จับตา: ตัวอย่างการตรวจค้นรถในต่างประเทศ

ทีมข่าว TCIJ : 2 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 6240 ครั้ง


ดูตัวอย่างการตรวจค้นยานพาหนะตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ  ในสหรัฐฯ ต้องมี ‘เหตุอันควร’ มิใช่ ‘เหตุอันควรสงสัย’ เท่านั้น ที่จะใช้เป็นเหตุผลในการขอตรวจค้น ส่วนในอังกฤษมีการระบุวิธีการและขั้นตอนในการตรวจค้นยานพาหนะไว้ชัดเจนเป็นรูปธรรม

ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

จากงานศึกษาเรื่อง ‘อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจค้นยานพาหนะส่วนบุคคล’ โดย เสรี เตียมวงค์, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รวบรวมตัวอย่างการค้นยานพาหนะตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและ อังกฤษ ไว้ดังต่อไปนี้

สหรัฐอเมริกา

การตรวจค้นยานพาหนะ ในกรณีที่ต้องมีหมาย หลักทั่วไป ถ้าหากมีโอกาสขอหมายค้นได้ ก็ควรจะใช้หมาย แม้ว่าบางครั้งการตรวจค้นอาจจะกระทำได้โดยชอบทั้ง ๆ ที่ไม่มีหมายก็ตาม ศาลมักจะเห็นชอบกับการตรวจค้นหากได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามหมายค้น ในขณะที่ยานพาหนะอันเคลื่อนไหวได้รวดเร็วยิ่งทำให้ไม่เปิดโอกาสให้ขอหมายค้นได้ ในบางกรณีจึงได้กำหนดไว้ว่าหากพอจะมีเวลาจึงจะขอหมายได้ ส่วนการตรวจค้นในกรณีที่ไม่ต้องมีหมาย ต้องมี ‘เหตุอันควร’ มิใช่ ‘เหตุอันควรสงสัย’ เท่านั้น ที่จะใช้เป็นเหตุผลในการขอตรวจค้นยานพาหนะ และก็ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้นยานพาหนะนั้นแล่นหรืออาจจะแล่นไปได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่อาจมีการเคลื่อนตัวออกไปนอกเขตอำนาจศาลและเนื่องมาจากลักษณะแตกต่างเฉพาะตัวระหว่างยานพาหนะกับบ้านเรือน ที่อาจทำการตรวจค้นรถยนต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่อาจใช้เป็นเหตุผลข้ออ้างในการค้นที่พักอาศัยหรือที่ทำการได้โดยไม่ต้องมีหมาย

การตรวจค้นเริ่มขึ้นเมื่อไร เพียงแต่การสั่งให้รถหยุดเท่านั้น มิใช่การตรวจค้น ดังนั้นการยอมให้รถผ่านหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่สั่งให้หยุดรถ กับเวลาที่ได้ทำการตรวจค้นจริง ๆ อาจนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุที่เป็นไปได้ที่จะทำการตรวจค้นตามทฤษฎี ‘สิ่งที่อยู่ในที่โล่ง’ อาจนำมาใช้กับยานพาหนะได้ ยิ่งกว่านั้นสิ่งใดก็ตามที่อาจเปิดเผยได้โดยใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในยานพาหนะในเวลากลางคืน ก็ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในที่โล่ง ในกรณีที่มีเหตุอันเป็นไปได้ ให้เชื่อว่ารถยนต์คันนั้นถูกขโมยมา หรือมีความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องดูลักษณะรถ การตรวจดูหมายเลขรถ และหมายเลขเครื่องยนต์ ไม่ถือว่าเป็นการตรวจค้นแต่ประการใด

การใช้กำลังในการตรวจค้น หากเจ้าพนักงานมีอำนาจตามกฎหมายที่จะตรวจค้นยานพาหนะแต่เจ้าของปฏิเสธ มิให้เข้าตรวจค้น เจ้าพนักงานอาจใช้กำลังเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อตรวจค้นยานพาหนะนั้นได้ การใช้กำลังอันไม่เหมาะสมเพื่อหยุดรถอาจทำให้การตรวจค้นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะมีเหตุอันเป็นไปได้ที่จะทำการตรวจค้นก็ตาม เช่นเจ้าพนักงานผู้หนึ่งได้ใช้อาวุธปืนยิงยางรถคันหนึ่งเพื่อหยุดรถนั้น แม้เขาจะมีเหตุที่เป็นไปได้ที่จะตรวจค้น การใช้กำลังในลักษณะดังกล่าวนี้นับว่าไม่สมเหตุผล ดังนั้นจึงนับว่าการตรวจค้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การกั้นถนนเพื่อตรวจค้นรถยนต์บางคัน การกั้นถนนเพื่อกักรถทุกคันเพื่อทำการตรวจค้นไม่อาจกระทำได้ แต่ศาลอาจสนับสนุนการกั้นถนนเพื่อกักรถ เพื่อทำการตรวจค้นรถบางคันที่ได้ระบุไว้ หรือรถยนต์คันที่ได้บรรทุกสิ่งของ หรือบุคคลตามที่ระบุไว้ ซึ่งเจ้าพนักงานมีเหตุที่เป็นไปได้ที่จะทำการตรวจค้น

อังกฤษ

การตรวจค้นยานพาหนะของประเทศอังกฤษนั้น กฎหมายได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรวมทั้งมีการระบุวิธีการและขั้นตอนในการตรวจค้นยานพาหนะไว้ชัดเจนด้วย ดังนี้

  1. เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจในการค้นยานพาหนะ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของที่ถูกขโมย หรือของต้องห้ามตามกฎหมาย หรือสิ่งของใด ๆ ที่ได้มาจากการกระทำความผิด รวมถึงอาวุธซึ่งตนได้ทำขึ้น หรือดัดแปลงเพื่อใช้ในการกระทำความผิด
  2. ในการตรวจค้นยานพาหนะนั้น การตรวจค้นจะกระทำได้แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเครื่องแบบเท่านั้น ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจมิได้อยู่ในเครื่องแบบ เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวด้วย
  3. ก่อนการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ดังนี้ 1. แจ้งชื่อ และชื่อสถานีตำรวจที่ตนสังกัดอยู่ 2. แจ้งวัตถุประสงค์ในการตรวจค้น และ 3. แจ้งเหตุผลในการตรวจค้น
  4. ในระหว่างการตรวจค้นนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และความเป็นส่วนตัวของเจ้าของสถานที่ที่ทำการตรวจค้น และต้องให้เกิดการรบกวนน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
  5. เมื่อทำการตรวจค้นเสร็จ ต้องทำบันทึก โดยบันทึกดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดในส่วนของชื่อบุคคลที่ถูกตรวจค้น , วัตถุที่ต้องการค้นหา , เหตุผลในการตรวจค้น , วัน เวลา สถานที่ที่ทำการตรวจค้น สิ่งที่ได้จากการตรวจค้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคล หรือทรัพย์สินที่เกิดจากการค้น ซึ่งเมื่อได้มีการทำบันทึกดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ยังต้องมีการรายงานและส่งบันทึกดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นหนึ่งด้วย

กล่าวโดยสรุป อำนาจการตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจในประเทศอังกฤษ สามารถกระทำได้ เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อยู่ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่สุดที่จะต้องทำการค้นยานพาหนะนั้น ไม่ว่าจะเป็น จากเหตุอันควรสงสัย เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน หรือจากการปฏิบัติการปกป้องคุ้มครองภัยของสาธารณชน และจากหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจในการหยุด และตรวจค้นบุคคลหรือยานพาหนะ จะใช้ได้เฉพาะเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยเพียงพอว่าจะพบสิ่งของซึ่งถูกขโมย หรือเป็นสิ่งของต้องห้ามตามกฎหมาย แต่อำนาจการตรวจค้นดังกล่าวไม่สามารถทำการตรวจค้นในที่อยู่อาศัยได้ แม้ว่าจะมีอำนาจตรวจค้น ดังเช่น การตรวจค้นในที่สาธารณ สถานที่ประชาชนมีความชอบธรรมเข้าไปได้ทุกเวลา 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: wikimedia.org

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: