สำนึกของความเป็นคนส่วนใหญ่ของแรงงาน

พจนา วลัย นักกิจกรรมแรงงาน 1 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2786 ครั้ง


การปกครองด้วยมาตรา 44 ทำให้เราได้เห็นการอวดเบ่งอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน การใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างอาณาจักรของกองทัพ ซื้อเรือดำน้ำแสดงแสนยานุภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กลไกปราบปราม พร้อมกับวางแผนสืบทอดอำนาจต่อด้วยสโลแกน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วประชาชนคนส่วนใหญ่จะได้อะไรจากผู้นำเหล่านี้ หรือจะสูญเสียอะไรเพื่อแลกกับความมั่นคงของรัฐ

อาจจะมีประชาชนบางกลุ่ม แรงงานบางส่วนรอ “ส้มหล่น” จากพลพรรคของผู้นำทหาร ส้มลูกเล็กที่ไม่เพียงพอสำหรับอีกหลายคน ไม่ใช่การกระจายความมั่งคั่ง ดังเห็นได้จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 1-10 บาทให้คนงานมีชีวิตรอดแบบวันต่อวัน หลักคิดเดียวกันกับการขึ้นเงินเดือน การรับเหมางาน  ทว่าคนไม่สามารถอยู่รอดได้เพียงเพราะส้มหล่น/น้ำล้นแก้วโดยไม่มีอำนาจในการต่อรอง กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

แรงงานคือพลังการผลิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ที่ผลิตตั้งแต่เครื่องมือเทคโนโลยี เครื่องอุปโภคบริโภค และงานภาคการบริการด้วยกำลังสมองและร่างกาย จึงเป็นคนส่วนใหญ่ภายใต้ระบบการจ้างงานที่หลากหลายรูปแบบขึ้น และการเคลื่อนไหวเรียกร้องสภาพการจ้างงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ค่าจ้างและสวัสดิการที่ผ่านมาให้ประโยชน์แก่แรงงานทุกภาคส่วนนับสิบๆ ล้านคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย รวมถึงพนักงานของรัฐด้วย

กล่าวคือ คนทำงานไม่ใช่เป็นเพียงคนทำงานให้นายจ้าง แต่ยังเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่คำนึงถึงเรื่อความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งผู้มีอำนาจพยายามจะตัดปัจจัยนี้ออกจากกระบวนการโดยยกร่าง-จัดทำกฎหมาย และออกนโยบายต่างๆ ให้เหลือเพียงปัจจัยที่เอื้อต่อรัฐและทุน เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และได้โฆษณาป่าวประกาศว่าได้รับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง หลายๆ ฝ่าย หลายพรรคการเมืองต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนยังคงไม่มีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมโต้แย้งและเสนอหนทางที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

โดยหลักการ การบริหารประเทศที่เป็นธรรมในด้านเศรษฐกิจการเมือง ต้องประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย (คล้ายระบบไตรภาคี) คือ รัฐ ทุน และประชาชน/แรงงาน ที่มาจากการเลือกตั้งทุกระดับ แต่ในความเป็นจริงสังคมไทยยังไม่เป็นดังว่า เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีปัญหาและจุดอ่อน คือ

ฝ่ายรัฐ  เต็มไปด้วยการใช้อำนาจแบบมาเฟีย ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สร้างอาณาจักรของพวกพ้องตัวเองที่ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ และสมควรถูกแทนที่ด้วยระบบการเลือกตั้งตัวแทนของประชาชนเข้าไปบริหารในอนาคต

ฝ่ายทุน มีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมนายจ้าง เป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการตอบโต้รับมือกับสหภาพแรงงาน และเป็นพรรคการเมือง แม้นว่าระบบทุนนิยมจะเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง แต่ในที่สุดก็ร่วมมือกันเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายแรงงาน  เท่าที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างแรงงานกับทุนยังคงทำให้แรงงานอ่อนแอ แข่งขันกันเอง ส่วนทุนแสวงหากำไรได้สะดวก โดยกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ของพวกทุนในแนวเสรีนิยมกลไกตลาด ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหย่อนยานกับฝ่ายทุน ไม่ควบคุมมาตรฐานและเกิดผลร้ายต่อชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม

ฝ่ายแรงงาน มีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน หรือสร้างเครือข่าย สมาคมวิชาชีพด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่การเป็นสมาคมไม่ใช่เพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการ หรือเพิ่มอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ปัญหาที่พบคือ ความหมายของคำว่า “แรงงาน” คลุมแคบเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และบางส่วนของงานบริการ แต่ไม่คลุมครอบถึงคนที่มีรายได้จากการทำงานในภาคอื่นๆ เช่น กลุ่มครูผู้สอน และนักค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมสมัยใหม่ แรงงานอาชีพในภาคบริการสมัยใหม่ เช่น ศิลปิน พนักงานบริการทางเพศ และแรงงานในกลุ่มสื่อ ซึ่งไม่มีการรวมกลุ่มกัน           การจ้างงานมีหลายรูปแบบตามที่นายจ้างกำหนดฝ่ายเดียว กำหนดได้แม้กระทั่งไม่ทำสัญญาจ้างเป็นเอกสาร ไม่ต่อสัญญา จ้างงานระยะสั้น เหมาชิ้น เหมาช่วง ใช้นักศึกษาฝึกงานเยี่ยงลูกจ้าง ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อความสะดวกของตัวเอง ที่เลวร้ายคือไม่ให้สถานะลูกจ้างดังกรณีพนักงานบริการทางเพศตามสถานบันเทิง ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่สามารถรวมตัวกันต่อรองกับนายจ้าง

จากสามฝ่ายดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายแรงงานเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำมาตลอด เพราะยังตกอยู่ภายใต้มายาคติเรื่องการไต่เต้าสถานะ เลื่อนขั้นตำแหน่ง การแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน หลอกตัวเองว่าปัจเจกบุคคลจะสามารถต่อรองได้ และมีชีวิตที่มั่นคง ทั้งๆ ที่ระบบการจ้างงานไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีแต่เสียงพร่ำบ่นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งภาพรวมในระดับประเทศจะแก้ไขไม่ได้ หากไม่ทำอะไรสักอย่างในสถานที่ทำงานของตัวเอง

สิ่งที่ท้าทายของฝ่ายแรงงาน คือ ให้ใช้ความหมายของแรงงานที่ครอบคลุมทันสมัย ไม่ใช่คลุมแคบแบบเก่า เพื่อเข้ามารวมกลุ่มกันค้นหาพลังต่อรองของตัวเอง มีพรรคการเมือง มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เพราะรัฐไทยได้ร่วมมือกับทุนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองในลักษณะผูกขาดอำนาจ ฉวยโอกาสในเวลาที่ประชาธิปไตยกำลังอ่อนแอ ประชาชนแตกขบวน การสร้างความมั่นคงของรัฐและทุนจึงไม่ได้ตอบสนองต่อความมั่นคงในชีวิต สิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานตามระบอบประชาธิปไตย

เชื่อว่าสำนึกของความเป็นคนส่วนใหญ่ของแรงงานจะเกิดได้หากสามารถปรับวิธีคิดให้เข้าหากันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ

 

ด้วยความสมานฉันท์
วันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: