เผย 'โตโยต้า-ฮีโน่' เข้าพบ รมว.คมนาคม หลังเตรียมเปลี่ยนรถตู้เป็นโมโครบัส

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 13322 ครั้ง

เผย 'โตโยต้า-ฮีโน่' เข้าพบ รมว.คมนาคม หลังเตรียมเปลี่ยนรถตู้เป็นโมโครบัส

นโยบายชัดเจนเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะ 6,431 คัน เป็นรถโมโครบัสขนาด 20 ที่นั่ง รองอธิบดีขนส่งเผยต้นทุนผลิตสูงราคาเฉลี่ยคันละกว่า 2 ล้าน ต้องใช้เวลา 4 ปีถึงจะปิดฉากได้หมด ยักษ์ผู้ผลิตรถยนต์ 'โตโยต้า - ฮีโน่' เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สนใจจะลงทุนผลิตรถไมโครบัสเพื่อมารองรับนโยบายการปรับเปลี่ยนรถตู้ของรัฐบาล ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่าจากนโยบายเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 วิ่งบริการต่างจังหวัดรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 6,431 คันภายใต้การดูแลของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นรถไมโครบัสหรือมินิบัสแทนนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้า ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมากรมได้จ้างคณะวิศวกรรมฯด้านการขนส่งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษารายละเอียดโครงการแล้ว และมีข้อสรุปชัดเจนว่ารถตู้ไม่เหมาะจะนำมาเป็นรถโดยสารสาธารณะ

"ในผลศึกษามีข้อเสนอ เพราะการดำเนินการงานเกี่ยวพันกับหน่วยงานอื่น ถ้าหากรัฐต้องการให้เกิดขึ้นได้เร็วต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐควรมีมาตรการเยียวยาเรื่องภาษีนำเข้า และภาษีน้ำมันเพื่อลดต้นทุนเพราะรถมินิบัสจำนวน 20 ที่นั่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเรายังไม่พร้อม จริง ๆ มีผู้ประกอบการที่ผลิตรถยนต์ให้ความสนใจ แต่จะทอดเวลาให้ระดับนโยบายมีความชัดเจนและนิ่งก่อน เพราะราคาขายอยู่ที่กว่า 2 ล้านบาทต่อคัน จะแพงกว่ารถตู้ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1 ล้านบาทต่อคัน"

รองอธิบดีกรมการขนส่งฯกล่าวอีกว่า หากมีนโยบายให้ดำเนินการจริงจัง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนรถตู้จำนวน 6,431 คันเป็นรถบัสขนาดเล็กได้ภายใน 4 ปีนับจากปี 2560-2564 เนื่องจากในจำนวนนี้จะต้องมีรถตู้ที่มีอายุครบ 10 ปีที่ตามกฎหมายจะต้องปลดระวาง ซึ่งตามแผนจะทยอยนำรถไมโครบัสมาวิ่งบริการทดแทนไปจนครบทั้งหมด

ทั้งนี้ตามไทม์ไลน์ในปี 2560 จะเริ่มบังคับไม่ให้มีการนำรถตู้เข้ามาสู่ระบบเพิ่มอีก เพื่อจะได้ลดปริมาณและให้ออกจากระบบในปี 2562 และปี 2564 จะปิดฉากรถตู้วิ่งต่างจังหวัดทั้งหมด

"ตอนนี้ทุกอย่างรอนโยบาย เมื่อนโยบายนิ่งแล้ว เราจะเสนอแผนการจัดซื้อให้พิจารณา เบื้องต้นเราไม่อยากให้ซื้อรถจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว จะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตในประเทศด้วย"

นายเชิดชัยกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรถยนต์ เช่น บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เคยเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสนใจจะลงทุนผลิตรถไมโครบัสเพื่อมารองรับนโยบายการปรับเปลี่ยนรถตู้ของรัฐบาล

"ทางบริษัท ฮีโน่ฯ ที่เขาเคยแจ้งมาที่กระทรวงพร้อมจะผลิตในปีหน้า เขาศึกษาจะทำเป็นรถมินิบัสไฮบริด ตอนนี้เริ่มทดลองอยู่ที่ญี่ปุ่น หลังจากที่เขาทดลองในเมืองไทยเสร็จแล้ว ส่วนบริษัท โตโยต้า ขอให้นโยบายรัฐบาลมีความชัดเจน เขาก็พร้อมอยู่แล้วที่จะผลิต ที่ผ่านมาเขาผลิตที่ต่างประเทศอยู่แล้วยี่ห้อ Coaster หากมีตลาดก็สามารถนำมาผลิตในประเทศไทยได้และเคยเสนอกระทรวงคมนาคมมาแล้วเช่นกัน"

นายเชิดชัยกล่าวอีกว่าโดยภาพรวมการแก้ปัญหาการบริการด้านการขนส่งสาธารณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตร (ครม.) จัดตั้งกองทุนมาดูแลทั้งระบบ อย่างไรก็ตามที่ กำลังเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็วคือ จัดจุดจอดปลายทางของรถตู้วิ่งต่างจังหวัด จะต้องจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งเท่านั้น เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะอย่างเข้มข้นก่อนออกวิ่งให้บริการ เช่น ตรวจสภาพคนขับและรถ ซึ่ง บขส.ได้จัดไว้ให้กว่า 190 แห่งใน 30 จังหวัดที่อยู่รอบกรุงเทพฯ ระยะทางไม่เกิน 300 กม. เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง เป็นต้น หากไม่ทำตามเงื่อนไขจะต้องยกเลิกเส้นทางเดินรถดังกล่าว

"รถตู้ที่เราจัดระเบียบนี้ มีประมาณ 189 วิน ระดับนโยบายกำหนดกรอบเวลาเรื่องจุดจอดเช็กนี้ให้แล้วเสร็จ มี.ค. 2560 ทั้งหมด เพราะปลาย มี.ค.เป็นต้นไปจะบังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างเข้มข้น"

นอกจากนี้กรมยังได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพิ่มบทลงโทษให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น กรณีไม่มีใบขับขี่หรือไม่ใช่เจ้าของรถโดยตรง จากเดิมจะปรับแค่ 2,000 บาท จะแก้ให้สอดคล้องกับอัตราปรับของตำรวจ หากตรวจร่างกายพบสิ่งเสพติด ขับเร็ว ทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด จะพักใบขับขี่ 6 เดือนพร้อมเพิกถอน 3 ปี อีกทั้งบทลงโทษต่าง ๆ จะครอบคลุมถึงเจ้าของรถหรือผู้ประกอบการด้วย จากเดิมจะลงโทษเฉพาะคนขับอย่างเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: