(อ่านข่าวเดิม 'หลุด!เอกสารฝ่ายPRธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ')
ปูมหลังของข่าว-บริษัทใหญ่จ่ายเงินสื่อ
รายงานข่าวของ www.tcijthai.com ชิ้นดังกล่าว ทำให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมและตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้น 6 คน มีนายสัก กอแสงเรือง อดีต ส.ว.และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำหน้าที่เป็นประธานเพื่อสอบสวนกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชน เพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ
สำนักข่าวอิศราระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสระฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีนี้แล้ว โดยแยกประเด็นออกเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของบริษัทเอกชน พบว่า มีหลักฐานยืนยันการจ่ายเงินในรูปของใบเสร็จรับเงิน จากบริษัทของสื่อมวลชนครบถ้วน และมีการระบุว่าเป็นการจ่ายเงินค่าโฆษณา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเห็นว่างบดังกล่าวไม่ใช่งบโฆษณาปกติ แต่เป็นงบสนับสนุนพิเศษ อาจเป็นการซื้อพื้นที่สื่อมากกว่า (ตัวเน้นโดยสำนักข่าวอิศรา)
ในส่วนของสื่อมวลชนนั้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ควรมีการเสนอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กำหนดกรอบให้องค์กรสื่อในสังกัดให้กำหนดเส้นแบ่งระหว่าง กองบรรณาธิการ และฝ่ายธุรกิจโฆษณาให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะการให้บรรณาธิการเป็นผู้ติดต่อขอโฆษณาจากบริษัทต่างๆ อาจเป็นการไม่เหมาะสมและเข้าข่ายขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพได้ ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพทั้งสองแห่งต้องนำเข้าพิจารณาในกรรมการสภาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
(อ่าน 'คกก.อิสระสรุปผลปมบิ๊กสื่อ 19 ราย รับเงิน'ซีพีเอฟ' เสนอขีดเส้นการทำงาน บก.-โฆษณา')
ความเห็นต่อ ‘การซื้อพื้นที่สื่อ’ และบทสรุปของกาลเวลา
ในขณะที่คณะกรรมการดังกล่าว ยังไม่มีการแถลงผลสอบอย่างเป็นทางการ TCIJ ได้สอบถามไปยัง ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขออรรถาธิบายว่า ‘การซื้อพื้นที่สื่อ’ ที่ระบุในผลสอบนี้หมายถึงอะไร และในมุมของผู้บริโภคข่าวสาร จะรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ผ่านวาทกรรมนี้อย่างไร
ผศ.ดร.พิรงรอง ให้ความเห็นว่า “มันก็เป็นคำกลางๆ ทำให้ต้องตีความ แต่ก็ยอมรับว่ามีการซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ขององค์กร เดี๋ยวนี้การซื้อสื่อขององค์กรธุรกิจไปไกลมาก มีการวางแผนอย่างเป็นระบบเป็นองค์รวม ร้อยเรียงเอาสื่อหลากหลายประเภทเข้ามา ทั้ง new media และ Blog หรือรวมถึงตัวบุคคล มีทั้งวิธีทำข่าวแฝงโฆษณา ทั้งการทำโฆษณาฝังในข่าว เขาเรียกกันว่า วารสารศาสตร์ตราสินค้า หรือ Brand Journalism แต่ในต่างประเทศ อย่าง South China Morning Post หรืออย่างนิตยสาร Fortune เขาทำ Brand Journalism แยกฉบับแยก section หรือพิมพ์แบบ Special publication ให้องค์กรธุรกิจกันเลย”
“ทั้งนี้ก็เพราะผู้บริโภคฉลาดขึ้น รู้เท่าทันมากขึ้น ทำให้การซื้อสื่อต้องพลิกแพลงมากขึ้น ในขณะเดียวกันสื่อบ้านเราโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ก็กำลังอยู่ในภาวะอัศดง ต้องดิ้นรนกันมาก บางสำนักนี่นักข่าวต้องทำโปรเจคให้องค์กรด้วย เมื่อก่อนนี้ เราพูดกันเรื่องอุดมคติวารสารศาสตร์ ว่าคือผู้รายงานข้อเท็จจริง คือผู้ตรวจสอบ คือหมาเฝ้าบ้าน มันเป็น invisible wall ที่ตัวบรรณาธิการหรือตัวนักข่าว ต้องมีสำนึกเอง”
ผศ.ดร.พิรงรอง ทิ้งท้ายว่า “ยังไงก็ตาม เมื่อมาประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวแล้ว Ideal ของวารสารศาสตร์มันต้องมีบ้าง อย่างน้อยคือเรื่องของ conflict of interest ในส่วนของผู้บริโภคสื่อ ก็คงต้องมองสื่อในมิติทางธุรกิจให้มากขึ้นด้วย”
ทางด้าน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ The Nation ให้ความเห็นต่อประเด็น “การซื้อพื้นที่สื่อ” ว่า “โดยถ้อยคำแล้วไม่เข้าใจ จะเป็นการซื้อพื้นที่ ซื้อเวลา หรือซื้ออิทธิพลเหนือสื่อก็ได้ มันก็คือการซื้ออิทธิพลทางอ้อม ให้สื่อเสนอเนื้อหาของเขา content จากเขา หรือแม้แต่เสนอเรื่องของเขาด้วย mood ที่ทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าดี สิ่งเหล่านี้ทำกันมาหลายทศวรรษแล้วก็ว่าได้ อย่าว่าแต่ธุรกิจเอกชนเลย ทั้งหน่วยราชการ กระทรวงทบวงกรม ก็ใช้วิธีการสนับสนุนสื่อเป็นรายบุคคล เงินเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบหรอก แม้แต่การเลี้ยงดู การให้ของขวัญ การพานักข่าวไปทัวร์ต่างประเทศ เชิญสื่อทำข่าวอีเวนท์ มีของแจกของแถมล้นมือ นักข่าวก็ย่อมเขียนถึงในเชิง positive แน่นอน”
สุภลักษณ์ยังได้ตอบคำถามที่ว่า สื่อมวลชนมีอาชีวปฎิญาณและ มี code of conduct ทางวิชาชีพอยู่แล้วไม่ใช่หรือ สุภลักษณ์ตอบว่า “บางสำนักก็มี เช่น บอกว่าห้ามรับเงินสดจากแหล่งข่าว แต่ในทางปฏิบัติ มันกลายเป็นเรื่องที่ให้บรรณาธิการ หรือแม้แต่ตัวนักข่าวใช้ดุลยพินิจกันเอง ยิ่งถ้าเจ้าของสื่อเป็นเสียเอง หรือทำหลับตา นักข่าวเขาก็ไต่อยู่บนเส้นสีเทาอันนี้แหละ”
“พวกสื่อวิทยุนี่เราจะเห็นชัดเจนเลย นักจัดรายการอิสระไปขอสปอนเซอร์เอง แล้วมาพูดแทรกในรายการ เหมือนว่าเป็นเนื้อหาของรายการ มีการจัดรายการชิงโชค ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวสินค้าและสปอนเซอร์ เยอะแยะ” สุภลักษณ์ทิ้งท้ายว่า “ข่าวเรื่องบริษัทเกษตรใหญ่จ่ายเงินสื่อ มันก็คือการใช้ soft power นั่นเอง”
ในส่วนของสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ ‘ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง’ หรือ TCIJ และบรรณาธิการบริหาร www.tcijthai.com ซึ่งรายงานข่าวเจาะชิ้นนี้ จนเป็นที่มาของการตรวจสอบที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี ได้ให้ความเห็นว่า “สำหรับเรา พื้นที่สื่อไม่ใช่แค่ media space แต่คือ public sphere ต่างหาก ถ้าคิดว่ามันเป็นแค่พื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือพื้นที่เวลาในรายการวิทยุ มันก็เป็นของสำนักสื่อเองแน่นอน ซึ่งจะเอาไปขายใครขายยังไงก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับผู้บริโภคสื่อ แต่ถ้าสื่อมีปณิธานว่า สื่อเป็น media ซึ่งคือ medium ‘พื้นที่สื่อ’ ก็เป็นสมบัติร่วมกันของคนในสังคมที่เข้าถึงสื่อของคุณ จะเอาสมบัติส่วนกลางหรือ public sphere นี้ไปเอาประโยชน์เข้าตัวอย่างไม่โปร่งใส ไม่บอกให้ผู้บริโภคสื่อรู้เนื้อรู้ตัวบ้างเลยอย่างนั้นหรือ”
“ดิฉันก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ข้อมูลพันกว่าหน้าที่ได้มานี้เป็นเอกสารภายในจริง การที่ทางบริษัทนั้นออกมาแถลงข่าวในทันที ก็แสดงแล้วว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้เป็นของเขาจริง รวมทั้งดิฉันได้ทำจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการไปแล้ว (อ่าน จดหมายเปิดผนึก 'TCIJตอบสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอข้อมูลรายชื่อสื่อรับเงินธุรกิจใหญ่') ส่วนใครจะจำนนต่อหลักฐานหรือจะแก้เก้อกันอย่างไร ก็ให้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคสื่อจะตัดสิน”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ