เร่งตั้งคณะกรรมการเจรจาซื้อไฟจากลาวให้ครบ 9,000 เมกะวัตต์

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3220 ครั้ง

เร่งตั้งคณะกรรมการเจรจาซื้อไฟจากลาวให้ครบ 9,000 เมกะวัตต์

กระทรวงพลังงานเตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย เพื่อเจรจาซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ให้ครบตามเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์ ระบุหากต้องซื้อผ่านระบบสายส่งไฟฟ้า (Grid to Grid) ตามที่ฝ่ายสปป.ลาวต้องการ จะต้องมีราคาค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้กับต้นทุนไฟฟ้าภายในประเทศ

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่านายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้านี้ กระทรวงพลังงานจะจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย เพื่อเข้าร่วมในคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยและลาว ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานของทั้ง 2 ประเทศเป็นประธาน เพื่อจัดการประชุมเจรจาใน 2 ประเด็นหลัก คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากทาง สปป.ลาวให้ครบ 9,000 เมกะวัตต์ ตามกรอบที่ได้ลงนามความร่วมมือ(MOU)ระหว่างกัน จากปัจจุบันไทยมีการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวแล้ว 5,427 เมกะวัตต์ โดยมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 2,111 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 3,316 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าที่ทางสปป.ลาว เตรียมเสนอขายไฟฟ้าให้กับไทยอีกกว่า 10 โครงการ

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านการรับซื้อตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แต่ลาวต้องการให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งไฟฟ้า(Grid to Grid )ระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 2 ประเทศมากขึ้น ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ แต่ฝ่ายอยากซื้อผ่านโครงการผลิตไฟฟ้าโดยตรง เช่นที่ผ่านมามากกว่า เพราะสามารถเจรจาค่าไฟฟ้าได้โดยตรง จึงต้องดูอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ที่ฝ่ายลาว นำเสนอมา ซึ่งจะต้องมีต้นทุนที่แข่งขันได้กับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทย
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีการหารือทางเทคนิคกับการไฟฟ้าลาวแล้ว ซึ่งปีนี้และปีหน้าไทยใช้งบประมาณจำนวนมากในการลงทุนขยายสายส่งไฟฟ้าไทยและลาวเชื่อม 5 จุด ให้มีประสิทธิภาพรองรับความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างกัน ทั้งนี้ หากไทยมีการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากลาวในโครงการต่างๆเพิ่มเติม จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับอีกประเด็นที่จะมีการหารือคือ การผันน้ำจาก สปป.ลาวมาไทย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการขยายที่ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาวที่ฝ่ายไทยจะรับซื้อ เพิ่มขึ้นจาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ ว่าสปป.ลาว จะพัฒนาระบบผันน้ำเข้ามายังไทยทางด้าน จ.อุตรดิตถ์ เพื่อส่งเข้าไปยังเขื่อนสิริกิติ์ และผันน้ำเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรองรับความต้องการในภาคเกษตรของไทย อย่างไรก็ตามประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยจะต้องมั่นใจว่า เป็นการผันน้ำส่วนเกิน ที่ไม่ทำให้ฝ่ายลาวเดือดร้อน ซึ่งต้องรับฟังความเป็นไปได้จากคณะกรรมการฝั่งลาวด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นอกเหนือจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ แล้ว ทางสปป.ลาวยังได้เสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ให้กับไทยด้วย แต่ฝ่ายไทยยังมุ่งเน้นไปที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นหลัก เพราะมีต้นทุนถูกเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยยืนยันว่า ไทยยังไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากลาวได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายดังกล่าว และปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ที่ผลิตได้ในประเทศเป็นหลักก่อน

สำหรับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579(พีดีพี 2015) กำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศไว้ 20% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยปัจจุบันรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศรวมอยู่ที่ 11,016 เมกะวัตต์ มีสัญญาผูกพันแล้ว 3,316 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 7,700 เมกะวัตต์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: