ปักหมุดกันลืม 'ข่าวที่ไม่(ค่อย)เป็นข่าว' 10 ข่าวที่แผ่วและหายไปประจำปี 2559

ทีมข่าว TCIJ : 1 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 8393 ครั้ง

TCIJ รวบรวมข่าวที่ 'ไม่เป็นข่าว' ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา ปักหมุดไว้กันลืม ซึ่งดูเหมือนว่าบางประเด็นจบไปแบบเงียบ ๆ ทั้งที่คาดว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ตอนแรกเริ่ม บางประเด็นก็เริ่มแบบเงียบๆ แล้วเลือนหายไปจากความทรงจำผู้เสพสื่อแบบเงียบ ๆ เหมือนกัน บางประเด็นก็ยังไม่จบ และอาจจะส่งผลกระทบในอนาคตอย่างใหญ่หลวง

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจาก ‘ตำบลละ 5 ล้าน’

‘มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล’ หรือ ‘โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท’ ปิดโครงการไปเมื่อต้นปี 2559 ที่มาภาพ: ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ปิดโครงการไปอย่างเงียบ ๆ เมื่อเดือน มี.ค. 2559 สำหรับอภิมหาเมกะโปรเจ็คกระตุ้นรากหญ้าอย่าง ‘มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล’ หรือ ‘โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท’ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ที่ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ 2 มาตรการ คือ (1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน โดยการให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ 'โครงการฯ กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน' วงเงิน 60,000 ล้านบาท และ (2) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 ตำบล วงเงินรวม 36,275 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้เดิมทีมีกำหนดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 แต่จากนั้นก็ได้มีการเลื่อนปิดโครงการมาเป็นปลายเดือน มี.ค. 2559

ทั้งนี้ข้อมูลจาก ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าเมื่อแยกลักษณะของโครงการตามแต่ละประเภท (คำนวณจากโครงการที่ผ่านการอนุมัติระดับจังหวัดและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ 120,791 โครงการ) พบว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 84.03% (101,500 โครงการ) เป็นโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 5.48% (6,621 โครงการ) และเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจสังคม 10.49% (12,670 โครงการ)

ภาพการถมคูคลองวางท่อภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 (โครงการหมู่บ้านแห่งละ 250,000 บาท) ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 โดยกองบรรณาธิการ TCIJ

มีอีก! ยังมีอีก! ต่อเนื่องมาจากโครงการตำบลละ 5 ล้าน ก็ยังมีโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 อีกหมู่บ้านละ 200,000 บาท สิ้นสุดโครงการไปเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2559 จากนั้นมติที่ประชุม ครม. เมื่อเดือน ต.ค. 2559 เห็นชอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 โดยอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการรวมวงเงิน 18,760 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปแก่หมู่บ้านแห่งละ 250,000 บาท จำนวน 74,655 หมู่บ้าน วงเงินรวม 18,663.75 ล้านบาท และค่าดำเนินโครงการจำนวน 96.25 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 เดือน สิ้นสุดเดือน ม.ค. 2560

เม็ดเงินกระจายไปมหาศาลแบบนี้ ก็ลองสำรวจตรวจตราดูว่าแถวบ้านคุณได้รับประโยชน์อะไรเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้บ้างหรือไม่? (คลิ๊กดูโครงการตำบลละ 5 ล้าน ที่ตำบลของคุณได้ที่นี่)

2. 'ลุงเด่น คำแหล้' หายไป...วันที่เท่าไรแล้ว ?

ลุงเด่น คำแหล้ บนภาพกราฟฟิกศิลปะแนวป๊อบอาร์ต ที่มาภาพ: CitizenThaiPBS

16 เม.ย.2559 'เด่น คำแหล้' แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินและเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ไปเก็บหาของป่า และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดได้พบเห็นเขาอีกเลย

ลุงเด่น คำแหล้ ผู้มีประวัติการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมมายาวนานทั้งชีวิต (อ่าน เพิ่มเติม: 'เด่น คำแหล้ : ประวัติชีวิตและเส้นทางการต่อสู้ของ “สหายดาว อีปุ่ม”') และชาวบ้านเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ถือเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปที่ดินอย่างแข็งขัน ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับผู้เดือดร้อนทั่วประเทศในนามเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) โดยได้ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” และการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ กระทั่งรัฐบาลสมัยนั้นได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ในเดือน มิ.ย. 2553 ต่อมาในปี 2554 เครือข่ายประชาชนได้รวมตัวกัน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ชุมนุมติดตามปัญหาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนฯ และเป็นที่มาของการเข้าพื้นที่โคกยาว ในเวลาต่อมา

ในเดือน ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้าควบคุมตัวชาวบ้านโคกยาว จำนวนทั้งสิ้น 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยแยกฟ้องเป็น 4 คดี ซึ่งลุงเด่น คำแหล้ ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อติดตามปัญหา กระทั่งมีข้อตกลงผ่อนผันการทำประโยชน์ที่ดินที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาร่วมกัน ช่วงเวลาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในคดีนายเด่น คำแหล้ และพวกรวม 5 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 (เด่น และสุภาพ) พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขังจำนวนทั้งสิ้น 12 วัน ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด

ต่อมาปี 2557 รัฐบาลได้ดำเนินแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศให้ได้ร้อยละ 40 โดยมีมาตรการสำคัญ คือ 'ทวงคืนผืนป่า' ในเดือน ส.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายประกาศ จ.ชัยภูมิ มาปิดที่ชุมชนโคกยาวและบ้านเรือนทุกหลังคาเรือนให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ต่อมาชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้เคลื่อนไหวเรียกร้อง กระทั่งมีการชะลอการดำเนินการดังกล่าว ต่อมาในเดือน ม.ค. 2558 มีหนังสือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) สั่งให้เด่นและสุภาพ คำแหล้ พร้อมด้วยบริวาร ออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25(1) (2) (3) แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งลุงเด่น คำแหล้ ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต่อมามีหนังสือถึงลุงเด่น คำแหล้ เรื่องไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์คำสั่งบังคับดังกล่าว เหล่านี้ได้สร้างบรรยากาศที่สุ่มเสี่ยงไร้หลักประกันของชาวชุมชนโคกยาว จากความพยายามในการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม ด้วยสารพัดวิธี ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา จากนั้นลุงเด่น คำแหล้ ก็หายตัวไป

และนี่คือ นาฬิกานับวันเวลาที่ลุงเด่น คำแหล้ หายตัวไป … 

3. พ.ร.บ.นิวเคลียร์ … ทันตแพทย์ออกมาค้านก่อนเพื่อน!

เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระแรกเมื่อเดือน ก.พ. 2559 จากนั้น เดือน พ.ค.2559 สนช. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมาธิการยวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ ด้วยคะแนนเสียง 144 เสียง ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ได้มีการเพิ่มเติมรายชื่อร่างกฎหมาย จาก 'พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ...' เป็น 'พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ...' และปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม (ให้ดูซอฟต์ลง ?) โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สาระสำคัญคือเพื่อควบคุมการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสี ให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคง และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม และให้สอดคล้องกับกฏเกณฑ์ในทางสากลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำกับและดูแลการดำเนินการต่างที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสี

ว่ากันว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่อาจจะเป็นกฎหมายรองรับการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยในอนาคต เพราะตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี พ.ศ. 2558 - 2579 (Power Development Plan หรือ PDP 2015) นั้นระบุว่าไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกภายในปี 2578 ทั้งนี้ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายใหม่ซึ่งจะประกาศใช้แทน พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ก.พ. 2560 (เดิมที พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเพียง 24 มาตรา แต่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ฉบับใหม่นี้มีทั้งสิ้น 152 มาตรา) โดยในระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างการออกกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เมื่อถามว่ามีกลุ่มไหนออกมาต้านกฎหมายฉบับนี้บ้าง? คำตอบคือมีแล้ว นั่นก็คือกลุ่มเครือข่ายทันตแพทย์ภาครัฐและเอกชนทันตะอาสาที่ออกมาประท้วงเมื่อเดือน ต.ค. 2559 โดยกลุ่มเครือข่ายทันตแพทย์ฯ ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของทันตแพทย์ โดยเฉพาะกับคลินิกทันตกรรมทั่วประเทศที่มีกว่า 6,000 แห่ง เพราะหลังจากบังคับใช้จะไม่สามารถถ่ายเอกซเรย์ฟันให้คนไข้ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี

4. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปถึงไหนแล้ว ?

หนึ่งในวาระสำคัญทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเมือปี 2557 ก็คือความพยายามผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ของประเทศขึ้นมา โดยรัฐบาลถึงกับได้เร่งรัดให้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์พิเศษขั้นสูงสุด แบบไม่จำกัดกิจการให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด (เฟส 1) โดยให้พิจารณาสิทธิพิเศษให้ใกล้เคียงกับที่ให้กับนักลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบัน ปี 2559 อยู่ในระยะที่ 2 (เฟส 2) ของการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

เขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 1 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ 1.จ.ตาก พื้นที่ 886,875 ไร่ ใน 3 อำเภอ คือ อ.แม่สอด พบพระ แม่ระมาด    2.จ.สระแก้ว พื้นที่ 207,500 ไร่ ใน 2 อำเภอ คือ อ.อรัญประเทศ วัฒนานคร 3.จ.มุกดาหาร พื้นที่ 361,542 ไร่ ใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองมุกดาหาร หว้านใหญ่ ดอนตาล 4.จ.สงขลา พื้นที่ 345,187 ไร่ ใน 1 อำเภอ คือ อ.สะเดา 5.จ.ตราด พื้นที่ 31,375 ไร่ ใน 1 อำเภอ คือ    อ.คลองใหญ่

ข้อมูลที่รวบรวมโดย ประชาชาติธุรกิจ เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ระบุว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ออกประกาศ เพื่อกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 1 นี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 จนกระทั่งถึงเดือน ต.ค. 2559 พบว่ามีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามายังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งหมด 34 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 7,034 ล้านบาท แบ่งเป็นหมวดเคมีภัณฑ์-พลาสติกกระดาษ 18 โครงการ เงินลงทุน 3,908 ล้านบาท เช่น กิจการบรรจุภัณฑ์พลาสติก กิจการผลิตเส้นใยพลาสติก, หมวดเกษตรกรรม/ผลิตผลจากการเกษตร 6 โครงการ เงินลงทุน 1,375 ล้านบาท เช่น กิจการคัดคุณภาพข้าว กิจการผลิตอาหารสัตว์, หมวดเหมืองแร่/เซรามิก/โลหะขั้นมูลฐาน 4 โครงการ เงินลงทุน 1,331 ล้านบาท ได้แก่ กิจการวัสดุก่อสร้าง และหมวดอุตสาหกรรมเบา 4 โครงการ เงินลงทุน 283 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตเส้นด้ายพลาสติก และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ 1 โครงการ เงินลงทุน 20 ล้านบาท โดยข้อมูลจาก BOI ระบุว่าการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ผ่านมา SEZ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากยอดสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ใน 10 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งมีเงินลงทุนเข้ามาถึง 7,034 ล้านบาท ตามความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนใน จ.สระแก้ว และ จ.แม่สอด

เขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 รัฐบาลกำหนดพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จ.หนองคาย พื้นที่ 296,042 ไร่ ใน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองหนองคาย สระใคร 2.จ.นราธิวาส พื้นที่ 246,747 ไร่ ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมืองนราธิวาส ตากใบ ยี่งอ แว้ง สุไหงโกลก 3.จ.เชียงราย พื้นที่ 477,030 ไร่ ใน 3 อำเภอ คือเชียงของ เชียงแสน แม่สาย 4. จ.นครพนม พื้นที่ 465,493 ไร่ ใน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองนครพนม อ. ท่าอุเทน 5.จ.กาญจนบุรี พื้นที่ 162,993 ไร่ ใน 1 อำเภอ คือ อ.เมืองกาญจนบุรี

สำหรับการเดินหน้าเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 นี้ ล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ออกคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.ที่ 74/2559 แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.ที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เพิกถอนที่สาธารณะในท้องที่ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 7941 ภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข 9 นอกจากนี้ คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ยังถอนการสงวนหวงห้ามที่ดินตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ อ.เมืองกาญจนบุรี วังขนาย บ้านทวน และวังกะ จ.กาญจนบุรี โดยถอนเฉพาะที่ดินในท้องที่ ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมในท้องที่ จ.กาญจนบุรี และนครพนม ที่มีความพร้อมดำเนินการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมถือเป็นเฟส 2 หลังจากคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ได้คัด เลือกแปลงที่ดินบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์จำนวน 2,400 ไร่ เป็นพื้นที่ให้เอกชนเช่าพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม ด้านกรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมแล้วเสร็จ โดยพื้นที่สีเขียวหรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมจะได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ สามารถพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีตั้งอยู่ ต.บ้านเก่า บริเวณด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน กองทัพบกยินยอมมอบพื้นที่ ซึ่งเคยดูแลในด้านความมั่นคงเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ให้ จ.กาญจนบุรี นำมาพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 4 โซน คือ 1.พื้นที่ศุลกากร จำนวน 1,000 ไร่ 2.พื้นที่จัดสร้างศูนย์ราชการ จำนวน 3,000 ไร่ 3.พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,000 ไร่ และโซนที่ 4.พื้นที่ชุมชนประกอบธุรกิจ จำนวน 1,400 ไร่ สำหรับพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ราชการ คาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท

สำหรับการต่อต้าน ก็เป็นข่าวเล็ก ๆ มาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดังเช่นที่พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 1 กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ออกมาระบุว่าปัจจุบันที่ดินใน อ.แม่สอด มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 12-25 ล้านบาท จากเดิมเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท แต่ชาวบ้านกลับได้เงินชดเชยจากการเวนคืนเพียงไร่ละ 7,000-12,000 บาทเท่านั้น ส่วนที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้ออกมาคัดค้านด้วยเช่นกัน เพราะในพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง อายุกว่า 200 ปี ที่ชาวบ้านไม่อยากให้มีอุตสาหกรรมคืบคลานเข้ามา

5. ‘เหมืองแร่พ่วงโรงไฟฟ้า’ ที่ จ.ชัยภูมิ

หลายพื้นที่ต้านเหมืองแร่ หลายพื้นที่ต้านโรงไฟฟ้า แต่จะมีกี่พื้นที่ที่ต้องต้านทั้งเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าไปพร้อมกัน  TCIJ ของยกกรณีที่ จ.ชัยภูมิ มาเล่าสู่กันฟัง …

ความเป็นมาของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน (หรือเหมืองแร่โปแตซชัยภูมิ) นั้นเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน ภายหลังจากการลงนามในปฏิญญาสมานฉันท์เมื่อปี 2519 ประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้โครงการนี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทย เมื่อปี 2532 โครงการมีจุดประสงค์ที่จะดำเนินการทำเหมืองและโรงแต่งแร่โปแตชที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เพื่อผลิตปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง ต่อมาได้มีการจัดตั้ง บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด ขึ้นมา โดยในปี 2547 บริษัทฯ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในนาม บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) พร้อมกับได้ผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ต่อมาได้ดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช พื้นที่รวมประมาณ 9,707 ไร่ ในเขตท้องที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งโครงการนี้ถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านตลอดมา

ทั้งนี้ในการดำเนินการของโครงการเหมืองแร่โปแตซแห่งนี้ ก็ต้องใช้กำลังไฟฟ้าปริมาณมหาศาลเพื่อป้อนให้โครงการด้วยเช่นกัน จึงมีความพยายามที่จะผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ด้วย ซึ่งก็เป็นอีกกรณีที่กลุ่มชาวบ้านออกมาต่อต้าน จากคำบอกเล่าของ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้บันทึกการลงพื้นที่่ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ เมื่อเดือน พ.ย. 2559 ระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า

"วันนี้เดินทางไป อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบกรณีนักปกป้องสิทธิชุมชน กรณีต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งชาวบ้านกลัวผลกระทบจากกากถ่านหิน โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐบาล แต่เป็นของบริษัททุนนอกพื้นที่ที่เข้ามาลงทุน ก่อนพบเจ้าหน้าที่รัฐ มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านหลายคนร้องไห้ กลัวสารพัด กลัวน้ำเสีย กลัวผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แถมกลัวเจ้าหน้าที่รัฐอีก แม่คนหนึ่งบอกว่า ชาวบ้านไม่มีเงินเดือนเหมือนข้าราชการ มีแต่เงินปี คือมีรายจ่ายทั้งปี แต่รายได้มาจากการขายข้าวปีละครั้ง หนี้สินมากมาย พอมีโครงการอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านกลัวผลกระทบไปหมด พอถามเจ้าหน้าที่เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่บอก ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่ได้ทำ EIA พอชาวบ้านคัดค้าน ช่วยกันระดมทุน ทอดผ้าป่า เจ้าหน้าที่เรียกไปคุยไม่ให้จัดเพราะกลัวชาวบ้านนำเงินไปปลุกระดม ชาวบ้านทำเสื้อเขียนคำว่า ‘ต่อต้าน’ ก็ถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้ถอดเสื้อ ไม่เช่นนั้นจะเอาตัวไปปรับทัศนคติ ชาวบ้านที่เป็นชายเลยกลับด้านใส่ แต่หญิงชาวบ้านถอดไม่ได้ กลัวถูกกล่าวหาว่าอนาจาร จึงต้องกลับบ้านไป

ตอนบ่าย อนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ ที่รับผิดชอบกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นัดประชุมอนุกรรมการฯ ที่ศาลากลาง จ.ชัยภูมิ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง พอไปถึงปรากฏมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบนั่งรออยู่ในห้องประชุม โดยชาวบ้านขอร่วมสังเกตการณ์รับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ด้วย ในฐานะประธานอนุฯ เห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเป็นความลับ และชาวบ้านในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องมีสิทธิในการรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเอง แต่ทราบต่อมาว่าเจ้าหน้าที่ขอย้ายห้องประชุม เนื่องจากไม่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมด้วย โดยเจ้าหน้าที่ไปรออีกห้องหนึ่ง และไม่ยอมลงมาพบในห้องที่ให้ กสม. ใช้ ส่วนตัวในฐานะประธานที่ประชุมได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า หากมีคำชี้แจง หรือข้อมูลที่เป็นความลับ เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งประธานฯเพื่อขอให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องประชุมได้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นควรมีข้อขัดข้อง และการให้ชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังก็เป็นการแสดงความโปร่งใส อีกทั้งการจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยขอใช้สถานที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่ง กสม. ในฐานะประธานอนุฯมีหน้าที่ควบคุมการประชุม และมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ใครเข้าร่วมประชุม หรือสังเกตการณ์ได้ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่สะดวกเข้าชี้แจงก็คงต้องของดการประชุม แต่จะขอเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงภายหลัง ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งผู้ร้องก็มีสิทธิได้รับอนุญาตให้เข้ารับฟังการประชุม เช่นกัน ... สุดท้ายจึงสามารถดำเนินการประชุมได้

ประสบการณ์การเดินทางครั้งนี้ พบว่ามีชาวบ้านได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน เช่น เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะใช้มาตรา 44 ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งที่มาตรา 44 เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. ไม่ใช่อำนาจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าการสร้างความเข้าใจและความสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงน่าจะเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจต่อกัน การให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงโดยไม่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว จนกลายเป็นเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถามในที่ประชุมว่า จะคัดค้านโรงไฟฟ้าทำไมต้องทอดผ้าป่าหาทุนด้วย “ผมเคยต่อต้านเหมือง ไม่เห็นต้องใช้เงินเลย” ฟังแล้วก็สะท้านใจ เพราะประสบการณ์ตัวเอง เรื่องการเข้าถึงความยุติธรรม ในประเทศไทย ไม่ได้จะได้มาฟรี ๆ อย่างที่เขียนในรัฐธรรมนูญนะคะ แค่ชาวบ้านอยากมาร้องที่ กสม. ชาวบ้านก็ต้องเสียค่ารถ ค่าอาหาร กระดาษสักแผ่นก็ทำเองไม่ได้นะคะ ทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งนั้น แล้วคนยากคนจนจะเอาเงินทองมาจากไหน

ฟังเรื่องราวของชาวบ้านบำเหน็จณรงค์ก็ได้แต่สงสัยว่า ในเมื่อโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บำเหน็จณรงค์ ไม่ใช่โครงการของรัฐ แล้วทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงดูเหมือนปกป้องโครงการจนถึงกับต้องออกมาทะเลาะกับประชาชนมากมายจนเกิดความร้าวฉานขนาดนี้"

ล่าสุด เพจเหมืองแร่ ชัยภูมิ ระบุว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) ได้ประชุมเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2559 เพื่อประกอบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จัดทำรายงานฯ โดยบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นการมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA ดังกล่าวเป็นรอบที่ 2 หลังจากที่ คชก. เคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA ดังกล่าวมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อคราวประชุมเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา

การมีมติไม่ให้ความเห็นชอบรอบที่ 2 นี้ คชก. ได้ระบุชัดลงไปว่า “ถือว่าเป็นการจบกระบวนการพิจารณา EIA” ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับความเห็นของ คชก. ก็มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่กรณีที่บริษัทฯ ‘เห็นด้วย’ กับคำสั่งของ คชก. และต้องการเสนอ EIA ใหม่ ก็ไม่ตัดสิทธิที่จะเสนอ EIA ที่ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับให้ คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งกรณีนี้จะกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ โดย EIA ที่จะเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่นั้นบริษัทฯ ต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่ คชก. กำหนดเอาไว้ทั้งหมดถึง 126 ประเด็นเลยทีเดียว ทั้งนี้มีหลายประเด็นที่ความเห็นของ คชก. สอด คล้องกับประเด็นที่ชาวบ้านยกขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน เช่น ประเด็นเรื่องการแย่งน้ำอุปโภคบริโภคจากชุมชนที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมถึง 35 ประเด็น เป็นต้น ทั้งนี้ผลของคำสั่ง คชก. ที่มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA รอบที่ 2 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในเหมืองโปแตชและเกลือหินของบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯ ต้องนับหนึ่งใหม่ โดยเริ่มกระบวนการจัดทำและยื่นให้พิจารณา EIA ใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น นั่นก็คือจะต้องดำเนินการตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคม และแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพใน EIA ด้วย ซึ่งเวทีต่าง ๆ ที่เคยจัดหลอกลวงชาวบ้านและส่วนราชการ ดังเช่นเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา เพื่อหวังได้รายชื่อชาวบ้านสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินนำไปแนบยัดไส้ไว้ใน EIA ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบทั้งสองรอบที่ผ่านมา จะนำมาใช้อ้างใน EIA ใหม่ไม่ได้อีกต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ หลายคนอาจคิดว่าการสะดุดของโรงไฟฟ้าจะส่งผลสืบเนื่องต่อถึงการดำเนินการของเหมืองโปแตซ แต่ทางฝั่งบริษัทฯ เองดูเหมือนได้เดินตามแผนระยะยาวที่วางไว้แล้ว โดยจากรายงานของ ประชาชาติธุรกิจ เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้บริหารบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าบริษัทฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (Signing Crermony Cooperative Agreement) กับทางบริษัท เบลารุสคาลิ (BELARUSKALI ประเทศเบลารุส) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่ โปแตชนานกว่า 100 ปี โดยมีมูลค่าการส่งออกแร่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยปริมาณ 12 ล้านตันต่อปี และส่งมาไทยปริมาณ 2-3 แสนตัน/ปี ทั้งนี้ยังได้เซ็นสัญญาร่วมกับบริษัท EROCSPLAN ประเทศเยอรมนี โดย 2 รายนี้จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่เหมืองใต้ดิน ฝึกอบรมและทำการตลาด ด้วยมูลค่าการพัฒนาร่วมกัน 23,000 ล้านบาท ภายใต้ข้อตกลงมีระยะเวลา 8 ปี โดยใน 3 ปีแรก ทั้ง BELARUSKALI และ EROCSPLAN จะส่งพนักงานมาประจำที่ไทยก่อน 6 เดือน เพื่อพัฒนาระบบการขุดเจาะเหมือง จากนั้นจะเริ่มส่งวิศวกรระดับสูงชุดแรก บินไปดูงานเรียนรู้ด้านเทคนิคที่เบลารุส 3-6 เดือนจากนั้นจะส่งพนักงาน 200 คน ไปฝึกอบรมศึกษางานทั้งหมดเกี่ยวกับระบบการทำเหมืองใต้ดิน อีก 1-2 ปี ซึ่งจะพอดีกับระยะเวลาที่กำหนดเปิดขุดเหมืองในปี 2561 ทั้งนี้ ไทยยังไม่เคยมีการทำเหมืองใต้ดินมาก่อน จึงต้องส่งผู้เชี่ยวชาญไปเรียนรู้ทั้ง 2 ประเทศ

ส่วนข้อตกลงช่วง 5 ปีหลังจากนี้ จะเป็นความร่วมมือด้านการดำเนินงาน และบริษัทอาเซียนโปแตชฯ จะเป็นตัวแทนผู้นำเข้าแร่ โปแตช และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในเอเชีย อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมา ศรีลังกา เป็นต้น โดย BELARUSKALI และ EROCSPLAN เป็นผู้หาตลาดให้ ขณะเดียวกันโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นแหล่งผลิตแร่ โปแตชรายใหญ่ และผลิตปุ๋ยได้ปริมาณมากที่สุดในอาเซียน เพราะเป็นที่ทราบกันว่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พบปริมาณแร่ โปแตชปะปนและแทรกอยู่ในชั้นดินจำนวนมาก นอกจากนี้บริษัทกำลังเจรจาพาร์ตเนอร์ไทยรายใหม่ คือ บริษัท สหกลอีควิปเมนท์ (เอ็นจีเนียริ่ง) จำกัด (SQ) เพื่อเตรียมให้มารับช่วงต่อบริษัท BELARUSKALI และ EROCSPLAN หลังจากหมดสัญญา 8 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ SQ เป็นบริษัทรับเหมาขุดเจาะเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของไทย ให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว

สำหรับความคืบหน้าโครงการขุดเจาะเหมืองแร่โปแตชที่ จ.ชัยภูมิ นับตั้งแต่ได้ประทานบัตร เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี (2559-2561) มูลค่าลงทุน 40,000 ล้านบาท และเริ่มขุดด้วยวิธีห้องสลับเสาค้ำยัน แต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน สามารถผลิตปุ๋ย โปแตชเซียมคลอไรด์ ได้ปี 2562 ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี มูลค่า 10,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อครบ 25 ปีจะผลิตปุ๋ยได้ 17.33 ล้านตัน ส่วนในประเด็นการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อใช้ในเหมืองแร่นั้น บริษัทฯ ได้เตรียมแผนสำรองว่าจะมีการซื้อไฟฟ้าจากรัฐบาล และใช้ไฟฟ้าจากบอยเลอร์ (หม้อต้มน้ำร้อน) แทนหากไม่ได้อีกทั้ง ได้ทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาในพื้นที่ชุมชน ประวัติการป่วยไว้ล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลจะกำหนดมาตรฐานออกมาใช้

"เราเดินมาถึงสเต็ปที่ 3 แล้ว คือปรับปรุงพื้นที่พัฒนาอุโมงค์ และเซ็นสัญญากับเบราลุส/เยอรมนี เหมืองเราเป็นรูปร่างเพราะทำตามกฎระเบียบทุกอย่าง ยอมรับว่าเรื่องการทำข้อมูลพื้นฐาน กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องทำ อาจมีบางที่เหมืองละเลยไปบ้าง แต่ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานไว้ใช้เปรียบเทียบ หากอนาคตเหมืองหรือชุมชนเปลี่ยนแปลง เพราะแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นโรคอยู่แล้ว ดังนั้นต้องเก็บข้อมูลให้รอบด้านทั้งหมด เรากล้าพูดว่า โปแตชจะเป็นแร่เศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่าชุมชนมีความรู้ รับฟังประโยชน์มากกว่าคัดค้าน" ผู้บริหารบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับประชาชาติธุรกิจ

6. การ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

อีกหนึ่งนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็คือ ‘แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การที่บุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน’ หรือ 'นโยบายทวงคืนผืนป่า' ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศให้ได้ร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งข้อมูลจากการแถลงผลงานของรัฐบาล ณ เดือน ก.ย. 2559 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการทวงคืนผืนป่าและการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยได้จับกุมผู้กระทำคดีรุกป่าไม้ได้ 4,367 คน จับกุมผู้กระทำผิดคดีเกี่ยวกับการทำไม้ได้ 14,209 คน มีไม้ของกลางรวม 1,096,660 ท่อน พร้อมจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนจำนวน 5,628 คน รวมพื้นที่ 7,637 แปลง ส่วนข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าสามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้ทั้งสิ้น 1.4 แสนไร่ ส่วนในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 1.07 แสนไร่

น่าสนใจสำหรับตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ถูกจับกุมและผลักดันออกจากพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นชาวบ้านมากกว่านายทุน ซึ่งนอกเหนือจะมีเหตุการณ์จับกุมชาวบ้านแล้ว ก็ยังมีข่าวชาวบ้านออกมาประท้วงนโยบายนี้อยู่เนือง ๆ อย่างเหตุการณ์ล่าสุดแค่ในรอบเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีหลายกรณีอาทิเช่น 10 ธ.ค. 2559 ตามรายงานของ ข่าวสด ระบุว่าทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อส. ตำรวจ กก.3 บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สนธิกำลังกว่า 150 นาย เข้าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่เป้าหมายตามคำสั่งยุทธการที่ 2 (พิทักษ์ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์) ซึ่งเป็นพื้นที่ติดเชิงเขาภูสิงห์ หลังมีชาวบ้านบุกรุกเข้าไปปลูกต้นยางพารา บนที่ดินกว่า 611 ไร่ บริเวณ ต.นาสิงห์ อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ, 14 ธ.ค. 2559 ตามรายงานข่าวของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่าตัวแทนชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน ต.คลองขุด และ ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล และบางพื้นที่ของเขตเทศบาลเมืองสตูล กว่า 200 คน เดินทางมารวมตัวกันที่ศูนย์ดำรงธรรม อำเภอเมืองสตูล เพื่อล่ารายชื่อในการร้องขอให้ทางศูนย์ดำรงธรรมช่วยเหลือ หลังประสบปัญหาคำสั่งตามหนังสือ 'ทวงคืนผืนป่า' ที่ชาวบ้านระบุว่าได้อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่า พร้อมกับยื่นข้อเรียกร้องขอให้ยกเลิกและถอดป้ายขอคืนพื้นที่ออกจากที่ทำกินของชาวบ้านในเขตพื้นที่ ต.คลองขุด ต.พิมาน อ.เมือง สตูล และขอให้ชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในปัจจุบันสามารถทำกินต่อไปได้, และ 15 ธ.ค. 2559 ตามรายงานของ สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง กว่า 100 นาย สนธิกำลังทวงคืนผืนป่าที่ชาวบ้านลักลอบแผ้วถางปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ป่าต้นน้ำของอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ต.บ้านนา ต.ลำสินธุ์ และ ต.ชุมพล ของอำเภอศรีนครินทร์ จำนวน 11 จุด เนื้อที่ 71 ไร่ เป็นต้น

น่าจับตานโยบายนี้ต่อไปเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากแผนที่วางไว้ถึง 10 ปี กับการเพิ่มพื้นที่ป่าถึงร้อยละ 40 นั้นถือว่าเป็นนโยบายที่ใหญ่มาก ๆ และน่าจะกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากด้วย (อ่านเพิ่มเติม ตัวอย่างข่าวผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าได้ที่ [1] [2] [3] [4])

7. กวาดล้างการค้ามนุษย์.. แจ๊กพ็อต ‘ร้านคาราโอเกะ’

หมายเหตุภาพประกอบไม่ใช่สถานที่ที่ถูกจับกุม ที่มาภาพประกอบ: Sigmund (CC BY-NC 2.0)

อุตสาหกรรมร้านคาราโอเกะในเมืองไทยเฟื่องฟูมาหลายปี แต่ในช่วง 2-3 ปี หลังการรัฐประหารปี 2557 มีคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึง กวดขันและใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมนี้ คำตอบคือ เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ไทยถูกขึ้น Tier 3 ตามรายงาน TIP ของสหรัฐฯ ซึ่งการที่จะหลุดจากบัญชีนี้ได้นั้น ไทยต้องเร่งจับกุมคดีค้ามนุษย์ในประเทศเพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘ความ ก้าวหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์’ นั่นเอง

โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แห่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. State Department's Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report-TIP) หรือรายงาน TIP ประจำปี 2557 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศใน 2557 ที่ถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่กลุ่มที่ 3 หรือ Tier 3 ซึ่งเป็นลำดับขั้นต่ำสุดของรายงานนี้ ต่อมาในเดือน ก.ค. 2558 สหรัฐอเมริกายังคงให้ไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 3 โดยรายงาน TIP ประจำปี 2558 ระบุว่าแม้ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ทว่าในช่วงเวลาของการทำรายงาน ไทยมิได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยากลำบากนี้

ความพยายามในการให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชี Tier 3 เพราะสถิติการจับกุมในคดีค้ามนุษย์นี้นอกเหนือจากอุตสาหกรรมประมงแล้ว การจับคดีค้ามนุษย์ตามร้านคาราโอเกะต่าง ๆ ก็มีตัวเลขที่สูงมาก ตัวอย่างสถิติการปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่รับผิดชอบของ ตำรวจภูธรภาค 5 ประจำปี 2559 ในห้วงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค-23 ก.ย. 2559 รวม 9 เดือน สามารดำเนินการจับกุม ตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ได้จำนวน 26 คดี ผู้ต้องหา 30 คน และมีผู้เสียหายจำนวน 47 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจับกุมร้านคาราโอเกะ ทั้งนี้การกวดขันจับกุมร้านคาราโอเกะทั่วประเทศไทยก็ยังคงมีเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่องในรอบปี 2559 นี้ (อ่านตัวอย่างข่าวการจับกุมล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา [1] [2] [3])

อนึ่ง ท้ายสุดแล้วไทยสามารถหลุดพ้นบัญชี Tier 3 มาอยู่ที่ Tier 2 Watch list ในเดือน มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยสถิติการจับกุมที่รัฐบาลเปิดเผยถึงการเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยตัวเลขการบังคับใช้กฎหมายในปี 2558 มีจำนวนคดีการค้ามนุษย์ 317 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2557 ที่มีจำนวน 280 คดี และมีจำนวนผู้ต้องหา 547 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 แยกเป็นคดีด้านแรงงาน 69 คดี และคดีค้าประเวณี 245 คดี สำหรับตัวเลขล่าสุดในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 มีจำนวนคดี 54 คดี ผู้ต้องหา 74 คน และมีผู้ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษเพิ่มเป็น 241 คน

8. ปิดโครงการ 'มีเดียมอนิเตอร์' หลังดำเนินการมากว่า 10 ปี

ได้รับทั้ง 'ดอกไม้' และ 'ก้อนหิน' สำหรับโครงการ 'มีเดียมอนิเตอร์' ที่มีคำขวัญว่า "เฝ้าระวังสื่อ เพราะสื่อเฝ้าระวังสังคม" โดยโครงการนี้ได้ ผลิตงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสื่อไทยกว่า 88 ชิ้น เลยทีเดียว (ดาวน์โหลดผลการศึกษาทั้งหมดได้ที่นี่)

โครงการมีเดียมอนิเตอร์ได้อธิบายการทำงานของโครงการฯ เองว่าในช่วงแรกของโครงการฯ (2548-2551) ได้ทำหน้าที่ 'เฝ้าระวังสื่อ ' เน้น การทำให้โครงการและกลไกมีเดียมอนิเตอร์เป็นที่รู้จัก ด้วยการนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์สื่อหลากหลายเนื้อหาและ รูปแบบ อย่าง คำนึงถึงสถานการณ์ของสังคมด้วย ต่อมาได้ปรับชื่อเป็น 'โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม' ที่ แม้งานหลักยังคงเป็นการศึกษาเฝ้าระวังสื่อ โดยมีการกำหนดประเด็นที่จะศึกษาอย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสนใจใน เรื่อง สื่อของสังคม รวมทั้งสถานการณ์สำคัญของประเทศ แต่ด้วยผลงานการศึกษาวิเคราะห์สื่อของโครงการ เป็นที่รู้จักและยอมรับ มีการเปิด พื้นที่งานด้านเผยแพร่วิธีวิทยาการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาสื่อ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว มีการจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิ สื่อ มวลชนศึกษา ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ คือกระตุ้นผู้รับสื่อและสังคมให้ตื่นตัว สนใจในการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาที่สื่อมวลชน นำ เสนอ พัฒนาศักยภาพแห่งความรู้ความเข้าใจสื่อ (Media Literacy) ด้วยผลการศึกษาและการจัดกิจกรรมกับภาคียุทธศาสตร์กลุ่มต่าง ๆ

เป็นที่น่าเสียดายว่าโครงการนี้ต้องปิดตัวลงไปเมื่อต้นปี 2559 หลังจากดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเหตุที่ต้องปิดตัวลงนั้น จากรายงาน ของกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่าผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ยอมรับว่านอกจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้วก็เป็นเรื่องบุคลากร ที่ระยะหลังคุณภาพบุคลากรที่ต้องการมีน้อยลง จึงกลายเป็นความยากลำบากมากขึ้น ในการทำงาน

ถือว่าเราได้สูญเสียอีกหนึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่จับจ้องมองสื่ออย่างแข็งขันไป

9. ‘อปท.’ในยุค คสช. ถูกกระทำมากกว่า ‘นักการเมือง’ เสียอีก

นอกเหนือจากกระแสควบรวมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ขนาดเล็กแล้ว ตลอดทั้งปี 2559 ที่ผ่านมา ยังมีการประกาศใช้ ม.44 กับผู้บริหาร-ผู้มีตำแหน่ง และข้าราชการ อปท. ให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว, ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และถูกให้ย้ายไปช่วยราชการ หลายกรณี (ตัวอย่างเช่น [1] [2] [3]) ซึ่งเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 ที่ดูเหมือนว่า อปท. และนักการเมืองท้องถิ่น น่าจะเป็นสถาบันและกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา มีการให้ข้อมูล อปท. ในแง่ลบ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริต จากคนของรัฐบาลเอง โดยจากรายงานของ คมชัดลึก ระบุว่าปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน.ได้รับเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ซึ่งตรวจพบโดยหน่วยงานเอง หรือโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 151 เรื่อง จำแนกเป็น ราชการส่วนกลาง 25 เรื่อง ราชการส่วนภูมิภาค 30 เรื่อง ราชการส่วนท้องถิ่น 61 เรื่อง และรัฐวิสาหกิจ 35 เรื่อง เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว 20 เรื่อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม 12 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 4 เรื่อง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 เรื่อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1 เรื่อง และกระทรวงสาธารณสุข 1 เรื่อง ทั้งนี้ มีเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานของ สปน. มี 2,838 เรื่อง รวมเป็นเงินที่เสียหาย 11,383 ล้านบาท จำแนกเป็น ราชการส่วนกลาง 234 เรื่อง ราชการส่วนภูมิภาค 640 เรื่อง ราชการส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง และรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน 468 เรื่อง หน่วยงานที่มีการทุจริตมาก 3 อันดับแรก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง (มีการระบุว่ามียอดเสียหายรวมถึง 11,383 ล้านบ้าน) กระทรวงมหาดไทย 219 เรื่อง และกระทรวงศึกษาธิการ 218 เรื่อง ซึ่งเมื่อจำแนกตามประเภทการทุจริต อันดับ 1.การยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ 1,507 เรื่อง 2.การปฏิบัติผิดระเบียบ 656 เรื่อง 3.การจัดซื้อจัดจ้าง 605 เรื่อง 4.การเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ 39 เรื่อง 5.การทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิง 20 เรื่อง 6.การเบิกค่ารักษาพยาบาลเท็จ 11 เรื่อง

กรณีนี้ จากรายงานของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า คนใน อปท.หลายส่วนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์จำนวนมาก เช่น ผู้ใช้นามปากกาว่า “กิจ กรุงเก่า” หรือ นายสุรกิจ สุวรรณแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนายสุรกิจเขียนว่า 'เรื่องจริงที่สังคมไม่ได้รับรู้' เขาเริ่มต้นว่า “ผมไม่ได้มีเจตนาร้ายกับใครในแผ่นดินนี้ ผมเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็พยายามสร้างภาพพจน์ของคนท้องถิ่นให้ดีมาโดยตลอด สร้างความร่วมมือกับคนท้องที่และกับหน่วยงานราชการทุกระดับมาด้วยดี วันนี้ผมจะพูดในนามตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่นฯ ผมเชื่อในหลักการอย่างหนึ่งว่า “ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศชาติเข้มแข็งแน่นอน” หลักการนี้เราคุยกันมานานมากและเร่งรีบทำกับหลายฝ่าย ตั้งแต่กรมท้องถิ่น, พอช.สธ., สปสช., สสส., สกว., สช., เกษตร, พัฒนาชุมชน, กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ คุณเชื่อมั้ยเรามีเป้าหมายลึกๆ ว่า ชุมชนท้องถิ่น 50% ควรจะเข้มแข็ง เพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แต่เราก็ทำไม่ได้ตามนั้น “ นายสุรกิจยังโพสต์ภาพรายงานผลการดำเนินการตลอด 8 ปี ของ ป.ป.ช.(2550-2558) โดยระบุถึงมูลค่าความเสียหายจากการทุจริต ปี 2550-2558 ที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ความผิดทางอาญา และร่ำรวยผิดปกติ ประเมินมูลค่าความเสียหายได้ทั้งสิ้น 525,117.28 ล้านบาท แยกเป็น ส่วนราชการ 403,764.83 ล้านบาท คิดเป็น 76.89% รัฐวิสาหกิจ 121,183.63 ล้านบาท คิดเป็น 23.07% และส่วนท้องถิ่น 138.82 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.04%      

ด้านนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต สปช. และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 29 ระบุว่า ที่ผ่านมาการทุจริตมีในทุกระดับทุกวงการทั้งราชการ เอกชน เริ่มจากระดับครอบครัว กลุ่มชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ การนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่สิ้นกระแสความ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ประชาชนรู้ ทำให้สังคมเข้าใจผิดในสาระสำคัญของข่าว เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับ อปท. ทั้งนี้ การระบุว่า อปท.มีรื่องร้องเรียนทุจริตมากที่สุด 1,496 เรื่อง เป็นการให้ข้อมูลข่าวไม่หมด คือ หากคิดเป็นสัดส่วนเงินความเสียหายของ อปท.เท่าไรในจำนวน 11,383 ล้านบาท และเป็นเจตนาทุจริตตรงๆ เท่าไร หรือการผิดระเบียบเท่าไรอย่างไร จึงเป็นการให้ข้อมูลคลุมเครือ สังคมเข้าใจผิด แต่ต้องยอมรับว่าจำนวน อปท.มีมากกว่าส่วนราชการภูมิภาค ส่วนกลาง รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระรวมกันถึง 20 เท่า เพราะ อปท.มี 7,853 แห่ง หน่วยราชการอื่นรวมกันมีแค่ 370 แห่ง ดังนั้นหากคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เรื่องร้องเรียน อปท. 7,853 แห่ง ถูกร้อง 1,496 เรื่อง คิดเป็น 19.05% แต่ส่วนราชการอื่นๆ รวม 370 แห่ง ถูกร้อง 1,342 เรื่อง คิดเป็น 362.70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า และน่าตกใจมากกว่า อปท. นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมหน่วยราชการส่วนกลางภูมิภาคบางหน่วยที่ สตง. และ ป.ป.ช.ไม่ได้ตรวจสอบ เชื่อว่าหากพิจารณาจากข้อมูลเดิมของ ป.ป.ช. ที่คำนวณสัดส่วนความเสียหายการทุจริตของ อปท.ไม่เกิน 4% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ดังนั้นการให้ข่าวแบบนี้ เป็นการทำให้สังคมสับสน เชื่อว่า อปท.คือหน่วยงานทำความเสื่อมเสียให้กับประเทศมากที่สุด

ในปี 2560 นี้ ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ยังคงเป็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะความชัดเจนของการควบรวม อปท. ที่น่าจะส่งผลต่อนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด

10. การร้องเรียนของ ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก ศรีสุวรรณ จรรยา

‘ถี่ บ่อย และสม่ำเสมอ’ อาจจะเป็นคำจำกัดความของชายคนนี้ ในอดีตเขาเองถูกมวลชนการเมืองสีเสื้อหนึ่งมองว่าเป็นตัวขัดขวางประชาธิปไตย เนื่องจากบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเขา หลังการรัฐประหาร 2557 เขายังคงตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างแข็งขัน แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้รับการเชิดชูมากมายเท่าไรนัก (ซึ่งอาจเพราะข้อครหาว่าหลังการรัฐประหาร 2557 เขาลงสมัครตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ แต่ไม่ได้รับเลือก)

ในรอบปี 2559 ประเด็นที่ศรีสุวรรณ ตรวจสอบและร้องเรียนหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งประเด็นที่ล้อไล่ตามกระแสข่าวดัง ๆ เช่น การยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปมทริปฮาวาย ขัดค่านิยม 12 ประการ, การร้อง ป.ป.ช.สอบ ปมบริษัทลูกชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา รับเหมาก่อสร้างกับกองทัพภาค 3, การร้อง ป.ป.ช. ส่งศาล รธน.วินิจฉัยให้ผลการลงประชามติเป็นโมฆะ, การร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบกรณี หมอเปรมศักดิ์กักขังนักข่าว, การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการผิ่นดินสอบจริยธรรม ‘พล.อ.ประยุทธ์-วิษณุ เครืองาม’ ปมตั้งพี่น้อง-เครือข่ายเป็น สปท. ฯลฯ รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ไม่ค่อยเป็นกระแสในสังคมเท่าใดนัก เช่น การฟ้อง 5 เสือพลังงานให้ล้มสัญญาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศและเพิกถอนแผน PDP 2015 และคัดค้านการใช้ ม.44 ในการเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น ล่าสุดส่งท้ายปีเก่าเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมาศรีสุวรรณ ก็เพิ่งไปยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช. ยึดคฤหาสน์ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยระบุว่าเข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปกติ (คลิ๊กอ่านข่าวนี้เพิ่มเติม [1] และอ่านข่าวอื่น ๆ เกี่ยวกับการร้องเรียนของศรีสุวรรณ จรรยา ได้ที่ [2])

ในปี 2560 การเคลื่อนไหวของศรีสุวรรณ ยังคงเป็นที่น่าจับตา และเราคงได้แต่ภาวนาให้เขาอย่าได้รับตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ ที่อาจจะทำให้เขาหมดความเป็นอิสระในการตรวจสอบรัฐ อย่างที่เขาเคยทำได้ดีมาตลอดในรอบหลายปีนี้

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
จับตา: สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ ครม.อนุมัติหลักการ

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: 422737 (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: