บันทึกคนหลังเลนส์: เมื่อผมไล่ตาม‘ผู้ขัดขืน’ หลังรัฐประหาร

ยศธร ไตรยศ* TCIJ School รุ่นที่ 4 1 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 4826 ครั้ง

กลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารจุดไฟเผารูป พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารครั้งล่าสุด

ขณะที่ผมกำลังขับรถอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า  ตรงกับช่วงการจราจรเริ่มติดขัดจากเวลาเลิกงานของคนเมือง ผู้โดยสารบนรถเมล์แน่นขนัด มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีผู้โดยสารซ้อนท้าย ลัดเลาะไปตามช่องว่างน้อยใหญ่ระหว่างรถบนถนนที่คับแคบ เด็กมัธยมจับกลุ่มกันเดินปะปนไปกับพนักงานบริษัทเอกชนและนักศึกษามหาวิทยาลัย หากมองเพียงผ่าน ๆ มันคงไม่ต่างจากวันทำงานธรรมดาทั่วไป ถ้าไม่ใช่เพียงเพราะผมละสายตาจากท้องถนนแล้วมุ่งตรงสู่โลกออนไลน์ในฝ่ามือ

‘ปฏิวัติ’ คือข้อความที่ปรากฏขึ้นเป็นคำแรก ๆ บนหน้าฟีดของเฟซบุ๊ก มันคือ ‘รัฐประหาร’ ตามความเข้าใจของคนไทยทั่ว ๆ ไปในสังคม ที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ครั้งกี่หนก็ไม่เคยเรียกกันอย่างถูกต้องเสียที คนไทยลืมง่าย ผมเห็นด้วยในเรื่องนี้

ความโกรธผสมกราดเกรี้ยวผุดขึ้นพร้อมคำหยาบคายและสัตว์ร้ายโพล่งออกจากปากผม ไม่นานนักหลังเรียกสติกลับมา ผมกดโทรศัพท์หาพี่ชายที่เพิ่งลาจากกันได้ไม่ถึงชั่วโมง เพื่อให้เขาเปิดทีวีติดตามสถานการณ์ สามชั่วโมงก่อนเรานัดกันที่บ้านของเขาย่านรามอินทราเพื่อคุยกันถึงโครงการสารคดีที่เราตั้งใจจะทำร่วมกัน เราเริ่มและจบมันในไม่กี่ชั่วโมง เราเห็นตรงกันว่าสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นคงไม่เหมาะจะทำอะไรเท่าไหร่ ผมเลยมองหาเรื่องที่พอจะทำได้ และตัดสินใจหยิบกล้องออกไปถ่ายรูป

23 พ.ค. 2557 ผมกับเพื่อนช่างภาพอีก 2-3 คนในกลุ่มเตรียมพร้อมกันอยู่ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ข่าวจากเฟซบุ๊กพูดกันถึงการนัดรวมตัวของผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แน่นอนมันไม่ใช่ความลับเมื่อถูกแชร์ต่อ ๆ กันไปอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ ผลที่ตามคือตอนเย็นประชาชนจำนวนมากต่างมารวมตัวกันอยู่บริเวณทางเดินลอยฟ้าหน้าหอศิลป์ มีการส่งทหารมาเจรจาอยู่เป็นระยะ ขณะที่บรรยากาศทั่วไปบริเวณรอบ ๆ เริ่มมีการรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ เสียงตะโกนขับไล่สลับด้วยเสียงก่นด่าดังมาเป็นระยะ “กลับเข้ากรมไป” คือเสียงที่ได้ยินบ่อยในเย็นวันนั้น

ฟ้าเริ่มมืดพร้อม ๆ กับอุณหภูมิที่ลดลง สวนทางกับอารมณ์ของผู้ชุมนุมที่เริ่มร้อนแรงตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น กระแสโซเซียลทำงานอย่างได้ผลจนใครบางคนพูดกันว่าครั้งนี้อาจ ‘จุดติด’

ไม่นานนัก รถบรรทุกกำลังพลไม่ต่ำกว่ากองร้อยถูกขับฝ่าเข้ามาในพื้นที่ ความตึงเครียดแผ่ขยายไปรอบบริเวณ ผู้ชุมนุมบางคนมาพร้อมกระดาษ A4 ที่มีข้อความต้านรัฐประหารในภาษาต่างประเทศ ‘NO COUP’ และ ‘GET OUT’ คำสั้น ๆ ที่ทรงพลังและสะท้อนความรู้สึกอัดอั้นของพวกเขาเหล่านั้นอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ยังสดใหม่ และอาจเพราะไม่มีใครคอยจัดตั้ง ปราศจากข้อความที่ทรงพลัง กระดาษ A4 เหล่านั้นคงถูกใช้ในสำนักงานอย่างที่มันเคยเป็น…แต่ไม่ใช่กับค่ำคืนนั้น ค่ำคืนที่กระดาษธรรมดาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทวงคืนประชาธิปไตย

ผมอยู่บนทางเดินลอยฟ้าเพื่อเก็บภาพมุมสูง เช่นเดียวกับผู้ต่อต้านบางคนที่กระจายตัวกันทั่ว ทหาร ตำรวจ รวมถึงสารวัตรทหาร เดินสอดส่องและคอยตะโกนห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมแสดงสัญญะใด ๆ ต่อสื่อมวลชนที่คอยถ่ายภาพ

ท่ามกลางความโกลาหลจากมวลชนด่านล่างที่ส่งเสียงโห่ร้อง ผมได้ยินเสียงเอะอะโวยวายดังมาจากทางด้านหลัง ช่างภาพและทหารวิ่งกรูกันเข้ามาหน้าตาตื่น ผมหันไปทันได้เห็นสารวัตรทหารสองคนตรงเข้าล็อกตัวชายสวมเสื้อสีขาวกดลงกับพื้น ในมือของเขาถือกระดาษที่มีข้อความต้านการรัฐประหาร เสียงผู้คนแตกตื่นกรีดร้อง ผมได้ยินเสียงชาวต่างชาติตะโกนร้องห้ามไม่ให้ทหารใช้ความรุ่นแรง “What are you doing?” คือเสียงตะโกนที่พอจับใจความได้ตอนนั้น ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามวิ่งเข้าดึงตัวชายเสื้อขาวคนนั้นกลับคืนไปแต่ไม่เป็นผล สารวัตรทหารคนที่สามรี่เข้ามาด้วยท่าทีขึงขัง มือข้างขวาวางประกบบนซองปืนที่เอวเพื่อเป็นนัยยะว่าพร้อมใช้มันหากจำเป็น ท่ามกลางเสียงประณามก่นด่า เขาพาชายคนนั้นเดินหายไปหลังแนวกำแพงทหารท่ามกลางความมืด

นั่นเป็นครั้งแรกของผมกับประสบการณ์ตรงที่ยากจะลืม ผมทราบภายหลังว่าเขาคือ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และปรับเป็นเงิน 6,000 บาท นับเป็นคดีแรกในฐานะนักโทษทางความคิดภายหลังรัฐประหารของ คสช.

อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และปรับเป็นเงิน 6,000 บาท นับเป็นคดีแรกในฐานะนักโทษทางความคิดภายหลังรัฐประหารของ คสช. ถือเป็นผู้ต้องหาคนแรกภายหลังการรัฐประหารของ คสช.

ต่อมสามัญสำนึกของผมถูกสั่นคลอนอีกครั้งในสองวันต่อมา ผมและเพื่อนช่างภาพยืนอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลาประมาณห้าโมงเย็น ผมมาถึงช้าไปประมาณครึ่งชั่วโมงภายหลังจากชายคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารลากตัวเข้าไปในค่ายทหารบริเวณสนามเป้า ตามคำบอกเล่าของเพื่อนช่างภาพ บรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียด แววตาของผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ดูเศร้าหมองและเป็นกังวล เรื่องที่พอจะปลอบประโลมให้รู้สึกดีขึ้นมาบ้าง คือจำนวนของผู้ชุมนุมต่อต้านที่ทยอยเดินทางมาสมทบมากขึ้นเรื่อยๆจนดูหนาตา มันเพิ่มมากขึ้นจนในเวลาไม่นานนักถนนรอบๆ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกปิดไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับทางฝั่งของทหารที่เสริมกำลังกระจายกันอยู่ตามจุดสำคัญทั่วพื้นที่ บรรยากาศดูน่ากลัว จนวูบหนึ่งของความคิดผมเกิดภาพของการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝั่งขึ้นในหัว...โชคดีที่มันไม่เป็นแบบนั้น

ตามสัญชาตญาณของช่างภาพ ผมมองหาผู้คนหรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ภาพของกลุ่มสุภาพสตรีสีหน้าเคร่งเครียดภายในมือถือกระดาษที่มีเนื้อหาขับไล่เผด็จการ ผมเดาจากสายตาว่าพวกเธอไม่ได้มาด้วยกันและไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่กี่อึดใจต่อมา หญิงวัยกลางคนหนึ่งในกลุ่มดังกล่าวคว้ากระดาษขนาด A4 สีขาวยับยู่ยี่ที่มีข้อความเขียนด้วยปากกาเมจิกสีน้ำเงินตัวโต “Prayut Get Out” เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ทว่าต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างแรงกล้าในการประกาศมันออกมาในสถานการณ์ขณะนั้น

ไม่นานหลังจากนั้น น้ำตาเธอไหลพรั่งพรูอาบสองแก้มราวกับเพิ่งเผชิญหน้ากับความสูญเสียหรือพลัดพรากครั้งใหญ่ในชีวิต เสียงสะอื้นของเธอดึงดูดสายตามากมายของทั้งผู้ชุมนุมด้วยกันและผู้สังเกตการณ์ ชั่วครู่หนึ่งสุภาพสตรีอีกคนตรงเข้าปลอบใจเพื่อนร่วมชะตากรรมประหนึ่งมิตรสหายในชีวิตที่คุ้นเคยกันมานาน แต่นั่นก็ไม่เป็นผล

ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหลั่งน้ำตาแสดงออกถึงความอัดอั้นบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ภาพของสุภาพสตรีสองคนกอดคอกันร้องไห้กลางถนน เป็นภาพที่สั่นคลอนสำนึกความเป็นคนของผมมากที่สุดในวันนั้น การสูญเสียเสรีภาพและต้องพลัดพรากจากประชาธิปไตย อาจดูมีน้ำหนักไม่มากพอให้กับน้ำตาของใครต่อใคร แต่มันไม่ใช้กับเธอทั้งสองคน

หลังจากวันนั้น การติดตามถ่ายภาพความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหาร ถูกยกขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนในหมู่เพื่อนช่างภาพกลุ่มเรียลเฟรมที่ผมร่วมอยู่ ทั้งด้วยเหตุผลด้านวิชาชีพและความสนใจส่วนตัวที่ตรงกันของพวกเรา “อะไรแบบนี้ไม่ได้มีให้เห็นกันทุกวัน” ใครคนหนึ่งในกลุ่มเอ่ยขึ้น ก่อนที่บางคนในวงสนทนานั้นจะกล่าวแย้งให้เจ็บปวด “กูว่าเดี๋ยวก็มีอีกเรื่อยๆ แหละ ถ้ายังไม่ตายเดี๋ยวก็ได้เห็น” ความจริงที่เจ็บปวดทำเอาเราต่างก็เงียบ แม้ไม่เต็มใจจะเห็นด้วยเท่าไรนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราว่าข้อสรุปดังกล่าวนั้นสมจริง

ไม่กี่วันหลังจากนั้นผมต้องแปลกใจเมื่อพบว่าการชูสามนิ้วของประชาชนกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในบ้านเมืองของเรา ‘เผด็จการนั้นเปราะบางราวความรักของหนุ่มสาว’ ผมคิดในใจ ด้วยความที่มันเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและหวือหวาผิดธรรมชาติ มันจึงเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจจนอยากคงเอาไว้ซึ่งอำนาจโดยไม่เลือกวิธีการ

บรรยากาศของผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภายหลังการนัดหมายในโซเชียลมีเดีย

ผู้ชุมนุมแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหารซึ่งต่อมากลายเป็นสิ่งต้องห้ามและนำไปสู่การจับกุมผู้ที่แสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว

ประชาชนคนธรรมดาแสดงการขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ

การควบคุมของทหารในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ

ในแง่หนึ่ง มันง่ายต่อการแสดงออกสำหรับผู้ที่ต่อต้าน ขณะที่ในอีกด้านมันกลับสะท้อนความบ้าคลั่งเกินจินตนาการของเผด็จการเมืองไทย บน ท้องถนนเต็มไปด้วยสารวัตรทหารและตำรวจสันติบาล ที่คอยกวาดต้อนคนที่ชูสามนิ้วไปเข้าค่ายทหารด้วยคำกล่าวอ้างว่าพาไป‘ปรับทัศนคติ’

กลายเป็นการชิงไหวชิงพริบในหมู่นักเคลื่อนไหวและผู้คัดค้าน เมื่อหลังจากนั้นไม่นานผมได้รับการบอกกล่าวให้ตามเก็บภาพการต้านรัฐประหารอีกแบบที่ต่างออกไป

สถานี BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เวลาประมาณสี่โมงเย็น ผมเดินตามนักเคลื่อนไหวต้านรัฐปะหารกลุ่มหนึ่งขึ้นมาตามที่ได้รับการบอกกล่าวจากแหล่งข่าวคนหนึ่ง เราไม่ได้พูดคุยกันมากนักเนื่องจากไม่ต้องการเป็นที่สังเกตจนเกินไปจากผู้โดยสารคนอื่น อาศัยเพียงความคุ้นหน้ากันในฐานะคนทำงานภาคสนามที่พอจะรู้ว่าใครเป็นใคร นักกิจกรรมราว 6-7 คนโดยมีผมและช่างภาพอีกคนตามเก็บภาพ ทันทีที่รถไฟฟ้าเคลื่อนตัวออกจากสถานี พวกเขาเหล่านั้นพร้อมใจกันหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน เป็นการอ่านอย่างจริงจังจนดูเป็นความไม่ปรกติอย่างที่พวกเขาตั้งใจ ‘1984’ วรรณกรรมชิ้นคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ ถูกเลือกจากหลายคนในกลุ่มในวาระนี้ ขณะที่หนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยก็อยู่ในมือของใครบางคนในวันนั้นเช่นกัน

เราแยกย้ายกันที่สถานีราชดำริอย่างไม่มีพิธีรีตอง ด้วยเข้าใจกันดีถึงความเปราะบางของสถานการณ์ขณะนั้น ที่มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านปะปนจนไม่รู้ใครเป็นใคร บรรยากาศความไม่ไว้ใจกันปกคลุมทั้งบนท้องถนนและโลกออนไลน์ เห็นได้ชัดว่ารัฐประหารไม่ได้สร้างปรองดองดังคำกล่าวอ้าง ในทางกลับกันมันคือการซุกปัญหาไว้ใต้พรมเพื่อสะสมรอวันเอ่อล้นขึ้นมาใหม่ มีใครบ้างที่จะไม่รู้ ที่แปลกคือรู้แล้วแต่กลับยินดีกับการเกิดขึ้นจนกลายเป็นปฏิทินทางการเมืองของบ้านเรา

ถือว่าทุกคนบนรถไฟฟ้าวันนั้นโชคดีที่ไม่ถูกจับ อาจเพราะข่าวการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในวันนั้นไม่หลุดออกสู่ภายนอก หลังจากนั้นไม่นานมีนักกิจกรรมถูกจับเพราะอ่านหนังสือ ซึ่งต่อมาพัฒนาไปสู่การจับคนกินแซนด์วิช และพัฒนาไปได้ไกลจนถึงการจับคนที่ยืนเฉย ๆ  ซึ่งถึงตรงนั้นแล้ว เราคงไม่คงไม่สามารถบอกว่าบ้านเมืองเป็นปรกติได้อีกต่อไป เพราะนั่นหมายถึงเพียงแค่การที่ใครสักคนมีความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามแล้ว เป็นความผิดมหันต์จนต้องถูกจองจำในนามแห่งความดี

นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารโดยการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือบนรถไฟฟ้า BTS

การแสดง Performance Art เชิงสัญลักษณ์ถูกจัดขึ้นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามขอให้ยุติโดยเร็วที่สุด

กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติถูกจับกุมตัวและดำเนินคดีเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา

ตลอดระยะเวลาสามปีที่ คสช.อยู่ในอำนาจ ข่าวการจับกุมนักเคลื่อนไหวและผู้ที่เห็นต่างมีให้เห็นกันอยู่ประจำจนใครบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ การบุกรุก คุกคาม รวมถึงการจับกุมผู้เห็นต่างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศาลทหารถูกนำมาใช้พิจารณาคดีประชาชน ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงเสือกระดาษ เช่นเดียวกับความย้อนแย้งของฝ่ายนิติบัญญัติที่พากันออกกฎหมายมารองรับอำนาจของเผด็จการ จนเป็นที่มาของนักโทษทางความคิดหลาย ๆ คนที่ยังอยู่ในเรือนจำจนถึงวันนี้

ผมเคารพหัวใจของคนเหล่านั้น ทุกเรื่องราวความชอกช้ำและบาดแผลของพวกเขากลายเป็นบทเรียนให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี สำหรับผมแล้วมันคือแรงบันดาลใจ คือเชื้อไฟหรืออะไรบางอย่างที่ผลักให้ออกไปทำงาน

ในฐานะช่างภาพ การได้นำเสนอและบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา เป็นอะไรที่พอจะทำได้ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ ซึ่งมันอาจดูไม่เป็นกลางนัก หากมองตามหลักการของจรรยาบรรณสื่อมวลชนกับสิ่งที่ผมและเพื่อน ๆ พยายามทำอยู่ที่อาจถูกมองได้ว่าเราเลือกข้าง แต่ในฐานะประชาชนที่ยึดหลักการของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พวกเราอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง

 *ยศธร ไตรยศ ช่างภาพสมาชิกกลุ่ม Realframe

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การ 'ปิดกั้น-แทรกแซง' กิจกรรมสาธารณะของ คสช. ในรอบ 3 ปี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: