ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยผลการตรวจสมองสุนัขที่ต้องสงสัยมีมากกว่า 40 จังหวัดที่มีไวรัสก่อโรคพิษสุนัขบ้า บางพื้นที่พบสูงถึง 30-50 % มีการแพร่เชื้อนี้จากสุนัขไปยังวัวและควายในหลายพื้นที่จากการที่ถูกสุนัขกัด ที่น่ากังวลเมื่อมีวัวและควายตายในหมู่บ้านชาวบ้านจะนำมารับประทาน หากรับประทานแบบสุกจะไม่ได้รับเชื้อ บางพื้นที่ต้องไปฉีดวัคซีนกันทั้งหมู่บ้าน ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวระหว่างการประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพิษสุนัขบ้าจากนานาชาติ จัดโดยองค์การอนามัยโลกหรือฮู( WHO)
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ทราบว่าผลการตรวจสมองสุนัขที่ต้องสงสัยมีมากกว่า 40 จังหวัดที่มีไวรัสก่อโรคพิษสุนัขบ้า บางพื้นที่พบสูงถึง 30-50 % นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการแพร่เชื้อนี้จากสุนัขไปยังวัวและควายในหลายพื้นที่จากการที่ถูกสุนัขกัด แต่ยังไม่พบคนติดโรคนี้จากวัวและควาย ที่น่ากังวล คือ เมื่อมีวัวและควายตายในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนำมารับประทาน หากรับประทานแบบสุกจะไม่ได้รับเชื้อ แต่ในส่วนของคนที่ชำแหละและผู้ปรุงจะต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานว่าบางพื้นที่ต้องไปฉีดวัคซีนกันทั้งหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น ที่ดีที่สุดเมื่อเกิดสัตว์ตาบผิดปกติในหมู่บ้านไม่ควรนำมารับประทานและรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบโดยด่วน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า สิ่งสำคัญคือต้องคุมประชากรสุนัข ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้รักสุนัขให้มีความรับผิดชอบในการทำหมันสุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย ไม่ใช่เมื่อเกิดลูกแล้วนำไปถวายเจ้าอาวาสหรือโรงพยาบาล ขณะนี้เมืองไทยจะมีสุนัขชุมชน ที่ไม่ใช่สุนัขจรจัด 100 % เพราะจะมีคนมาคอยให้อาหารแล้วก็ไป ดังนั้น จำเป็นต้องมีการจำกัดประชากรสุนัข ย้ำว่าไม่ใช่เป็นการทำร้าย วิธีที่มีการใช้คือการผ่าตัดคุมกำเนิด ต้องมีการดมยาสลบ กักขัง ดูแลต่อหลังผ่าตัดอีกระยะหนึ่ง และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงหลายพันบาทต่อตัวทำให้ไม่สามารถจำกัดประชากรสุนัขได้อย่างรวดเร็ว
จากการทำงานของศูนย์ฯและสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้มีการนำสารเคมีชนิดหนึ่งมาฉีดให้กับสุนัขตัวผู้ 99 ตัวต่อวัน โดยฉีดเข้าอัณฑะทั้ง 2 ข้าง มีผลให้สุนัขตัวดังกล่าวเป็นหมันถาวรภายใน 2 ปี ใช้เวลาเพียง 2 นาที ไม่ต้องฉีดยาสลบและไม่ต้องดูแลหลังการผ่าตัด ที่ผ่านมา มีการนำไปฉีดให้สุนัขในประเทศไทยแล้วกว่า 3,000 ตัว พบว่าได้ผลดี และได้รับการยืนยันจากบริษัทผู้ผลิตว่าหากเป็นโครงการสาธารณะกุศลจะขายให้ในราคาเพียง 8 บาทต่อโด๊ส เพราะไม่ได้ติดสิทธิบัตร ซึ่งจะสามารถใช้ได้กับสุนัขหนึ่งตัว นับว่ามีความคุ้มค่าหากเทียบค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการผ่าตัดทำหมัน ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนสารเคมีตัวนี้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากผ่านการขึ้นทะเบียนก็สามารถนำมาใช้ในการทำหมันสุนัขได้ และศูนย์ฯพร้อมที่จะอบรมการฉีดให้กับสัตวแพทย์ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสุนัขที่มีเจ้าของประมาณ 8 ล้านตัวและสุนัขที่ไม่มีเจ้าของอีกหลายล้านตัว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในวงการโลกเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามีการนำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดกินมาใช้ในการป้องกันโรคในสุนัขในกรณีที่ไม่สามารถจับมาฉีดวัคซีนได้ โดยใช้วิธีการนำวัคซีนมาผสมกับเหยื่อแล้วโปรยให้สุนัขกิน ทำให้สุนัขที่กินเกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้ และไม่เป็นอันตรายต่อสุนัขตัวอื่นๆ หรือ หากเด็กที่พบเห็นแล้วไปจับก็ไม่เกิดอันตราย แต่ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างแพง
“สำหรับประเทศไทยเคยมีศึกษาวิจัยนำวัคซีนชนิดกินตัวนี้มาใช้โดยสธ. พบว่าหมาไทยเมินเหยื่อที่นำมาโปรย ไม่กินเหยื่อทำให้ไม่ได้รับวัคซีน เพราะสุนัขไทยถูกเลี้ยงแบบกินดีอยู่ดี จึงมีการศึกษาต่อว่าควรจะใช้เหยื่อแบบไหน ก็พบว่า สุนัขไทยจะกินหัวไก่ ทำให้มีการนำวัคซีนมาหยัดใส่หัวไก่แล้วไปโปรย ปรากฏว่าสุนัขกิน แต่ที่ยังไม่มีการนำมาใช้ในเมืองไทย เพราะราคาวัคซีนยังค่อนข้างแพง ขณะนี้ฮูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันดึงต้นทุนให้ราคายานี้ต่ำลง”ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยต่อสู้กับโรคพิษสุนัขบ้ามานานจนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจาก 140 กว่าคนเมื่อปี 2523 เหลือเพียงประมาณ 5 คน เมื่อปี 2557-2558 ให้หลังมานี้ แต่เมื่อปี 2559 มีคนเสียชีวิตพุ่งขึ้นมาเป็น 14 ราย ล่าสุดปี 2560 เจอแล้ว 3 ราย ในจ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ขณะที่ผลการตรวจหัวสุนัขเจอเชื้อร้อยละ 7 ดังนั้น มาตรการที่กระทรวงจะดำเนินการเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็นศูนย์ในปี 2563 คือ 1. ก่อนถูกกัดใช้หลักการอย่าแหย่ให้สุนัขโมโหหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่ายุ่งกับสุนัขที่เราไม่รู้จัก 2.กรณีถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งเพื่อฆ่าเชื้อ เช่นเบตาดีน และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และกักขังสัตว์ที่กัดไว้อย่างน้อย 10 วันเพื่อดูอาการถ้าสัตว์นั้นตายให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ และ 3. หลังถูกกัดควรรับการวัคซีนให้ครบตาม เพราะโรคพิษสุนับบ้าเมื่อเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ในรายที่เสียชีวิตส่วนมากเป็นเพราะไม่มารับวัคซีน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ