ไม่มีสถานีศึกษาวิทยา บีทีเอสควรลดค่าโดยสารไหม

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 3 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 4860 ครั้ง


ในแผนที่รถไฟฟ้า บีทีเอสระบุมีสถานีศึกษาวิทยา แต่ในความเป็นจริงไม่มีสถานีนี้ แต่บีทีเอสเก็บค่าโดยสารจากสถานีสุรศักดิ์-ช่องนนทรีย์ 22 บาท แทนที่จะเป็น 15 บาท บีทีเอสอาจได้กำไรเกินไป 234.6 ล้านบาทต่อปี บีทีเอสเปิดมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงวันนี้คงรวมเงินเกินไปเป็นเงินนับพันล้านแล้ว จะทำอย่างไรดี

แผนที่รถไฟฟ้ามหานครหรือ "บีทีเอส" มีระบุสถานีศึกษาวิทยา แต่ในความเป็นจริงไม่มีสถานีนี้ และเคยระบุว่าจะมีการศึกษาเพื่อก่อสร้าง (http://bit.ly/2eFhCkU) แต่บีทีเอสเก็บค่าโดยสารจากสถานีสุรศักดิ์-ช่องนนทรีย์ 22 บาท แทนที่จะเป็น 15 บาท โดยให้เหตุผลว่า (จะ) มีสถานีรถไฟฟ้าศึกษาวิทยา ซึ่งยังไม่มีเพราะยังไม่ได้สร้าง กรณีอย่างนี้จะสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา อันที่จริงควรเพิ่มค่าโดยสาร ก็ต่อเมื่อมีสถานีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จก่อนหรือไม่

หากวัดระยะทางจากสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ไปสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ก็มีระยะทางเพียง 1.2 กิโลเมตร อยากจะไกลกว่าระยะทางจากสถานีช่องนนทรีไปสถานีศาลาแดงที่มีระยะ 1.0 กิโลเมตรเพียงเล็กน้อย และเมื่อเทียบกับระยะทางจากสถานีศาลาแดงไปสถานีราชดำริ ซึ่งมีระยะ 1.4 กิโลเมตร ก็ยังสั้นกว่า ระยะทางจากสถานีราชดำริไปสถานีสยามสแควร์ก็ประมาณ 1.2 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน ดังนั้น การจะอ้างว่าจะมีสถานีรถไฟฟ้าศึกษาวิทยา (แต่ยังไม่มี) เลยเก็บค่าโดยสาร 22 บาทจาก 15 บาท จึงอาจควรทบทวนความสมเหตุสมผลในกรณีนี้

ในแต่ละวันมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) "ในวันศุกร์จำนวนกว่า 8 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่วันธรรมดา (จันทร์-พฤหัสบดี) มีจำนวนผู้โดยสาร เฉลี่ย 7.5 แสนเที่ยว/วัน ส่วนวันเสาร์มีจำนวน 6.5 แสนเที่ยว/วัน และวันอาทิตย์มีผู้โดยสาร 5.5 แสนเที่ยว/วัน" (http://bit.ly/2mxRgVX) ก็แสดงว่ามีผู้ใช้บริการสูงถึง 260.7 เที่ยวต่อปี หากในจำนวนนี้ใช้บริการผ่านสถานีประมาณ 30% ก็จะเป็นประมาณ 78.2 ล้านเที่ยวต่อป

การระบุว่ามีสถานีศึกษาวิทยานี้ทำให้ผู้โดยสารแต่ละคนต้องจ่ายค่าบริการสูงขึ้นคนละ 3 บาทต่อเที่ยว หรือเป็นเงินเพิ่มขึ้น 234.6 ล้านบาทต่อปี รถไฟฟ้าสายนี้เปิดใช้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 หรือ 18 ปีมาแล้ว ก็คงถือได้ว่าผู้บริโภคได้จ่ายเงินเกินไปนับพันๆ ล้านแล้วหรือไม่ นี่ยังไม่คิดไปในรายละเอียดของผู้ที่โดยสารจากสถานีสุรศักดิ์ไปสถานีช่องนนทรี ที่ควรจะจ่าย 15 บาท แต่ต้องจ่ายสูงเป็น 22 บาทอีกส่วนหนึ่งด้วย

กรณีอาจชี้ได้ว่าการทำสัญญาต่าง ๆ อาจไม่รัดกุมหรือไม่ หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ต้องเก็บเพิ่มเช่นนี้ ทางบีทีเอสจึงควรชี้แจงให้กระจ่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชน

ภาพที่ 1: อยู่ดี ๆ ก็จะมีสถานีใหม่ (ศึกษาวิทยา) (http://bit.ly/2eFhCkU) ห่างกันแค่ 500 เมตรเศษ เลยถือว่ามีสถานีเพิ่มจากสุรศักดิ์ถึงช่องนนทรีอีก 1 สถานี จึงเก็บ 22 บาท ทั้งที่ยังไม่ได้สร้างเลย

ภาพที่ 2 แต่เดิมก็ไม่เคยมีสถานีศึกษาวิทยา (http://bit.ly/2eFhCkU) ถ้าเจ้าของตึกรอบๆ ต้องการสร้างเพิ่มเพื่อเพิ่มรายได้ให้ทั้ง BTS และเจ้าของตึก แต่คนโดยสารต้องเสียเงินเพิ่มแบบนี้ จะสมควรหรือไม่ครับ

ภาพที่ 3: มองจากสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ไปทางสถานีช่องนนทรีย์ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสร้างสถานีศึกษาวิทยา (http://bit.ly/2eFhCkU) เป็นรูปเป็นร่างสักนิด ก็เก็บค่าโดยสารเพิ่มเป็น 22 บาทไว้ก่อน อย่างนี้จะมีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ต้องคืนเงินผู้บริโภค

ภาพที่ 4: ดูที่ตั้งของแต่ละสถานี บางสถานีมีระยะทางระหว่างสถานีมากกว่าช่วงสุรศักดิ์-ช่องนนทรีเสียอีก มาสร้างสถานีใหม่ เหมาะสมแล้วหรือ แต่ถ้าจะสร้างเพิ่ม แล้วมาถือว่ามีอีกสถานีแล้วจะเก็บเงินเพิ่ม อย่างนี้เหมาะสมไหม ยิ่งยังไม่ได้สร้าง ก็ถือโอกาสเก็บเงินแล้ว หรือไม่ครับผม

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Agency for Real Estate Affairs (AREA)
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Wikimedia

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: