สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมฯ ขอโควต้านมโรงเรียน 70% หวั่นเปิดเสรีนมนอกทะลัก

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2772 ครั้ง

สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมฯ ขอโควต้านมโรงเรียน 70% หวั่นเปิดเสรีนมนอกทะลัก

สมาคมกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมและแปรรูปผลิตภัณฑ์นม หวั่นเปิดเสรีนมนอกทะลักทำเกษตรกรเดือดร้อน ชงคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมขอเพิ่มโควตาได้รับจัดสรรสิทธินมโรงเรียนไม่น้อยกว่า 70% ภายใน 5 ปี ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์นมได้ลดลงเป็น 0% แล้วตั้งแต่ปี 2553 ส่วนข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ภาษีจาก 5% จะลดเป็น 0% ในอีก 8 ปีข้างหน้า (ปี 2568) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยนั้น

นายสุรชัย ศิริมัย นายกสมาคมกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมและแปรรูปผลิตภัณฑ์นม เปิดเผยว่าล่าสุดทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการโคนม และผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ดได้พิจารณาจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน (มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี) ให้กับกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมและแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 70% ของสิทธิทั้งหมดในแต่ละปี หรือภายใน 5 ปีนับจากนี้ ทั้งนี้เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้มีหลักประกันด้านการตลาดนํ้านมโค ส่วนอีก 30% จัดสรรให้กับกลุ่มภาครัฐและเอกชน

“ข้อเสนอดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าสหกรณ์ ควรที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ไม่ใช่แข่งขันเสรี ดังนั้นควรที่จะปกป้องคุ้มครองเกษตรกร ปัจจุบันกลุ่มสหกรณ์ได้รับสัดส่วนโควตากว่า 40% ของการจัดสรรสิทธินมโรงเรียน”

นอกจากนี้ทางสมาคมขอสนับสนุนให้มีการพิจารณาขยายอายุสิทธิพิเศษให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นแกนกลางระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่านมโรงเรียนกับผู้ประกอบการที่ได้รับมอบอำนาจจาก อ.ส.ค.ในการเป็นคู่สัญญาซื้อขายนมโรงเรียนกับอปท.ด้วยวิธีกรณีพิเศษต่อไปอีก 5 ปีจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 (สิทธิพิเศษจะสิ้นสุด ก.ย.60)

ด้านนายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวว่า ได้เสนอหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนตามแนวทางที่มิลค์บอร์ด ได้ว่าจ้างศูนย์บริการทางวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเพื่อให้เป็นธรรมทุกฝ่าย โดยแบบจำลองของจุฬาฯ ได้แสดงปริมาณสิทธิการจำหน่ายที่ผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรในแต่ละกรณีเปรียบเทียบกับปริมาณเอ็มโอยู จะเห็นว่ามีการถูกลดทอนสิทธิในอัตรา 0.14% เท่ากัน (ดูกราฟิกประกอบ) แต่การปรับลดสิทธิจำหน่ายขึ้นอยู่กับปริมาณนํ้านมดิบที่ผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านคุณสมบัติด้านคุณภาพ นํ้านมดิบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จึงจะสามารถนำมาพิจารณาได้

ขณะที่นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน มิลค์บอร์ด กล่าวถึงปัจจุบันว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมี 1.6 หมื่นครอบครัว อยู่ในระบบสหกรณ์ประมาณ 1 หมื่นครอบครัว ส่วนอีก 6,000 ครอบครัวอยู่ในส่วนของโรงนมเอกชน มองว่าใครที่ดูแลเกษตรกรก็ควรที่จะได้รับจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนเช่นเดียวกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: