ปี 2559 'ธุรกิจขายตรง' ทรงตัว มีมูลค่า 6.2 หมื่นล้าน ด้าน 'แชร์ลูกโซ่' บูม

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6255 ครั้ง

ปี 2559  'ธุรกิจขายตรง' ทรงตัว มีมูลค่า 6.2 หมื่นล้าน ด้าน 'แชร์ลูกโซ่' บูม

แม้ 'ธุรกิจขายตรง' ในรอบปี 2559 อยู่ในสภาวะทรงตัว แต่ก็มีมูลค่าถึง 6.2 หมื่นล้านบาท ส่วน 'ธุรกิจแชร์ลูกโซ่' กลับเติบโตเบ่งบาน ระบาดไปในคนทุกชนชั้นคนจน-เศรษฐกิจ มีรูปแบบกลโกงที่หลากหลายวิธีเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งการชักชวนระดมทุนในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การลงทุนในทองคำ การชักชวนทำธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจฌาปณกิจศพ ฯลฯ ที่มาภาพประกอบ: geralt (CC0)

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าผลวิจัยอย่างไม่เป็นทางการของสมาคมการขายตรงไทย หรือ TDSA ในรอบปี 2558 พบว่ามูลค่าการตลาดของธุรกิจขายตรงจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการกว่า 200 ราย และการค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีมูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบทสรุปของธุรกิจขายตรงรอบปี 2559 นี้มีตัวเลขที่ใกล้เคียงกับมูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาทเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงทิศทางของธุรกิจขายตรงรอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายตรง คงหนี้ไม่พ้นปัญหาภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ธุรกิจขายตรงปีนี้ปิดฉากลงที่ทำได้ดีแค่เสมอตัวเท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งจะพบว่า ธุรกิจที่เฟื่องฟูและเกิดขึ้นแทบจะรายวัน คือ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่มาในรูปแบบต่างๆ มากมาย ซึ่งคงเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่คนมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองเป็นหลักสำคัญ

ธุรกิจขายตรงในรอบปี 2559 ที่ปิดตัวลงแบบทรงตัว หากมองในมุมบวกในสายตาของสุชาดา ธีรวชิรกุล ในฐานะนายกสมาคมการขายตรงไทย หรือ TDSA (Thai Direct Selling Association) นั้น ถือว่าอุตสาหกรรมขายตรงดีกว่าอีกหลายอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงน้อยกว่า ไม่เพียงแต่ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลกระทบจากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขายตรงเท่านั้น ยังมีผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในช่องทางออนไลน์ ซึ่งสินค้าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และยังมีสินค้าหลากหลายมากขึ้น แต่ในมุมของผู้เข้ามาร่วมธุรกิจนั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจขายตรงยังคงมีเสน่ห์ในตัวเอง ที่สามารถทำเป็นอาชีพได้ หรือจะเข้ามาเพียงแค่ซื้อสินค้าก็สามารถทำได้เช่นกัน

ในขณะที่ธุรกิจขายตรงอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่กลับเติบโตเบ่งบาน เพราะระบาดไปในคนทุกชนชั้นตั้งแต่คนจนจนถึงเศรษฐกิจ และมีรูปแบบกลโกงที่หลากหลายวิธี ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งการชักชวนระดมทุนในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การลงทุนในทองคำ การชักชวนทำธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจฌาปณกิจศพ และอีกสารพัดวิธีที่จะหยิบมาเป็นตัวหลอกล่อให้คนเข้าไปลงทุน โดยมีผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมามีคนหลงเข้าไปเป็นเหยื่อจำนวนหลักหมื่นหลักแสนรายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายเกิดขึ้นเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีหลากหลายคดีที่ได้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีไฮโซม่านฟ้า คดียูฟันด์สโตร์ และอีกหลากหลายคดีที่อยู่ระหว่างการสืบสวนจับกุม

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจแชร์ลูกโซ่เติบโตและเบ่งบานในยุคเศรษฐกิจฟืดเคืองเช่นนี้ มีเพียงปัจจัยเดียว คือ ความต้องการหารายได้เข้ากระเป๋าของตนเอง โดยลืมนึกถึงและพิจารณาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เพราะหากพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้วจะพบว่า ในโลกยุคปัจจุบันไม่มีธุรกิจอะไรที่จะให้ผลตอบแทนเกินกว่าความเป็นจริงไปได้ แต่ที่ผ่านมามีทั้งคนที่ไม่รู้ว่าเป็นธุรกิจหลอกลวงแล้วเข้าไปในวงการ และมีกลุ่มคนที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นธุรกิจที่หลอกลวง แต่มีความโลภมุ่งหวังจะหารายได้จากการเอาเปรียบคนอื่น

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่พยายามกวดขันจับกุม หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสมาคมการขายตรงไทย ที่รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมายและแชร์ลูกโซ่ แต่ดูเหมือนว่าข้อความที่สื่อสารยังไม่ดังไปถึงประชาชนมากจนทำให้ปัญหาลดน้อยลง

ทางสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ได้มีความพยายามผลักดันให้ปัญหาแชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้รุนแรงมากขึ้น เพื่อหวังจะลดปัญหาประชาชนถูกหลองลวงชนิดรายวันให้ลดน้อยลงมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจขายตรงยังต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรครอบด้าน และธุรกิจขายตรงที่มักจะเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจมาโดยตลอดนั้น ในปี 2560 ผู้ประกอบการก็ยังคาดหวังว่า จะสามารถกลับมาเติบโตเหมือนที่ผ่านๆ มาได้เช่นกัน แต่คงเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอัตราการเติบโตที่คาดหวังไว้คงไม่เกิน 2-3% จากปัจจุบัน โดยมีแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์การตลาด 4.0 ที่มีรูปแบบการตลาดดิจิตอลเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่แตกต่างไปจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งในธุรกิจขายตรงได้เริ่มเห็นทิศทางการก้าวไปสู่แนวทางดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว ปัจจุบันบริษัทขายตรงชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นแอมเวย์กิฟฟารีนนูสกิน และอาวียองซ์ เป็นต้น ที่ได้เริ่มพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดที่เป็นระบบดิจิตอลออกมาใช้ อาทิ แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคและนักธุรกิจ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างยอดขายให้มากขึ้นด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: