พนักงานอายุ 40 อัพควรอ่าน! ประสบการณ์ที่โรงงานในจีน 'ถูกเลิกจ้าง-หางานยาก'

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 2 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 10984 ครั้ง

พนักงานอายุ 40 อัพควรอ่าน! ประสบการณ์ที่โรงงานในจีน 'ถูกเลิกจ้าง-หางานยาก'

เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ของจีนที่อยู่ระหว่างการยกระดับอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อโรงงานที่ใช้แรงงานฝีมือเข้มข้น ต้อง ‘ปิดตัว’ และ ‘ย้ายฐานการผลิต’ ภายใต้ระบบสวัสดิการสังคมอันน้อยนิด กลุ่มคนงานวัยกลางคนที่ถูกเลิกจ้างจึงประสบปัญหาการหางานทำใหม่และยังต้องดิ้นรนกับหาเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด โดยเฉพาะคนงานหญิง ที่มาภาพประกอบ: Robert Scoble(CC BY 2.0)

เมื่อเดือน ต.ค. 2016 เว็บไซต์เปิดเผยรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับแรงงานในจีน พบว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ที่อยู่ระหว่างการยกระดับอุตสาหกรรม ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานที่ใช้แรงงานฝีมือเข้มข้น คือ โรงงานปิดตัวและย้ายฐานการผลิต อีกทั้ง ภายใต้ระบบสวัสดิการสังคมอันน้อยนิด กลุ่มคนงานวัยกลางคนที่ถูกเลิกจ้างจึงประสบปัญหาการหางานทำใหม่ และยังดิ้นรนกับหาเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด รายงานสืบสวนปัญหาฉบับนี้ได้สัมภาษณ์แรงงานย้ายถิ่น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของกลุ่มอดีตคนงานผลิตของเล่นที่ถูกเลิกจ้างจากการที่โรงงานย้ายฐานการผลิต และความจำเป็นของการหางานทำใหม่ที่รัฐบาลและสหภาพแรงงานยังเพิกเฉย

คนงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างจำนวนมากเป็นคนงานวัยกลางคน ทำงานในโรงงานผลิตของเล่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง ต้องดูแลครอบครัว ยิ่งกว่านั้น พบว่า มาตรฐานการจ้างงานต่ำมาก พวกเขาไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในกองทุนบำเหน็จบำนาญ และยังไม่พร้อมที่จะถอนตัวออกจากตลาดแรงงาน

คนงานเหล่านี้มีทักษะในการผลิตของเล่นและทำงานเป็นเวลาหลายปี หลายคนต้องการที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มเติม แต่ก็เผชิญกับอุปสรรคมากมายในการหางานทำ ซึ่งได้แก่ 1.ข้อจำกัดเรื่องอายุ โรงงานส่วนใหญ่รับพนักงานที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ทำให้พนักงานที่อายุมากกว่า 40 ไม่สามารถหางานประจำและมั่นคงได้ 2.สิทธิสวัสดิการในการประกันการว่างงานไม่เพียงพอ คนงานส่วนใหญ่ได้รับเงินประกันการว่างงานเพียง 1-2 เดือน แต่การหางานทำใช้เวลาโดยเฉลี่ย 4 เดือน และ 3.สภาพการจ้างเลวร้าย คนงานที่ต้องการหางานมั่นคงให้ข้อมูลว่า สภาพการจ้างนั้นให้ค่าตอบแทนต่ำ ไม่ทำสัญญาจ้างและให้สวัสดิการน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตัวเองและครอบครัว และ 4.ความไม่มั่นคงในการทำงานของโรงงานผลิตของเล่นในเมืองเซินเจิ้น โรงงานที่ยังดำรงอยู่จ้างงานยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่หดตัวและจ้างแรงงานชั่วคราว ระยะเวลาในการทำงาน 2 วัน-1 เดือน ทำให้งานมีลักษณะไม่มั่นคงสูง

ในส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประกันการว่างงานในปัจจุบันของเมืองเซินเจิ้นไม่สามารถรองรับสถานการณ์ของคนงานวัยกลางคนได้ คือ คนงานที่ลาออกและคนงานที่หาหลักฐานพิสูจน์การว่างงานโดยไม่เต็มใจไม่ได้จะไม่ได้รับสิทธิประกันการว่างงาน อัตราผลประโยชน์ก็ไม่เพียงพอในระหว่างหางานทำ เจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือคนงานหางานที่เหมาะสมและฝึกทักษะเพิ่มเติม นโยบายต่าง ๆ ช่วยเหลือนักธุรกิจ start-ups ซึ่งมักเป็นผู้มีการศึกษาสูงและเป็นคนรุ่นใหม่ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ไม่ให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอแก่อดีตคนงานวัยกลางคนเหล่านี้

จากรายงาน ได้มีข้อเสนอแนะที่จะปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดหางานใหม่ ดังนี้ 1.กองทุนประกันการว่างงาน ควรลดภาระของคนงานมากกว่าผู้ประกอบการ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลของมณฑลกวางตุ้งได้ตัดเบี้ยประกันกองทุนประกันการว่างงานให้แก่นายจ้าง ในขณะที่เทศบาลเมืองเซินเจิ้นได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการในกองทุนประกันการว่างงาน เพื่อช่วยในการจ้างงานที่มั่นคง เราเห็นว่าคนงานควรได้รับการดูแลเท่าเทียมกับผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย และการดำเนินงานของกองทุนประกันการว่างงานควรโปร่งใสตรวจสอบได้ คนงานทั้งหมดควรได้รับเงินประกันการว่างงานเป็นเวลาอย่างต่ำ 3 เดือน และไม่ควรต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในเขตนั้น ๆ และควรจะมีการปรับอัตราขึ้นอย่างน้อยทุก 2 ปี

2.สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการบริการจัดหางานให้แก่คนงาน นโยบายหรือบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการจัดหางาน การหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมและส่งเสริมการเริ่มธุรกิจ ควรขยายประโยชน์คลอบคลุมคนงานทุกช่วงวัย โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงทะเบียนบ้าน สำนักทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมควรประสานงานในด้านทรัพยากรและประสบการณ์กับองค์กรทางสังคมต่าง ๆ เพื่อจัดตำแหน่งงานใหม่ให้แก่คนงานทุกช่วงวัย รวมทั้งการยกระดับทักษะฝีมือและการศึกษา และงบประมาณสนับสนุนคนงานในระหว่างการฝึกอบรมเพื่อเป็นแรงจูงใจด้วย และ 3.ควรมีคำสั่งห้ามการเลือกปฏิบัติของผู้ประกอบการในการรับสมัครงาน เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าการเลือกปฏิบัติในเรื่องอายุและเพศสร้างอุปสรรคในการหางานประจำที่เหมาะสมของคนงาน รัฐบาลกลางจึงควรออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและความเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://www.workerempowerment.org/en/policy-advocacy/147

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: