ทำไมการตรวจสอบประเมินโดยฝ่ายแรงงาน จำเป็นต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 1 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6650 ครั้ง

ทำไมการตรวจสอบประเมินโดยฝ่ายแรงงาน จำเป็นต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่เสินเจิ้น (Shenzhen) กวางตุ้ง (Guangdong) ประเทศจีน ผู้จัดการสวมชุดสีเหลือง พนักงานสวมแว่นป้องกันแสงจ้า ที่มาภาพ: newint.org

นับตั้งแต่ยุค 1970’s โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1990’s เป็นต้นมา บริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้สร้างวาทกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ตามมาด้วยข้อกำหนดจรรยาบรรณทางการค้า (codes of conduct) ตรวจสอบโดยผู้ตรวจประเมินเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (social audit) ที่ทำสัญญากับบริษัท ซึ่งจรรยาบรรณทางการค้านั้นมีข้อจำกัดในการปกป้องผู้ใช้แรงงานจากการถูกละเมิดสิทธิ การทำงานกับสารเคมีอันตราย ค่าจ้างราคาถูก และปัญหาการละเมิดอื่น ๆ ดังนั้น กลยุทธ์ทางเลือกคือ บริษัทต้องถูกตรวจสอบโดยคณะผู้ตรวจประเมินที่เป็นคนงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศซีกโลกเหนือ ผู้ใช้สินค้าที่ผลิตจากซีกโลกใต้           

เมื่อปี 2004 หน่วยงาน คาทอลิกเพื่อการพัฒนาต่างประเทศ (Catholic Agency for Overseas Development-CAFOD) ได้ตีพิมพ์ รายงานเรื่อง ‘ทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ของคุณสักที’ เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศที่ผลิตสินค้าไอที จากนั้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตระดับโลกที่เรียกว่า ‘แนวร่วมพลเมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic industry Citizenship Coalition-EICC)’ ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นแบรนด์ดังไปจนถึงโรงงาน เช่น HP, Foxconn ในจีน สมาคม EICC ได้จัดทำจรรยาบรรณทางการค้าให้โรงงานและแบรนด์ดำเนินการตรวจสอบภายในโดยสมัครใจ และปรับปรุงข้อกำหนดจรรยาบรรณทางการค้าให้เข้มงวดขึ้น และต่อมาได้ออกแบบระบบการเป็นสมาชิกใหม่ โดยแบ่งสมาชิกออกเป็น 4 ประเภทตามระดับการให้ความร่วมมือในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม           

อย่างไรก็ตามหลักธรรมชาติของความสมัครใจนี้กลายเป็นขีดจำกัดในการปกป้องสิทธิแรงงาน องค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ได้เสนอ รายงานชื่อ ‘หนทางที่ล้มเหลวในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท’ สะท้อนข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวงของจรรยาบรรณทางการค้าที่สมาชิกไม่สนใจจะปฏิบัติตามแต่อย่างใด           

แม้จะมีความพยายามของบริษัทบางแห่งที่ทุ่มเงินนับล้าน ๆ เพื่อส่งเสริมจรรยาบรรณทางการค้า ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ออกแบบมาให้สามารถยกระดับชื่อเสียงและความภักดีต่อแบรนด์ของบริษัท  ผลที่ตามมาคือบริษัทเหล่านั้นได้เรียนรู้ที่จะปรับวาทกรรมความคิดเห็นของสาธารณชนทีมงานประชาสัมพันธ์เรียนรู้ที่จะพูด โฆษณาในสิ่งที่พวกเขามองว่าประชาชนต้องการจะฟังอะไร โดยไม่มีการปรับปรุงระบบการผลิตให้เป็นมิตรต่อพนักงาน          

หลายองค์กร นักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ได้จัดทำเอกสารที่สะท้อนข้อจำกัดของกรอบการตรวจสอบประเมิน CSR ของบริษัทที่ไม่มีการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโรงงาน ดังเช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า ตึกโรงงานในเมืองดากา ประเทศบังคลาเทศและโรงงานคาราชิในปากีสถานถล่มลงมาหลังจากได้รับการรับรองคุณภาพจากผู้ตรวจสอบประเมินแล้ว อีกทั้ง พวกออดิทเหล่านี้แทบไม่เปิดเผยปัญหาระบบโครงสร้างและกระบวนการผลิตที่ละเมิดคนงาน เช่น การละเมิดเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เจรจาต่อรองกับนายจ้าง     

เมื่อเดือน ก.ย. 2016 ที่ผ่านมาในการรายงานเรื่องเสรีภาพในการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ คุณไมนา คาย (Maina Kiai) ได้ระบุว่า “การไม่บังคับใช้สิทธิเสรีภาพในสถานที่ทำงานก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียม ความยากจน ความรุนแรง การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และนำไปสู่การค้ามนุษย์....เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของภาคเอกชน และเป็นแนวโน้มที่นำไปสู่การบั่นทอนระบบเศรษฐกิจโลก”        

ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งที่จะเติมเต็มการตรวจสอบประเมิน CSR ของบริษัท คือ การเน้นเสริมสร้างศักยภาพของคนงาน ให้สามารถสัมภาษณ์คนงานอีกบริษัทหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยชื่อพวกเขาเพื่อความปลอดภัยจากการถูกตอบโต้ด้วยกำลังต่าง ๆ กิจกรรมตรวจสอบประเมินนี้นำเสนอเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลกเพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน รวมถึงส่งเสริมแรงงานให้ได้รับการอบรม การจัดตั้ง รณรงค์ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและการดำเนินคดี       

สำหรับ ศูนย์ปฏิบัติการแรงงาน (Center for Labor Reflection and Action-CEREAL) มีหน้าที่ส่งเสริมข้อปฏิบัติที่ดีของการตรวจสอบประเมิน CSR โดยพนักงาน และมีโครงการเข้าถึงคนงานเพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิแรงงาน ความเท่าเทียมทางเพศ ความปลอดภัยในการทำงาน สารเคมีอันตราย เป็นต้น ศูนย์ CEREAL ทำงานร่วมกับหน่วยงาน เฝ้าระวังอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Watch) เป็นหน่วยงานประสานงานผู้จัดซื้อภาครัฐในซีกโลกเหนือ ซึ่งขณะนี้กำลังเรียกร้องให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าไอที ปรับปรุงสภาพการทำงาน เพราะการตรวจสอบประเมินโดยพนักงานเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือเหมาะสมในการช่วยปรับปรุงคุณภาพการทำงานได้จริง 

 

แปลและเรียบเรียงจาก: 
Why worker-led monitoring is needed to challenge electronic sweatshops, David Foust Rodríguez, newint.org, 2/11/2016 

อนึ่ง David Foust Rodríguez เป็นผู้ประสานงาน ศูนย์ปฏิบัติการแรงงาน (Center for Labor Reflection and Action-CEREAL) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนของเครือข่าย GoodElectronics 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: