รพ.นครแม่สอด ทุ่ม 300 ล้าน ผุดตึกใหม่รับผู้ป่วยเมียนมาเพิ่ม 50%

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3459 ครั้ง

รพ.นครแม่สอด ทุ่ม 300 ล้าน ผุดตึกใหม่รับผู้ป่วยเมียนมาเพิ่ม 50%

โรงพยาบาลนครแม่สอด อินเตอร์เนชั่นแนล ทุ่มทุนกว่า 300 ล้าน สร้างอาคารใหม่ 5 ชั้น รองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นอีก 20% ด้านชาวเมียนมาเข้ามารักษามากขึ้นกว่าเท่าตัว เผยจุดเด่นมีแพทย์เฉพาะทาง-บริการรวดเร็ว-ระยะทางใกล้ พร้อมจัดอบรมภาษาเมียนมาให้บุคลากร ที่มาภาพ: siripong pudontong

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายแพทย์สมเจตน์ จิตตการ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนครแม่สอด อินเตอร์เนชั่นแนล ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนครแม่สอด อินเตอร์เนชั่นแนล มีพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ ปัจจุบันมีเพียง 1 อาคาร และมีห้องพิเศษจำนวนน้อย ขณะที่ปริมาณผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการส่วนขยายก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 เป็นแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) และศูนย์ตรวจสุขภาพ ชั้น 2 เป็นห้องผ่าตัด 3 ห้อง และแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) 6 เตียง สำหรับชั้น 3-5 เป็นห้องพิเศษสำหรับผู้ป่วยใน ชั้นละ 20 ห้อง รวม 60 ห้อง บนเนื้อที่ 1,120 ตารางเมตร

โครงการดังกล่าวได้ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างปลายปี 2560 ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561 ใช้งบฯก่อสร้างและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ประมาณ 250-300 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากด้วย นอกจากนี้ยังคงหาแพทย์และพยาบาลมาเตรียมไว้ รวมถึงสอนภาษาเมียนมาให้กับพนักงานของโรงพยาบาล เนื่องจากมีผู้ป่วยชาวเมียนมาเข้ามารักษาจำนวนมาก

ทั้งนี้ในปี 2559 โรงพยาบาลมีผู้ป่วยนอกประมาณ 30,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 60% และเมียนมา 30-40% หรือประมาณ 600 คน/เดือน โดยเฉพาะชาวเมียนมาที่มีฐานะ ซึ่งส่วนใหญ่มารักษาในหมวดโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน ในสำหรับผู้ป่วยในมีจำนวนไม่มากนัก ขณะที่ปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยในส่วนของผู้ป่วยนอกเมียนมาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% หรือคิดเป็น 1,200-1,300 คน/เดือน และในอนาคตคาดว่าเมียนมาจะเพิ่มมากขึ้น

“โรงพยาบาลนครแม่สอด มีระยะทางใกล้กว่าการที่ชาวเมียนมาในจังหวัดเมียวดีและเมาะละแหม่งจะเดินทางไปรักษาที่จังหวัดย่างกุ้ง โดยตั้งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 ประมาณ 6 กิโลเมตร และห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ไม่เกิน 10 กิโลเมตร ทำให้ชาวเมียนมาที่มีฐานะเข้ามารักษาจำนวนมาก”

นายแพทย์สมเจตน์กล่าวต่อว่า จุดเด่นอีกอย่างคือ โรงพยาบาลมีแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคติดเชื้อ รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ ศัลยกรรมกระดูก สูตินรีแพทย์ อีกทั้งมีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างครบ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวนด์ 3 มิติ เครื่องตรวจความถี่หัวใจ วิ่งสายพานทดสอบหัวใจ ในอนาคตมีแผนที่จะซื้อเครื่องตรวจมะเร็งเต้านม (mammogram) อีกด้วย

นอกจากนี้ผู้ป่วยชาวเมียนมาที่มีฐานะมีความเชื่อมั่นในความสามารถของแพทย์ไทยมากกว่า และมองว่าจะได้รับบริการที่ดีกว่า ทั้งนี้โรงพยาบาลมีเอเยนซี่ในจังหวัดเมาะละแหม่ง ที่ทำหน้าที่แนะนำโรงพยาบาลและส่งคนไข้มารักษา รวมถึงการบอกปากต่อปาก ทำให้ชาวเมียวดีรู้จักโรงพยาบาลนครแม่สอดฯ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบุคลากรด้านการแพทย์ในบางสาขายังไม่เพียงพอ เช่น สูติแพทย์ ศัลยกรรมแพทย์ ขณะนี้จึงมีการชวนแพทย์จากโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐมาเป็นแพทย์พาร์ตไทม์ให้ และพยายามหาแพทย์ประจำด้วยการติดต่อกับราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล เช่น ด้านการตลาด หรือกรณีที่มีคนไข้ที่เกินความสามารถของโรงพยาบาล โดยจะส่งต่อไปในกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช เช่น สวนหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: