สแกนลายพราง: ปัญหาท้าทายกองทัพ ‘เกณฑ์ทหาร’ ยุคประชากรลด-สงครามเปลี่ยน

ทีมข่าว TCIJ 31 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 6015 ครั้ง

ซีรีย์ชุด “สแกนลายพราง” เป็นความพยายามที่จะนำเสนอความคิดของทหารว่ามีมุมมองต่อประเด็นต่างๆ ในสังคมอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้ “ทหาร” ยังคงเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

การเกณฑ์ทหารในโลกปัจจุบัน

 

 หลายพื้นที่ในโลกยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย (ที่มาภาพ: wikipedia.org)

หมายเหตุ

สีเขียว = ไม่มีกองกำลังทหาร
สีฟ้า = ไม่มีการเกณฑ์ทหาร
สีส้ม = ยังมีการเกณฑ์ทหาร แต่จะมีการยกเลิกในอนาคต
สีแดง = ยังมีการเกณฑ์ทหาร
สีเทา = ไม่มีข้อมูล

การเกณฑ์ทหารจัดว่าเป็นการใช้แรงงานบังคับในรูปแบบหนึ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ในหลายประเทศได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว แต่หลายประเทศยังคงมีการเกณฑ์ทหารโดยอ้างถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

ในอดีตนั้น แนวคิดการเกณฑ์ทหารในรัฐชาติสมัยใหม่ น่าจะมีแม่แบบมาจากประเทศฝรั่งเศส ที่เริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1798 มีหลักการคร่าว ๆ ว่า "พลเมืองฝรั่งเศสทุกคน ต้องเป็นทหารสำหรับป้องกันบ้านเมืองในช่วงที่มีประกาศว่าจะมีอันตรายต่อบ้านเมือง ส่วนในเวลาปกติ ให้เกณฑ์แต่เฉพาะบุคคลที่มีอายุระหว่าง 20-25 ปีเท่านั้น เข้ามาเป็นทหารประจำการ ถ้าบุคคลที่มีอายุครบตามเกณฑ์ในปีหนึ่งมีจำนวนมากพอกับที่ทางราชการต้องการ ที่เหลือให้ปล่อยกลับสู่ภูมิลำเนา ไม่มีข้อยกเว้นและไม่มีการปลดเป็นกองหนุน การปลดคือ การตาย หรือบาดเจ็บจนทำการรบไม่ได้"  ถือว่าเป็นรากเหง้าของกฎหมายลักษณะการเกณฑ์ทหารที่ใช้กันอยู่แทบทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางยุโรปและเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

แนวคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของพลเมืองในการรับราชการทหารนี้ จากอดีตจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาที่ยาวนาน โดยที่ในยุคสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับลักษณะของกองทัพไปสู่แนวทางใหม่ ๆ อันเนื่อง มาจากพัฒนาการด้านตลาดแรงงาน  สิทธิมนุษยชน รวมถึงปัจจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการสงคราม ที่กำลังทหารอาจจะมีความสำคัญน้อยกว่าคุณภาพของทหาร และยุทโธปกรณ์ 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารในรายงานเก่าของ TCIJ >> ‘ทหารเกณฑ์’ความเหลื่อมล้ำในกองทัพ ชี้ระบบและเงินเอื้อลูกคนรวยรอดทหาร โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, 28 พฤษภาคม 2557

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติการเกณฑ์ทหาร >> จับตาสถิติการตรวจเลือกทหารกองเกิน โดย กองบรรณาธิการ, TCIJ 28 พฤษภาคม, 2557 

โครงสร้างประชากร-ปัญหาใหญ่การเกณฑ์ทหารในอนาคต

จากบทความ "ประชากรกับพลังอำนาจทางทหาร: ผลกระทบต่อโครงสร้างกำลังพลกลาโหมของไทย" โดย พ.ท.หญิง ดร. อมรรัษฏ์ บุนนาค จากวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2557 ได้นำเสนอประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงประชากรในปัจจุบันและอนาคต ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพลังอำนาจทางทหาร  เนื่องจากมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคือการลดลงของประชากรไทยในปัจจุบันและในอนาคต  สามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างกำลังพล

งานศึกษาของ พ.ท.หญิง ดร. อมรรัษฏ์ พบว่าจำนวนชายไทยตามโครงสร้างประชากรมีแนวโน้มลดลงเปรียบเทียบกับจำนวนชายไทยที่รับเข้าสู่กิจการทหาร  พบว่ายังมีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับกิจการทหารของกระทรวงกลาโหมในภาพรวม ครอบคลุมในระยะเวลา 30 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2587)   แต่จำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลง ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะมีอัตราการเพิ่มประชากรเท่ากับ ศูนย์ กล่าวคือ เป็นปีที่มีจำนวนของการเกิดและการตายเท่ากัน ในปีถัดไปคือในปี พ.ศ. 2566 จำนวนการตายของประชากรไทยจะเริ่มมากกว่าจำนวนการเกิดเนื่องจากการที่กลุ่มวัยสูงอายุเริ่มทยอยเสียชีวิต

ถึงแม้ว่าจำนวนปัจจัยนำเข้าจากการลดลงของประชากรวัยแรงงานสู่ระบบกิจการทหารจะยังไม่ส่งผลโดยตรงในเรื่องของจำนวนกำลังพลที่นำเข้าสู่กิจการทหารในระยะใกล้  หากแต่สิ่งที่ต้องตระหนักและควรนำมาพิจารณาคือผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยโดยรวมที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยและกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562) สิ่ งนี้ทำให้ความต้องการวัยแรงงานของประเทศไทยเพื่อรองรับวัยพึ่งพิงในกลุ่มนี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เมื่อเทียบกับวัยพึ่งพิงในกลุ่มของเด็ก นอกจากนี้กลุ่มวัยแรงงานที่มีจำนวนน้อยลงในแต่ละปี จะต้องแบกรับภาระการดูแลทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ ความต้องการวัยแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นดังกล่าวในภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในส่วนของกิจการทหาร  จะทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกบุคคลผู้มีความสามารถเข้าสู่กิจการทหารในทุกกลุ่ม

ในด้านผลกระทบของโครงสร้างประชากรต่อปัจจัยนำเข้าด้านกำลังพลของกองทัพนั้น  พบว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กิจการทหาร (กลุ่มอายุเริ่มต้นเข้าสู่กิจการทหารคือ 17 ปี บริบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างกำลังพลของกระทรวงกลาโหมทั้งทางตรงและทางอ้อมแบ่งเป็นระยะดังนี้

1. ผลกระทบโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2562) พบว่ากลุ่มอายุที่เริ่มเป็นชายฉกรรจ์มีจำนวนลดลง (อายุ 17 ปีบริบูรณ์) ขณะที่จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปี หรือกลุ่มประชากรที่อยู่ในช่วงวัยหลังเกษียณเป็นต้นไป มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนที่ทำให้ประชากรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 คือ การมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และสัดส่วนของวัยแรงงานที่ลดลงทำให้สัดส่วนค้ำจุนผู้สูงอายุ ลดลงอย่างมากกล่าวคือวัยแรงงาน ที่เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กิจการทหารจะถูกแบ่งไปดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวหรือแม้แต่ในสังคมโดยรวม

2. ผลกระทบในอีก 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567) จะเห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าจำนวนเด็ก คือ ร้อยละ 19.8 ขณะที่ กลุ่มวัยเด็กมีเพียงร้อยละ 16 โดยเด็กเกิดใหม่จะลดลง เฉลี่ยจะมีเด็กเกิดน้อยกว่า 7 แสนรายต่อปี แม้ว่าสัดส่วนของวัยแรงงานจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักนั่นหมายถึงขนาด และจำนวนชายฉกรรจ์ที่จะเข้าสู่กิจการทหารโดยทั่วไปยังเพียงพอ แต่สัดส่วนค้ำจุนผู้สูงอายุลดลงมาก โดยผู้สูงอายุ 1 คน จะมีวัยแรงงานค้ำจุนเพียง 3.2 คน เท่านั้น สิ่งนี้เองที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขันขององค์กรต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกวัยแรงงานที่มีคุณภาพ

3. ผลกระทบใน ช่วง 20-30 ปี (พ.ศ. 2577-2587) ข้างหน้าประเทศไทยจะมีโครงสร้างประชากรที่เป็นลักษณะของสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในระดับสูง ขณะที่ ปัจจัยนำเข้าแก่กิจการทหารหรือกลุ่มชายฉกรรจ์เริ่มเข้าสู่ภาวะไม่เพียงพอ ในกรณีที่กลาโหมยังคงไว้ซึ่งระดับและจำนวนกำลังพลกองประจำการ หรือจำนวนของการเกณฑ์ที่ ณ ระดับเดิม เช่นในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้การที่มีเด็กเกิดน้อยทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า Golden Child ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ เช่น ประเทศเยอรมนี และประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น การใช้แรงงานของประชากรในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็น Golden Child ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะ ด้านการสูญเสียบุคลากรจากการฝึกทางยุทธวิธี หรือการฝึกทางทหารต่าง ๆ เพราะเมื่อเกิดการสูญเสียจะส่งผลกระทบต่อการยอมรับของสังคมโดยรวมและอาจถึงขั้นต่อต้านองค์กรทางทหารได้

เทคโนโลยีและกองทัพที่มีประสิทธิภาพ

ด้านข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไข พ.ท.หญิง ดร. อมรรัษฏ์ เสนอว่ากระทรวงกลาโหมสามารถนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านกำลังพลเพื่อตรียมความพร้อมด้านกำลังพลให้เหมาะสมกับภารกิจหน้าที่ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนกำลังพลที่จะเข้าสู่กิจการทหารในระยะใกล้ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้นในห้วงสามสิบปีนี้ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การรบตามแบบซึ่งใช้กำลังพลจำนวนมากเหมือนในอดีตนั้นคงเกิดขึ้นได้ยาก กระทรวงกลาโหมในหลายประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้มามากกว่าสองทศวรรษ รวมถึงประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศมหาอำนาจในยุโรป ดังนั้นประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จึงพยายามลดกำลังรบหลักของตนลงเพื่อลดภาระทางด้านเศรษฐกิจและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น มิใช่เพียง จำนวนและอายุที่เหมาะสมเท่านั้นที่กองทัพต้องการ หากแต่กองทัพยังต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกทาง รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพในการรบหรือกำหนดสงคราม มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากจำนวนปัจจัยนำเข้าคือจำนวนชายฉกรรจ์ที่ลดลงร่วมกับความต้องการด้านคุณภาพทำให้กองทัพต้องแข่งกับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้กองทัพต้องพิจารณา วางแผน กำหนดปริมาณ และคุณภาพของกำลังพลอย่างจริงจัง

2. กรณีที่จำนวนของชายฉกรรจ์ ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในระยะยาวหรือประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-2577) กระทรวงกลาโหมสามารถสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพโดยเน้นคุณภาพของกำลังพลมากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับตำแหน่งงาน และคงไว้ซึ่งลักษณะที่สำคัญทางทหาร ได้แก่ ความสมบูรณ์พร้อมทางร่างกายและจิตใจอายุที่เหมาะสมกับการเป็นทหารในเหล่าต่าง ๆ เช่น เหล่ารบเหล่าสนับสนุนการรบ และเหล่าสนับสนุนการช่วยรบเป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเร่งสร้างแรงจูงใจและค่านิยมที่ดีต่ออาชีพทหารรวมถึงการมีแผนชัดเจนเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพทหาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสมัครใจ และเต็มใจพร้อมรับใช้ชาติ

3. นอกจากการคัดสรรบุคคลที่มีคุณภาพแล้ว การพัฒนากำลังพลที่คงอยู่ในกองทัพควรทำอย่างจริงจังเพื่อลดภาระของกองทัพในการแบกรับปัญหากำลังพลที่หย่อนประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ทุกเหล่าทัพหรือหน่วยในกระทรวงกลาโหมโดยรวมต้องมุ่งประเด็น “ประสิทธิภาพของงาน” โดยการบริหารคนให้ตรงกับงาน “Put the right man on the right job” นอกจากนี้ การพัฒนาศักยภาพของคนในงานนั้น ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่ากองทัพยังมิได้มีการปรับตัวอย่างเต็มรูปแบบเพื่อรองรับความท้าทาย หรือสงครามรูปแบบใหม่ในมิติที่ต่างจาก Conventional Warfare กล่าวคือปริมาณกำลังพลที่มีจำนวนมากคงที่เป็นระยะเวลานาน หากแต่การมีกำลังพลจำนวนมากแต่ขาดคุณภาพจะเป็นส่วนที่บั่นทอนการพัฒนาความทันสมัยของกองทัพ อีกทั้งยังชะลอการพัฒนากองทัพ หรือองค์กรทางทหารโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงบประมาณที่เป็นค่าแรงหรือค่าจ้างให้แก่กำลังพลเหล่านั้นแทนที่จะสามารถนำงบประมาณในส่วนดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนากองทัพให้มีความเข้มแข็งและทันสมัย

4. การพิจารณาเรื่อง การปรับโครงสร้างและการลดจำนวนกำลังพลลงเป็นอีกแนวทางที่สามารถนำมาพิจารณาโดยปรับหน่วยใหม่ให้มีอัตราการจัด ภารกิจและลักษณะงานที่ชัดเจน เหมาะสมที่จะรองรับภารกิจโดยรวมของกองทัพในด้านการรักษาความมั่นคง ซึ่งการปรับโครงสร้างและการลดจำนวนกำลังพลลงนั้นก็เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะและรูปแบบของสงครามและภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าจะพิจารณาแล้วประเทศไทยมิได้มีสงครามขนาดใหญ่มากว่าเกือบสองศตวรรษ หากแต่ยังคงมี ความขัดแย้ง และสงครามขนาดย่อยตามแนวชายแดน ถึงกระนั้นก็ตามการเตรียมกำลังพลให้พร้อมอยู่เสมอก็เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเนื่องจากความขัดแย้งมิได้หายไปหากแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น ดังนั้นกลาโหมจึงจำเป็นต้องปรับบทบาทของตนในภาพรวมโดยเฉพาะในภาวะปกติซึ่งมีระยะที่ยาวนานกว่าภาวะสงครามเพื่อมิให้ถูกมองว่าเป็นส่วนเกินของสังคม คือ กลาโหมต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าในยามปกติ หรือภาวะที่ไม่มีสงครามทหารมีหน้าที่อะไร และทำอะไร รวมถึงความจำเป็นที่ยังคงไว้ซึ่งกำลังทหารจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพของนานาประเทศที่มีขีดความสามารถเท่ากันหรือมากกว่าขณะที่มีขนาดของจำนวนกำลังพลที่น้อยกว่า

5. การใช้ผลของการทำนายหรือการคาดการณ์ประชากรในอนาคตไม่ว่าจะเป็นของประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ เพื่อการเปรียบเทียบ ทำให้สามารถคำนวณสถานการณ์ (forecast) และลักษณะของภาวะสงครามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ในประเทศที่มีโครงสร้างทางประชากรที่เป็นวัยสูงอายุมากก็มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามน้อยและค่อนข้างสงบเมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างประชากรในกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก สิ่งนี้เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาใช้วางแผนงานด้านการกำหนดขนาดและกำลังพลที่เหมาะสมให้แก่ กองทัพ หรือกำลังพลทั้งหมดของกระทรวงกลาโหมในภาพรวมได้ โดยการพิจารณาดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยด้านโอกาส (Opportunity)และความท้าทาย (Challenge) ที่เราไม่ควรมองข้ามเพราะการพิจารณาผลกระทบร่วมกับการคาดการณ์บนพื้นฐานของข้อมูลโครงสร้างประชากรปัจจุบันจะช่วยให้กองทัพสามารถพัฒนากำลังพลให้พร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลด้านกำลังพลโดยใช้เทคนิคการคาดประมาณจำนวนกำลังพล (Personnel Projection) ที่เหมาะสม สำหรับกองทัพในอนาคต ร่วมกับการพยากรณ์ (Forecast) สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหรือหมุนเวียนด้านกำ ลังพลของกองทัพ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการวิเคราะห์องค์กรเองในด้านกำลังพล ปัจจัยจุดอ่อน และจุดแข็ง (Strength and Weakness) โดยการทำนายด้วยเทคนิคดังกล่าวจะต้องปฏิบัติเป็นประจำเพราะจะเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการมองภาพกำลังพลทั้งในระดับย่อยและภาพโดยรวมของกำลังพลของกระทรวงกลาโหมในแต่ละห้วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทางด้านประชากร อายุ เพศ ระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงานในหน่วยทหาร ลักษณะงานที่ทำ ประสบการณ์การฝึกศึกษา หรือการมีภารกิจร่วมในระดับนานาชาติ ซึ่งการวิเคราะห์ รวมทั้งพยากรณ์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมีใช้ในกิจการของกระทรวงกลาโหมของหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา,เยอรมนี, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

สรุปแล้วการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของประเทศไทยทำให้เห็นแนวโน้มเกี่ยวกับขนาดและจำนวน ของชายวัยฉกรรจ์ที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงาน และเป็นปัจจัยนำเข้าสู่กิจการทหาร หรือกำลังพลของกลาโหมในภาพรวมได้ แม้การลดลงของจำนวนชายฉกรรจ์ดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงในระยะเวลาอันใกล้ หากแต่ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตที่จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุสามารถส่งผลกระทบต่อปัจจัยนำเข้าสู่กิจการทหารโดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันในด้านคุณภาพของชายไทยที่มีอายุย่างเข้าสู่วัยแรงงานเพื่อเข้ารับการฝึกและเรียนรู้เทคโนโลยีทางทหารที่เปลี่ยนไปในโลกปัจจุบัน

 

ข้อมูลประกอบการเขียน
http://en.wikipedia.org/wiki/Conscription
มาตรการในการพิจารณาแก้ไขการเกณฑ์ทหารตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479 (พันตรีจารุพล พงษ์สุริยา, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา 2546)
วารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2557
เอกสารประกอบการอบรมวิชากฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารสำหรับข้าราชการสายงานสัสดี (กองวิชาการสัสดี ส่วนการศึกษาโรงเรียนการกำลังสำรอง ศูนย์การกำลังสำรอง)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: