityMetric)

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่านายณันทพงศ์  เชิดชู  รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยว่า จากการที่กรมการขนส่งทางบกอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเลือกชำระภาษีรถประจำปีได้หลากหลายช่องทาง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (ต.ค.58 – ก.ย.59)  สามารถจัดเก็บภาษีรถในเขตกรุงเทพมหานครได้ทั้งสิ้น 8,548,468,278.78  บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน ร้อยละ 2.62  พบว่าประชาชนยังนิยมใช้บริการรับชำระภาษีรถประจำปี ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 5 ของกรมการขนส่งทางบกมากที่สุด จำนวน  5,388,479 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น  6,174,716,688.28  บาท  รองลงมาเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จำนวน  793,641  ราย  จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 1,392,198,610.48  บาท และการใช้บริการชำระภาษีรถที่ห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์ – อาทิตย์ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” (Shop Thru for Tax) มีผู้ใช้บริการ จำนวน  414,942  ราย  จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 600,786,175.96  บาท  และการรับชำระภาษีรถผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th สามารถจัดเก็บภาษี ได้ทั้งสิ้น 133,627,650.66 บาท ส่วนช่องทางการรับชำระภาษีรถผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส มีผู้ใช้บริการจำนวน 88,550 ราย จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 102,606,233.93 บาท  นอกจากนี้เป็นการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.00 น. สามารถจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น  120,614,256.57 บาท  ผ่านไปรษณีย์และผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 23,918,662.90 บาท

ปัจจุบันเจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าได้ไม่เกิน  90  วัน โดยต้องเป็นรถที่ไม่ค้างชำระภาษีรถเกินกว่า 1 ปี สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) มาแสดงด้วย หากเป็นรถที่ติดตั้งแก็สต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบและทดสอบตามระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถคงเหลือระยะเวลาคุ้มครองไม่น้อยกว่า 3 เดือน  ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาอำนวยความสะดวกของประชาชนมากยิ่งขึ้น  ด้วยการนำระบบ QR Code มาเป็นช่องทางเข้าถึงแอพพลิเคชั่น DLT eForm ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอต่างๆแบบออนไลน์ เพื่อกรอกข้อมูลแล้วนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการติดต่อขอรับบริการ อีกทั้งได้มีการจัดตั้ง“ศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center : GECC)” เพื่อเป็นจุดให้บริการข้อมูลข่าวสาร และให้คำแนะนำต่างๆ แก่ประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการอีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: