เร่งวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินีและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่น ๆ

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 1992 ครั้ง

เร่งวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินีและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่น ๆ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่ง วิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินีและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่น ๆ เพื่อการควบคุมการระบาดและกำหนดแนวทางจัดทำโครงการวิจัยให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน โดยเฉพาะการประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานต่อระบบนิเวศและชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่น ๆ ในท้องถิ่น ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ศ.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีหนอนตัวแบนนิวกินีและผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของหอยทาก ว่า หนอนตัวแบนนิวกินี เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกันกับหนอนตัวแบนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนบก เช่น พลานาเรียบกและหนอนหัวค้อน ดำรงชีวิตแบบอิสระและเป็นผู้ล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร มีถิ่นกำเนิดบริเวณเกาะปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย และแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะแปซิฟิกข้างเคียง พบว่า หนอนชนิดนี้สามารถล่าหอยทากบกเป็นอาหาร จึงนำเข้าหนอนดังกล่าวมากำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกาในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ซึ่งหนอนชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานของโลก เนื่องจากล่าหอยทากบกพื้นถิ่นเป็นอาหาร ทำให้จำนวนและความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่ลดลง รวมทั้ง ยังล่าไส้เดือนดิน หนอนริบบิ้น หนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ เหาไม้ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหาร ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาว ที่สำคัญหนอนตัวแบนนิวกินีมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อนๆเมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ปัจจุบันหนอนตัวแบนนิวกินีแพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งนี้ การประเมินระดับความรุนแรงและการรุกรานของหนอนตัวแบนนิวกินี ต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศและชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่นๆในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน ซึ่งการตื่นตระหนกมากเกินไปของสังคมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกำจัดหนอนชนิดอื่นที่เป็นชนิดท้องถิ่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศแทน เช่น หนอนหัวค้อนและหนอนริบบิ้น ที่มีสีและลักษณะลำตัวที่แตกต่างกันกับหนอนตัวแบนนิวกินี แต่มีบทบาทเป็นผู้ล่าและช่วยควบคุมปริมาณของสัตว์หน้าดินให้มีปริมาณที่เหมาะสม และเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ

ขณะที่ ศ.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงแนวทางสนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานสู่การสร้างความรู้ที่ชัดเจน การพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในหลายมิติ เพื่อช่วยควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการสากล ว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลายภาคส่วน จำเป็นต้องสนับสนุนสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินีและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ โดย สกว.ยินดีจะสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ด้วยการศึกษาวิจัยความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานเร่งด่วน และจัดทำประเด็นวิจัยตามแนวทางสากลในระบบนิเวศของประเทศไทยและภูมิภาค เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสังคมและควบคุมการระบาด เช่น การพิสูจน์เอกลักษณ์ของชนิดพันธุ์ด้วยวิธีการทางสัณฐานวิทยาและอณูชีววิทยา (ความสัมพันธ์ของดีเอ็นเอ) การวิเคราะห์สัตว์ที่เป็นเหยื่อของหนอน เพื่อเปิดจุดแข็งจุดอ่อนของหนอนชนิดนี้ด้านชีววิทยาแขนงต่างๆ เช่น พฤติกรรมและนิเวศวิทยา ในการสนับสนุนแนวทางวิเคราะห์แผนควบคุมนำไปสู่การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์แพร่กระจายในปัจจุบันและอนาคต ทราบทิศทางการแพร่กระจายตั้งแต่อดีต การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นและมนุษย์ การเปรียบเทียบพื้นที่การแพร่กระจายในพื้นที่ถิ่นอาศัยของมนุษย์และพื้นที่อนุรักษ์จากข้อมูลวิจัยพื้นฐานที่ต้องทำอย่างเข้มข้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: