เกาะติดเส้นทางก่อนประชามติ 7 สิงหา  รัฐโหมรณรงค์-สั่งการ-ปูพรมทั่วปท.

ทีมข่าว TCIJ 31 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2195 ครั้ง

หลังวันที่ 20 เม.ย. 2559 ที่มีประกาศราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ ในประเด็น 1. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... ทั้งฉบับ และ 2. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ “ท่านเห็นชอบ หรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา หน่วยงานต่าง ๆ  ของภาครัฐก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), กระทรวงมหาดไทย, กระทรวง ศึกษาธิการ, กองทัพ และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น   TCIJ จึงรวบรวม ‘แผนงาน’ และ ‘กลยุทธ์’ ต่าง ๆ ของภาครัฐที่น่าสนใจ กับความพยายามกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิในวันลงประชามติให้ได้มากที่สุด

ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.)

โมเดล ‘ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล’ หรือ ศส.ปชต. นี้เกิดขึ้นจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตั้งแต่ปี 2557 มาแล้ว ทั้งนี้ในแรกเริ่มนั้น ศส.ปชต. ถูกวางตัวให้เป็นกลไกสำคัญในการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ฉบับของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. (อ่านเพิ่มเติม: ผ่าแผนศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล) แต่ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช. เอง ต่อมาในปี 2559 หลังจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2559 โดย กรธ. แล้วเสร็จ และเดินหน้าเข้าสู่โหมดประชามติ ศส.ปชต. ถูกปัดฝุ่นกลับนำมาใช้และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการรณรงค์เนื้อหาร่าง รธน. ฉบับปี 2559 นี้ในท้องถิ่นต่าง ๆ

ครู ก. ข. ค.

‘วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ครู ก. ครู ข. และ ครู ค.’ เป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนสำคัญของ กรธ. ในการเผยแพร่ร่าง รธน. ฉบับปี 2559 นี้ ซึ่งแรกเริ่มในการคัดเลือกระดับจังหวัดนั้น 'ครู ก.' จะมีจังหวัดละ 5 คน มีคุณสมบัติสำคัญ คือเป็นคนดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย มีความเป็นกลางทางการเมือง รวมทั้งมีทักษะทางการพูด หรือเคยเป็นวิทยากรมาก่อน นำมาฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยอบรมที่ส่วนกลาง (อบรมไปแล้วเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา) หลังจากนั้น ครู ก.จะนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปให้กับวิทยากรระดับอำเภอและองค์กรชุมชน หรือ 'ครู ข.' อีกทอดหนึ่ง และจากนั้นช่วงเดือน มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ครู ข. ก็จะไปอบรม วิทยากรระดับหมู่บ้าน หรือ 'ครู ค.' เพื่อทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตยระดับหมู่บ้าน 4 คน โดยระดับหมู่บ้าน จะเน้นยุทธศาสตร์วิธีการแบบเดินเคาะประตูบ้านตามครัวเรือนต่าง ๆ โดยมีกำหนดการเริ่มรณรงค์ในชุมชนในวันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป

บทบาทของกองทัพ : ขยันขันแข็งถึงขั้น ‘ส่งทหารไปดำนา’ และ ‘ขบวนการ รด.จิตอาสา’

ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 27 เข้าช่วยราษฎรลงแขกทำนาข้าวที่ ต.ธวัชบุรี อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
หนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติของกองทัพ (ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท)

‘รด.จิตอาสา’ โครงการที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของ คสช. ในการรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญของกองทัพอีกหน่วยหนึ่ง (ที่มาภาพ: esanguide.com)

ในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่ากองทัพโดยเฉพาะกองทัพบก ได้แสดงตน ‘ออกหน้า’ แบบไม่เคอะเขินมากกว่าครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2550 นอกจากการให้กำลังพลลงพื้นที่รณรงค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ (เช่น การช่วยชาวบ้านดำนา) แล้วยังพบว่า บ่อยครั้งกองทัพยังทำตัวเป็น ‘เจ้าภาพ’ แทน กกต. ในการอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งให้แม่ทัพภาคและรองแม่ทัพภาคลงพื้นที่เพื่อ ‘กำชับ’ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดต่าง ๆ ให้จัดการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่าง‘ราบรื่น’ และ ‘มีประสิทธิภาพ’  ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นโดย TCIJ พบว่าในภาคอีสานนั้น การอบรมและการลงพื้นที่กำกับโดยกองทัพมีบ่อยครั้งที่สุด โดยระหว่างวันที่ 20 เม.ย. – 20 ก.ค. 2559 มีไม่ต่ำกว่า 6 ครั้งเลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม: ไทม์ไลน์รณรงค์ประชามติ รธน. จากภาครัฐ ระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-20 ก.ค. 2559) 

ส่วนโครงการ ‘รด.จิตอาสา’ ซึ่งเป็นโครงการของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์และสนับสนุนงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล โดยวัตถุประสงค์การจัดตั้งแรกเริ่มได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "รด.จิตอาสา ต้องสามารถติดต่อได้ ควบคุมได้ และใช้งานได้" (อ่านเพิ่มเติม: กรอบและแนวทางการปฏิบัติงาน “รด.จิตอาสา”) โดยหลังประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดวันลงประชามติแล้วนั้น รด.จิตอาสา ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของกองทัพในการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ การลงพื้นที่รณรงค์ของ รด.จิตอาสา ก็มีในหลายพื้นที่ เช่น กทม.และปริมณฑล จ.ตาก, จ.เชียงใหม่, จ.หนองคาย, จ.อุดรธานี, จ.บึงกาฬ, จ.หนองบัวลำภู จ.นครปฐม และ จ.อยุธยา เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมจากสำนักข่าวประชาไท: ปูพรมถึงบ้าน ทหารช่วยดำนา-รด.อาสา-ปลูกป่า ชวนคนมาลงประชามติ)

การใช้บุคลากรด้านการศึกษาและนักเรียนในการรณรงค์ประชามติ

‘คู่มือครูและคู่มือนักเรียน’ อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการใช้นักเรียนร่วมรณรงค์ประชามติของภาครัฐ

นอกเหนือจากการผนึกกำลังกันระหว่าง กกต. และ กศน. ในโมเดลของ ศส.ปชต. และ ครู ก. ข. ค. ของ กรธ. แล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็ยังถูกมอบหมายภารกิจการรณรงค์ประชามติผ่านสถานศึกษา บุคลากร ครู-อาจารย์ รวมถึงนักเรียน ในการรณรงค์ครั้งนี้ด้วย ในหลายจังหวัดพบว่า กกต. ได้อบรมให้ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน และในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ ซึ่งได้มีการออกคู่มือสำหรับครูและนักเรียนใช้เป็นแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ เพื่อประกอบกิจกรรม '6 สัปดาห์ประชามติ' (อ่านเพิ่มเติม: คู่มือสำหรับครูและนักเรียนใช้เป็นแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ)

รวมทั้งกิจกรรมส่งตรงถึงผู้ปกครองอย่างกิจกรรม ‘ส่งเสริมการอ่านให้บุตรหลานอ่านร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้ปกครองฟังก่อนลงประชามติ' โดยให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้อ่านและทำความเข้าใจสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้ปกครองฟัง เนื่องจากผู้ปกครองจะไม่ค่อยมีเวลาว่างอ่านรัฐธรรมนูญก่อนจะลงประชามติด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมอื่น ๆ

ยุทธศาสตร์ 'ดอกไม้ 65 ล้านบานสะพรั่ง': เป็นแผนงานของ กกต. ที่ได้เตรียมมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 โดยจะแบ่งการรณรงค์เป็น 3 ระยะ นับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศกำหนดวันออกเสียงจนถึงวันออกเสียงประชามติ มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในการรณรงค์จัดการเลือกตั้ง และการตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เช่น แอปพลิเคชัน’ดาวเหนือ’ ให้รายละเอียดหน่วยลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียง แอปพลิเคชัน’ตาสับปะรด’ ใช้แจ้งเบาะแสทุจริต และแอปพลิเคชัน    ’ฉลาดรู้’ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในแรกเริ่มนั้น กกต. ระบุว่าเมื่อปี 2550 มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 57 ขณะนั้นมีผู้มีสิทธิประมาณ 40 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีในวันออกเสียงประชามติ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงด้วยทำให้มียอดผู้มีสิทธิเพิ่มขึ้นอีก 8 แสนคน รวมแล้วมีผู้มีสิทธิในการออกเสียงครั้งนี้ 50 ล้านคน ซึ่ง กกต. คาดหวังว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะรณรงค์ให้คนมาใช้สิทธิเกินกว่าร้อยละ 57 ให้ได้

เสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวหมู่บ้าน อุปกรณ์สื่อสารของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในชนบท
(ที่มาภาพ: สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม)

‘เสียงตามสาย’ อุปกรณ์สุดคลาสสิคของชนบทไทย : กระทรวงมหาดไทยได้ขอความร่วมมือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วประเทศ ใช้สื่อเสียงตามสายเพื่อการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน และสร้างการรับรู้สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กรธ.ยังได้จัดทำสคริปต์ให้ผู้ใหญ่บ้านพูดประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายจากวิทยุชุมชน รวมทั้งมีการแจกคลิปเพลงที่ประพันธ์และขับร้องจากศิลปินที่ให้ความร่วมมือแต่งเพลงเกี่ยวกับสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ คือ ภาคกลางเป็นเพลงแหล่และเพลงโทนของชินกร ไกรลาศ, ภาคใต้เป็นเพลงของเอกชัย ศรีวิชัย, ภาคอีสานเป็นเพลงหมอลำของจินตหรา พูนลาภ และภาคเหนือเป็นเพลงสะล้อ ซอ ซึงของธีรวัฒน์ หมื่นทา ศิลปินพื้นเมือง

ผู้เข้าประกวด มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2016 เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ กรธ. ไผให้ความเรื่องรู้ร่างรัฐธรรมนูญ
(ที่มาภาพ: Miss Universe Thailand FanPage)

กรธ. ให้ความรู้ผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส : ต้นเดือน ก.ค. 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ไปบรรยายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2016 โดยหวังให้ผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์    ยูนิเวิร์ส 2016 นำไปสร้างความเข้าใจให้ประชาชน

มอบใบประกาศอายุ 'น้อยสุดมากสุด' ที่ไปลงประชามติ  ปิดท้ายด้วยไอเดียเก๋ ๆ ของ จ.นครศรีธรรมราช ที่เตรียมมอบใบประกาศนียบัตรและรางวัลให้ผู้ที่มีอายุมากที่สุดและอายุน้อยที่สุด ของผู้ที่ที่ออกไปลงประชามติ 7 สิ.ค. 2559 นี้

อ่าน 'จับตา': “ไทม์ไลน์รณรงค์ประชามติ รธน. จากภาครัฐ ระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-20 ก.ค. 2559"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6331

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: