‘อำนาจล้นเหลือ’ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตรวจค้น ‘รถ’ ของเรา

ทีมข่าว TCIJ : 2 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 31555 ครั้ง

ประชาชนควรรู้สิทธิของตนเอง เมื่อรถถูกตรวจค้นยาเสพติด ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

การตรวจค้นยานพาหนะ โดยเฉพาะการตรวจค้นยาเสพติด เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดในสังคมอย่างกว้างขวางอีกครั้ง หลังมีเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมนักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ด่านตรวจค้นยาเสพติดแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้จากการสืบค้นของ TCIJ พบว่าในทางกฎหมายถือว่าการค้นรถเป็นการค้นในที่สาธารณะที่ไม่ต้องขอหมายค้นจากศาล แค่อาศัย ‘เหตุอันควรสงสัย’ หรือ ‘มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร’ ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการให้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้บางครั้งส่งผลให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ขัดแย้งกันจนถึงขั้นฟ้องร้องมาแล้ว

หลักการครอบจักรวาล ‘เหตุอันควรสงสัย-เหตุอันควรเชื่อ’

จากงานศึกษาเรื่อง ‘อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจค้นยานพาหนะส่วนบุคคล’ โดย เสรี เตียมวงค์, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นยานพาหนะ ที่มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ๆ ให้อำนาจตรวจค้นได้โดยตรง เพียงแต่อาศัยเหตุอันควรสงสัย เหตุอันควรเชื่อนั้น เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 ซึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น หรือคำสั่งของศาลเว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น" และ มาตรา 93 ซึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือมีไว้เป็นความผิด"

สถานการณ์การตรวจค้นยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการค้นในที่สาธารณะ เพราะมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ดังนั้นการค้นในลักษณะนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องขอหมายค้นจากศาล อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเรียกหรือสั่งให้รถหยุดเพื่อตรวจค้น จะทำได้โดยมิต้องมีหมายจากศาล ซึ่งพนักงานตำรวจก็อาจกระทำการด้วยการตั้งด่านตรวจค้นได้ แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ค้นต้องควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของกฎหมายที่บัญญัติว่า การค้นนั้นต้องมี ‘ความจำเป็น’กล่าวคือมี ‘เหตุอันควรสงสัย’ หรือ ‘มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร’ และการตรวจค้นยานพาหนะต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การรับรองเอาไว้ ต่อมาได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 49 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะได้ และในพระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2519 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 14 ก็ให้อำนาจกรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการและเจ้าพนักงาน มีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ เช่นกัน

กฎหมายเปิดช่องค้นได้- กับใครและอย่างไร ?

สำหรับกฎหมายเฉพาะที่เปิดช่องให้มีการค้นยานพาหนะเท่าที่สืบค้นได้ ก็มีเช่น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469, พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519, พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 แล้ว), พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534, พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535, พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545, พระราชบัญญัติในการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นต้น

เจ้าพนักงานที่สามารถตรวจค้นยานพาหนะได้ ก็คือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16) ที่ระบุไว้ว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าพนักงาน อื่น ๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม”

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานของรัฐไว้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นการเฉพาะโดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้กำหนดตัวเจ้าพนักงานของรัฐผู้ที่มีอำนาจตรวจค้นไว้ด้วย เช่น พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ให้อำนาจตรวจค้นแก่ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้อำนาจตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร, พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ให้อำนาจแก่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามกฎหมายนี้ และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ให้อำนาจแก่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานทางหลวงเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายนี้ เป็นต้น

ลักษณะการค้นจะทำได้ 3 ลักษณะ คือ 1. เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานของรัฐให้สามารถทำการตรวจค้นยานพาหนะได้ เพื่อจะให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวนดำเนินคดีไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี  2. ให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐให้สามารถค้นยานพาหนะได้เพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมตัวบุคคลซึ่งได้กระทำความผิด หรือจะกระทำความผิด และช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ 3. ให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐ สามารถค้นยานพาหนะเพื่อเป็นการป้องกันการก่อคดีอาชญากรรม เพื่อจะให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

ข้ออ้างในการขอตรวจค้น: อาศัยเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือ ‘เหตุอันควรสงสัย’ ‘พฤติการณ์อันควรสงสัย’ ‘เหตุอันควรเชื่อ’ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่าพฤติการณ์หรือการกระทำใดบ้างที่จะถือว่าเป็นเหตุอันควรสงสัย พฤติการณ์อันควรสงสัย เหตุอันควรเชื่อ การใช้อำนาจหยุดยานพาหนะ หรือทำการตรวจค้นยานพาหนะของเจ้าพนักงานตำรวจประจำด่านตรวจเป็นการกระทำที่อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจผู้ค้นเป็นสำคัญ (เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกาต้องมี ‘เหตุอันควร’ มิใช่ ‘เหตุอันควรสงสัย’ เท่านั้นที่จะใช้เป็นเหตุผลในการขอตรวจค้น ส่วนในอังกฤษมีการระบุวิธีการและขั้นตอนในการตรวจค้นยานพาหนะไว้ชัดเจน อ่านเพิ่มเติมใน จับตา: ตัวอย่างการตรวจค้นรถในต่างประเทศ)

การค้นบุคคลที่อยู่ในยานพาหนะ บุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม อาจจะมีสิ่งของผิดกฎหมาย หรืออาจมีสิ่งของที่ใช้ในการกระทำความผิด ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีอาญา การแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด จะต้องแสวงหาสิ่งของหรือพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะทำได้เพื่อที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยาน หลักฐานนั้น นอกจากจะถูกเก็บรักษา หรือซุกซ่อนไว้ในสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็ยังอาจถูกเก็บรักษาหรือซุกซ่อนอยู่ในตัวบุคคลทั้งที่เป็นผู้กระทำผิดเองหรือบุคคลอื่นก็ได้ หากรัฐไม่สร้างหลักเกณฑ์ให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐให้สามารถเสาะแสวงหาและยึดสิ่งของหรือหาพยานหลักฐานจากตัวบุคคลทั่วไป และรวมทั้งจากตัวบุคคลที่อยู่ในยานพาหนะได้แล้ว ก็จะทำให้สิ่งของดังกล่าวหลุดไปจากกระบวนการพิจารณาดำเนินคดี ทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน การรักษาความสงบสุขของประชาชนหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่บุคคลที่ยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดย่อมมีฐานะแตกต่างไปจากผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดและจะต้องถูกจับ ดังนั้น อำนาจรัฐที่จะเข้าไปล่วงล้ำสิทธิของบุคคลดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำกัด

ตามที่ได้กล่าวถึงหลักกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับการค้นมาแล้วนั้น เป็นการกล่าวถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้นเพื่อแสวงหาพยานหลักฐาน หรือสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานแห่งคดีจากบุคคลผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดอาญาโดยค้นจากทั้งที่รโหฐาน และที่สาธารณสถาน โดยที่ยังไม่ได้กล่าวถึงการค้นหาพยานหลักฐานจากตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยซึ่งอยู่ในยานพาหนะ ดังนั้นหลักกฎหมายตามที่ได้กล่าวข้างต้นจึงสามารถใช้กับการค้นตัวบุคคลผู้ต้องสงสัย ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งอยู่ในยานพาหนะได้ด้วย เช่น ค้นตัวบุคคลที่นั่งโดยสารมาในยานพาหนะและมีการซุกซ่อนสิ่งของผิดกฎหมายมาด้วย

อำนาจของเจ้าพนักงานผู้ทำการตรวจค้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94 ได้กำหนดอำนาจของเจ้าพนักงานที่ทำการค้นในที่รโหฐานไว้ดังนี้ คือ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ทำการค้นในที่รโหฐานสั่งเจ้าของ หรือคนอยู่ในนั้น หรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้นให้ยอมให้เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้งให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะจัดการตามหมาย ทั้งนี้ให้พนักงานผู้นั้นแสดงหมาย หรือถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายก็ให้แสดงนามและตำแหน่ง ถ้าบุคคลดังกล่าวในวรรคต้นมิยอมให้เข้าไป เจ้าพนักงานมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไป ในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลายประตูบ้าน ประตูเรือน หน้าต่าง รั้ว หรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทำนองเดียวกันนั้นก็ได้ นอกจากนี้ มาตรา 100 ก็ยังได้กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้ค้นไว้อีกว่า ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลซึ่งอยู่ในที่ซึ่งค้นหรือจะถูกค้น จะขัดขวางถึงกับทาให้การค้นไร้ผล เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอำนาจเอาตัวผู้นั้นควบคุมไว้ หรือให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็น เพื่อมิให้ขัดขวางถึงกับทำให้การค้นนั้นไร้ผล ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นได้เอาสิ่งของที่ต้องการพบซุกซ่อนในร่างกาย เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอำนาจค้นตัวผู้นั้นได้ตาม มาตรา 85

เวลาในการค้น ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดเวลาในการค้นยานพาหนะไว้ เพียงแต่ได้วางหลักกำหนดเวลาในการค้นที่รโหฐานไว้ในมาตรา 96 โดยวางหลักว่า “การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก” และได้วางหลักกำหนดข้อยกเว้นเพื่อให้สามารถทำการตรวจค้นในเวลากลางคืนได้ หากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นหรือเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้ ดังนี้ “เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะต้องค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้ ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้ และสำหรับการค้นเพื่อจับผู้ดุร้าย หรือผู้ร้ายสำคัญ จะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา”

อำนาจและดุลยพินิจไม่มีขีดจำกัด ขัดหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในงานศึกษาของเสรี เตียมวงค์ ระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับการค้นรถยนต์ไว้ว่า การใช้อำนาจและการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการตรวจค้นยานพาหนะชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยไม่มีขีดจำกัด ส่งผลให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ ตลอดจนความคิดเห็นที่ขัดแย้งและยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นที่รโหฐานหรือไม่ ทำให้บ่อยครั้งที่การตรวจค้นรถยนต์โดยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เป็นไปด้วยความยากลำบากจนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันถึงขั้นนำสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เช่น คดีที่อดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่งไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจทำการตรวจค้นรถยนต์ที่ตนขับไป และได้ขัดขวางไว้ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเปิดประตูรถเพื่อตรวจค้นภายในรถ จึงทำให้เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับอดีตผู้พิพากษาท่านนั้นฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ (คำพิพากษาฎีกา ที่ 2281/2534)

แน่นอนว่า ปัญหาเรื่องการค้นรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นมีอยู่และยังคงมีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ซึ่งได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากกว่าการให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐในการควบคุม หรือการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ทำให้ผู้ที่มีความเชื่อหรือมีแนวคิดว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นที่รโหฐาน ไม่ยินยอมให้ทำการตรวจค้นรถยนต์คันที่ตนขับไป ยิ่งทำให้เจ้าพนักงานของรัฐเกิดความสงสัยขึ้นเป็นอย่างยิ่ง และทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก

และปัญหาในการตรวจค้นยานพาหนะชนิดรถยนต์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1. ปัญหาเกี่ยวกับการค้นยานพาหนะที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา หรือยานพาหนะที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดนั้นส่วนมากจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล การตรวจค้นต้องกระทำด้วยความรวดเร็วและฉับพลันทันทีเพื่อมุ่งหวังที่จะให้ได้พบสิ่งของหรือบุคคลที่ต้องการพบ เพื่อยึดหรือช่วยเหลือบุคคลอย่างทันท่วงที แต่ก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติคือ ผู้ถูกค้นหรือจะถูกค้นขัดขืนโดยอ้างข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำไปโดยอาศัยความเห็นจากการตีความของกรมตำรวจ อันเป็นความเห็นแต่เพียงฝ่ายเดียวของผู้มีหน้าที่ในการปฏิบัติ ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นว่าอาจจะไม่ถูกต้องได้ และ 2. ปัญหาเกี่ยวกับการค้นยานพาหนะทั่วไป ที่เป็นปัญหามากนั้นคือการตั้งด่านตรวจค้นรถยนต์เพื่อจับกุมขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติด จากภาคเหนือสู่ภาคกลางของประเทศ เนื่องจากเป็นกรณีที่ยังไม่ทราบว่า ได้มีหรือจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นกับยานพาหนะคันใดหรือไม่ เป็นแต่เพียงการตรวจค้นเพื่อเป็นการป้องกันการกระทำความผิดเท่านั้น จึงเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนตัวของบุคคลได้มากที่สุด

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ตัวอย่างการตรวจค้นรถในต่างประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: