'ผู้จัดการสุดสัปดาห์' ขุดคุ้ยพบบริษัทเอกชนร่วมลงทุน 'พลังงานทางเลือก' กับ 'องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก' ที่ประมูล 'โซลาร์ฟาร์มราชการ' ได้ถึง 11 โครงการ ปรากฏชื่อ 'พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ' น้องชายแท้ ๆ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รวมทั้ง 2 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่งแท่นกรรมการ ที่มาภาพประกอบ: energynewscenter.com
ในรายงานพิเศษ น้องบิ๊กป้อม - ญาติบิ๊กโด่ง ใน “ธุรกิจพลังงานทางเลือก” ของ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2560 ได้ระบุถึงธุรกิจพลังงานทางเลือก, นโยบายของรัฐบาล คสช. รวมทั้งเครือญาติของคนใน คสช. ที่มีความเกี่ยวพันกันโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เป็นที่รับรู้กันว่า ในระยะหลังๆ “ธุรกิจพลังงานทางเลือก” นั้น “เนื้อหอม” สักเพียงใด
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่จะปรากฏ “ตัวละคร” มากมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งก็ต้องถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมเพราะเป็นการประกอบสัมมาชีพอันเปิดเผยต่อสาธารณชน
แต่ที่น่าจับตาและจำต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ หลายมีบริษัทมีชื่อ “เครือญาติ” ที่ใกล้ชิดกับขั้วอำนาจประเภท Deep State นั่งแป้นแล้นอยู่ด้วย ทั้งในรูปของที่ปรึกษาหรือกรรมการบริษัท
ยิ่งเมื่อ คสช.ใช้อำนาจเหนืออำนาจคือ ม.44 โดยอ้างว่า เพื่อปลดล็อก “ที่ดิน ส.ป.ก.”หรือที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้ดำเนินกิจการ 3 ด้านคือ “ปิโตรเลียม กิจการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และกิจการสำรวจเหมืองแร่” เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามาว่า เอ๊ะ...เกิดอะไรขึ้น
สำหรับกรณีแรกคือการใช้ ม.44 เพื่อเปิดช่องในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.นั้น เมื่อไปตรวจสอบ 19 บริษัทเอกชน ที่ดำเนินกิจการพลังงานลมในพื้นที่ ส.ป.ก.พบว่า มีรายหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “EA” เพราะปรากฏชื่อ“บิ๊กป๊อด”พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายแท้ๆ ของ “ป๋าป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ใหญ่ผู้มากบารมีในรัฐบาลคสช. นั่งเป็น บอร์ด EA อยู่ด้วย
พล.ต.อ.พัชรวาทนั่งเป็นกรรมการอิสระของ Eaโดยมี เดอะแป๋ง-สมใจนึก เองตระกูล มือประสานสิบทิศที่มีสายสัมพันธ์กับทุกขั้วการเมืองนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ
กรณี่ที่สองคือ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 (โซลาร์ฟาร์ม)” ที่มี “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” เป็นเจ้าภาพใหญ่
โครงการนี้ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะปรากฏชื่อ “องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก(อผศ.)” เข้าร่วมในการยื่นประมูลแล้ว และในการประกาศผลหน่วยงานราชการที่ได้รับการคัดเลือกอย่างไม่เป็นทางการ อผศ.สามารถคว้าไปได้ถึง 11 โครงการแล้ว ยังปรากฏชื่อ “เครือญาติวงษ์สุวรรณ” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
กรณีของ อผศ.ที่เข้าร่วมประมูลและได้รับการคัดเลือกนั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะโครงการนี้สามารถนำรายได้มาสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึก ซึ่งเสียสละปกป้องผืนแผ่นดินไทยจนต้องเสียเลือดเสียเนื้อเสียชีวิตและพิการทุพลภาพ
แต่กรณีที่บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลมีชื่อเครือญาติวงษ์สุวรรณเข้าไปนั่งเป็นกรรมการนั้น ชวนให้ขบคิดอยู่ไม่น้อย แม้จะเป็นการเข้าไปในธุรกิจที่ประกอบสัมมาชีพก็ตาม
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก(สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลพบุรี) สระบุรี ซึ่งมี บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เป็นเอกชนร่วมลงทุน ปรากฏชื่อ บิ๊กปุ้ม “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ” น้องชายแท้ ๆ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้ง พล.อ.อุทิศ สุนทร และ พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ 2 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่งแท่นเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการอิสระ
ความจริงการที่บุคคลเหล่านี้ ไปนั่งเป็นกรรมการถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนได้เกษียณราชการไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ โดยเฉพาะกรณี พล.อ.อุทิศ และ พล.อ.คณิต แต่สำหรับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชรและ พล.ต.อ.พัชรวาท สังคมมีสิทธิเคลือบแคลงใจ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองคนคือน้องชายแท้ๆ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ
แน่นอน ถ้าพูดถึงเรื่อง “กฎหมาย” เป็นสิทธิที่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชรและพล.ต.อ.พัชรวาทสามารถทำได้ แต่ “เหมาะสม” หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักให้มาก ยิ่งเมื่อบริษัทเอกชนนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการของภาครัฐด้วยแล้ว ยิ่งมีคำถามตามมามากมาย และแม้จะยืนยันว่า ไม่มีนอกมีใน ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งข้อติฉินนินทาที่จะเกิดตามมาได้
นอกจากนี้ ในช่วงที่ อผศ.คัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าร่วมลงทุน ยังปรากฏชื่อบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้ายด้วย และเมื่อได้ตรวจสอบรายชื่อกรรมการบริษัทก็พบว่ามีชื่อ พล.อ.นิพนธ์ สีตบุตร ซึ่งเคยเป็นประธานที่ปรึกษาประธานกรรมการการประปานครหลวง (กนป.) เมื่อปี 2555 และเ เป็นเครือญาติของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม รวมอยู่ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2551 คนสกุล ‘ธรรมมนุญกุล’ ซึ่งเป็นเจ้าของเครือ ‘สุธีกรุ๊ป’ เป็นกรรมการมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 (แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 19 เม.ย. 2560) กรรมการบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ได้แก่ นายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล นายประวิตร ธรรมมนุญกุล นายประดิษฐ์ ธรรมมนุญกุล นายประทีป ธรรมมนุญกุล น.ส.รุ่งฤดี เหมนิลรัตน์ (สกุลเดิม ธรรมมนุญกุล) นายอัมพร สุจินัย มีมติเพิ่มกรรมการบริษัทอีกรายหนึ่ง ได้แก่ นายนิพนธ์ สีตบุตร
จากการตรวจสอบประกาศ อผศ. ให้เอกชนแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ พบว่า ประกาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2560 และปิดรับภายในวันที่ 31 มี.ค. 2560 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 กรรมการบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด จึงมีมติให้ พล.อ.นิพนธ์ สีตบุตร เข้ามาเป็นกรรมการ
เท่ากับว่าระยะเวลาเพียง 5 วัน ภายหลัง อผศ. ปิดรับเอกชนแสดงความจำนงดังกล่าว กรรมการบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด จึงให้ พล.อ.นิพนธ์ มาดำรงตำแหน่งกรรมการ
ทั้งนี้ 2 บริษัทดังกล่าว ยืนยันว่า การคัดเลือก 4 นายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามานั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการ หรือกรรมการบริษัทขณะนั้น ไม่ทราบในรายละเอียด
อย่างไรก็ดี ในการประกาศผล(อย่างไม่เป็นทางการ) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.60 ไม่ปรากฏชื่อบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ได้รับการคัดเลือกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่กรณีนี้เท่านั้น หากแต่โครงการโซลาร์ฟาร์ม ในส่วนของ อผศ.ยังมีข้อร้องเรียนเรื่องมีลุ่มผู้มีอิทธิพลโดยทหารยศพลเอกชื่อย่อ ‘เสธ.จ.’ แอบอ้างชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ บิ๊กบราเทอร์ส เรียกรับผลประโยชน์จากเอกชนที่เข้าไปวิ่งเต้น โดยหักหัวคิวรายละ 1 ล้านบาทเพื่อให้ได้ร่วมลงทุนอีกด้วย
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน ได้ยื่นยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบขบวนการเรียกรับสินบนโครงการโซลาฟาร์มขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) มาแล้ว กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ไปเคลียร์และตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถทำได้หรือไม่
ทั้งนี้ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมว่า “ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการ อผศ. มีความโปร่งใส ยุติธรรม มีการชี้แจงให้เอกชนที่เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการให้ทราบในทุกขั้นตอน รวมทั้งพิจารณาว่า เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรายใดจะได้รับการคัดเลือกก็จะมีทั้งคณะทำงานที่ทำหน้าที่กลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของ อผศ. ด้วย ดังนั้นข้อร้องเรียนว่า มีกลุ่มอิทธิพลเข้ามาชี้นำแทรกแซงการดำเนินการของ อผศ. จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”
ขณะที่ พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอผศ. จะออกมาประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “หากมีผู้พบเบาะแสว่า หรือมีหลักฐานว่ามีผู้กระทำการดังกล่าว ขอให้เปิดเผยรายชื่อและแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐได้ทุกช่องทาง โดย อผศ.จะดำเนินการทางกฏหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ ขออย่าได้หลงเชื่อ และขอให้รับฟังข้อเท็จจริงจาก อผศ. เท่านั้น” เสียงโจษจานก็ยังอยู่เหมือนเดิม
สอดคล้องกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ที่ระบุว่า กรณีเรียกรับผลประโยชน์ ผอ.อผศ. ชี้แจงไปหมดแล้วและ ‘ส่ายหน้า’ เมื่อถูกถามว่า กระทรวงกลาโหมจะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้หรือไม่ ?
ทั้งนี้ แม้จะได้รับคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องและผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่าโปร่งใสไม่ลับลวงพราง ทว่า เสียงโจษจันก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่สร่างซา
งานนี้ เห็นทีจะมีก็แต่บทสรุปอันเป็นที่ยุติด้วยประโยค “มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนดเสียจริงๆ ” เท่านั้น ที่ออกมาตรงกันโดยมิได้นัดหมาย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ