สำรวจกิจการแรงงานข้ามชาติ-เงินสะพัด ใช้ชื่อคนไทยบังหน้า-จ่ายส่วยกว่าสิบแห่ง

อนุพงษ์ จันทะแจ่ม : 31 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2795 ครั้ง

การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี   จากการสำรวจจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไทย พบว่า ข้อมูลสถิติจากสำนักบริหารการทะเบียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2557  ได้สรุปยอดรวมการจดทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น 1,533,675 คน  แยกเป็นรงงานชาติต่างๆโดยมีพม่า 623,648 คน  /  กัมพูชา 696,338 คน  / ลาว 213,689 คน กับผู้ติดตาม 92,560 คน (เมียนมาร์ 40,801 คน / กัมพูชา 42,609 คน  / ลาว 9,150 คน)  มีนายจ้างรวม 315,880 ราย   โดยจังหวัดที่จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  319,143 คน  / ชลบุรี 141,913 คน  และสมุทรสาคร 98,357 คน และหากรวมตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่เดิมแล้ว  ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติรวมทั้งสิ้น  2,748,395  คน

จำนวนแรงงานข้ามชาติกว่าสองล้านคนในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเขตปริมนฑล  แรงงงานข้ามก่อให้เกิดความต้องการด้านอุปโภคบริโภคสิ้นค้าจากประเทศบ้านเกิดเป็นจำนวนมาก  แรงงานข้ามชาติหลายคนจึงผันตัวเองจากแรงงานในภาคอุตสาหกรรม  มาเป็นผู้ประกอบการข้ามชาติ  เปิดร้านขายสินค้าที่รับมาจากประเทศบ้านเกิด โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า ซึ่งกว่าร้อยละ 60 เป็นแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์มอญ

หลากหลายกิจการ ร้านชำ รถเร่

จากการลงพื้นที่สำรวจในเขตอุตสาหกรรม ในกรุงเทพฯ ที่แรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  และเป็นที่ตั้งของร้านค้าที่ผู้ประกอบการเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า พบว่า ผู้ประกอบการข้ามชาตินั้นมี  2 ประเภทปะรเภทแรกคือ  ร้านค้าที่มีที่ตั้งแน่นอนหรือมีที่ประจำ  ส่วนของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นของกินของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ที่ผลิตขึ้นในไทย นอกจากนี้ยังมีสินค้าเฉพาะของชาวมอญ  เช่น  ถั่ว หมากพลู ใบชา เส้นหมี่สำเร็จรูป เครื่องปรุงรสแบบมอญ และของใช้ทั่วไป  เช่น สบู่ ยาสระผม ที่นำเข้ามาจากฝั่งพม่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแรงงานมอญข้ามชาติที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในร้าน

ประเภทที่สองคือ ผู้ประกอบการที่ไม่มีหน้าร้านหรือไม่มีที่ตั้งร้านอย่างถาวร  จะเร่ขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ พวกเขามักจะปรากฏตัวในงานสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย  เช่น งานเทศนาของพระชื่อดังจากฝั่งมอญ งานวันรำลึกชาติมอญ  เป็นต้น  หรือตั้งแผงสินค้าขายตามตลาดนัด  ซึ่งมักเป็นสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประจำถิ่น หรือเป็นรถเร่ขาย  เช่น รถเร่ขายน้ำหวาน   ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านก็ขึ้นอยู่กับสินค้าที่ขาย  หากขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  ลูกค้าจะเป็นชาวมอญข้ามชาติเป็นกลุ่มหลัก  ปะปนกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ แต่หากเป็นรถเร่ขายอาหาร  กลุ่มลูกค้าก็จะหลากหลายมากขึ้น

เงินหมุนเวียนกว่า 18 ล้านบาทต่อปี

สำหรับผู้ประกอบการข้ามชาติที่มีหน้าร้านประจำนั้น  เช่น ร้านชำ ลูกค้าส่วนใหญ่คือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงาน   ‘หวาน’ แม่ค้าชาวมอญจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ผู้ประกอบการในชุมชนบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร อธิบายว่า การบริโภคของคนพม่ากับคนมอญนั้นต่างออกไปจากคนไทย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ เช่น เสื้อผ้า เพราะพวกเขาต้องการกินอาหารรสชาติเดิม ๆ ที่ตัวเองคุ้นเคย  ต้องการสวมใส่เสื่อผ้าแบบมอญเหมือนอยู่ฝั่งพม่า และสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถหาได้ในร้านค้าชาวไทย  จึงจำเป็นต้องนำมาจากพม่าเพราะแม่ค้าคนไทยไม่เอามาขายในร้านค้าปลีก  ผู้ค้าอย่างเธอจึงต้องสั่งโดยตรงจากเพื่อนที่เดินทางกลับฝั่งพม่า ขณะที่ต้นทุนในการซื้อสิ้นค้าเพื่อนำมาขายในแต่ละเดือน  เฉพาะร้านของ’หวาน’ จะอยู่ที่ 15,000 บาท

ผู้ประกอบการข้ามชาติให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงต้นทางของสินค้าข้ามแเดนเหล่านี้ว่า  เกือบทั้งหมดรับจากพ่อค้าขายส่งสินค้าหนีภาษีที่โกดังแห่งหนึ่งใน เขตมหาชัย จ.สมุทรสาร  ซึ่งเจ้าของคลังสินค้าเป็นนายทุนชาวไทย  สินค้าเหล่านี้ถูกนำเข้ามาทาง อ.แม่สอด จ.ตาก  และจะถูกสต๊อกเก็บไว้ที่มหาชัย  หลังจากนั้นผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคน “ต่างด้าว” จะมารับสินค้าไปขายต่อ  ผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศจากกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล สินค้าเหล่านี้จะถูกกำหนดราคาใหม่ให้แพงขึ้นจากที่ซื้อในราคาถูกในฝั่งพม่า ในแต่ละเดือนจะมีร้านค้าปลีกประมาณ 100 ร้าน เข้ามารับสิ้นค้าจากคลัง  หากคิดจากต้นทุนต่อเดือนที่ 15,000 บาท  เท่ากับว่าคลังสินค้าต้นทางจะมีเงินหมุ่นเวียนเดือนละ 1.5 ล้านบาท  หรือราว 18 ล้านบาทต่อปี

เลี่ยงกฎหมายต่างด้าว ตั้งกิจการผ่านนายหน้า

การเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย  เนื่องจากข้อกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานข้ามชาติ หรือที่รัฐไทยเรียกว่า “คนต่างด้าว” ทำงาน ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522  โดยมีงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำอยู่ 32 ประเภท ตัวอย่างเช่น งานกรรมกร งานบ้าน งานขับขี่ยานยนต์หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ  งานขายของหน้าร้าน  งานเร่ขายสินค้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น และตามมติคณะรัฐมนตรีได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ทำงานได้เพิ่ม 2 อาชีพ คือ 1. งานกรรมกร และ 2. งานบ้าน 

อย่างไรก็ตาม  แม้การเป็นผู้ประกอบการของแรงงานข้ามชาติจะไม่ใช่เรื่องถูกกฎหมาย  แต่ก็สามารถประกอบกิจการได้โดยอาศัยนายหน้าที่เป็นคนไทย  วิธีการคือ นำชื่อของผู้ที่ต้องการจะค้าขายเข้าในทะเบียนบ้านชาวไทยเพื่อให้ได้สิทธิการเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง  จากนั้นนายหน้าจะเดินเรื่องเปิดร้านจดทะเบียนเป็นกิจการที่ดำเนินงานโดยคนไทยและมีลูกจ้างเป็นแรงงานข้ามชาติ  และในแต่ละเดือนผู้ประกอบการข้ามชาติเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าราวเดือนละ 700 –1,000 บาท  กรณีของ’หวาน’ นั้นถือได้ว่าโชคดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่น  เนื่องจากรู้จักเป็นการส่วนตัวกับชาวไทยเชื้อสายมอญ จึงขอความช่วยเหลือให้นำชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นายหน้าชาวไทยรายหนึ่งเล่าว่า  ตัวเขามีเครือข่ายทางสังคมอย่างกว้างขวาง เพราะมีตำแหน่งทางการเมืองทำไห้เขาสามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่หรือนายทุนคนไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นายหน้ายังช่วยดูแลเรื่องอื่น ๆ เช่น การซื้อรถ  การทำธุรกรรมทางการเงิน  การประสานกับเจ้าหน้าที่ทางการ เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการชาวมอญประกอบอาชีพได้อย่างสะดวก

จ่ายส่วยกว่าสิบหน่วยงาน สูงถึงเดือนละหมื่นบาท

“เรียกค่าไถ่” เป็นคำที่ใช้กันในหมู่คนมอญที่ทำร้านค้า ซึ่งหมายถึงการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้ารัฐ  ผู้ประกอบการราย เดิมเล่าว่า นอกจากต้นทุนค่าเช่าร้านเดือนละ 11,000 บาท  ตั้งแต่เปิดกิจการ  เธอยังต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกกว่า 10 แห่งในพื้นที่ ตั้งแต่โรงพักในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เรียกรับเงินบ่อยที่สุด  เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่จาก กทม.  เจ้าหน้าที่ทหาร  เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกลาง  เจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น.  นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ข้ามมาจากเขตอื่น ๆ โดยข้ออ้างหลักที่ใช้เรียกรับเงินคือ  เป็นการเปิดกิจการผิดกฎหมาย  และสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่มีสัญลักษณ์รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

จำนวนเงินที่เรียกเก็บจะเท่ากันในแต่ละหน่วยงาน คือ 500 บาท  สำหรับเจ้าหน้าที่หนึ่งคน ซึ่งหากหน่วยงานใดมีเจ้าหน้าที่มามากกว่าหนึ่งคน ก็ต้องจ่ายให้ครบทุกคน  ซึ่งในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายประจำสำหรับเงินเรียกค่าไถ่ประมาณ 4,000 บาท  ขณะที่บางหน่วยงานขอให้จ่ายตรงให้กับ “นาย” เดือนละ 500 บาท โดยไม่ต้องผ่านลูกน้อง และจะออกใบรับรองให้กับร้านที่จ่าย  เพื่อแก้ปัญหาการเรียกเก็บซ้ำจากหน่วยงานเดียวกัน  ขณะความไม่แน่นอนของเงินเรียกค่าไถ่ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน กลับมีสูงเช่นกัน เพราะบางเดือนถูกเรียกเก็บจากหน่วยงานเดียวถึงหมื่นบาท

การเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เพียงแต่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  แต่ยังสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเม็ดเงินที่สะพัดในระบบเกือบยี่สิบล้านบาท  ทั้งเงินในระบบผ่านการประกอบกิจการและเงินนอกระบบที่ถูกเรียกเก็บจากเจ้าหน้าที่รัฐ

กลุ่มผู้ประกอบการชาติพันธุ์มอญส่วนใหญ่นั้นข้ามแดนมาจากรัฐมอญทางตอนใต้ของประเทศพม่า ภูมิหลังของกลุ่มชาติพันธ์มอญส่วนใหญ่ ข้ามแดนมาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในรัฐมอญ ก่อนนั้นขณะที่อยู่ฝั่งพม่าพวกเขาทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็พอเลี้ยงตัวเองได้แต่ไม่สามารถเป็นรายได้หลักของครอบครัว ในปัจจุบันกลุ่มชาติพันธ์มอญกลุ่มนี้ได้กลายเป็นผู้ประกอบการในชุมชนบางกระดี่ การเลือกใช้ชีวิตเป็นผู้ประกอบการที่ชุมชนบางกระดี่ ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

1. บริเวณชุมชนบางกระดี่ มีแรงงานชาวมอญและชาวพม่าที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมอาศัยอยู่จำนวนประมาณ 2,000 คน เนื่องจากเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายโรง  เช่น โรงงานฮาตาริ การที่มีแรงงานมอญในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศของตนสูง และมีกำลังซื้อจำนวนมากด้วย

 2. บางกระดี่เป็นชุมชนที่มีคนไทยเชื้อสายมอญอาศัยขนาดใหญ่  เป็นชุมชนที่มีภูมิหลังที่สัมพันธ์กันทางชาติพันธุ์ ระหว่าง “มอญไทย” กับ “มอญข้ามชาติ”  รวมถึงเป็นที่ตั้งของสมาคมไทยรามัญ  ที่เป็นศูนย์กลางของการพบปะแลกเปลี่ยนหรือกระทั่งเรียนหนังสือของลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์มอญข้ามชาติ   นอกจากนี้พื้นที่ชุมชนบางกระดี่ก็เป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษามอญในการสื่อสาร  จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นชุมชนของคนมอญ  

อ่าน 'จับตา': “จำนวนผู้ประกอบการต่างด้าวในประเทศไทย"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6030

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: