เมื่อคนทำงานไอทีอินเดียจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรก

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 3 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2758 ครั้ง

เมื่อคนทำงานไอทีอินเดียจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรก

คนทำงานไอทีภาคไอทีจัดตั้งสหภาพแรงงานอิสระแห่งแรกของประเทศอินเดีย ท่ามกลางสถานการณ์เลิกจ้างพนักงานของบริษัทซอฟแวร์อย่างกว้างขวาง ที่มาภาพ: scroll.in

เมื่อปี 2008 การประท้วงปะทุขึ้นที่เมืองทมิฬนาฑู (ทางตอนใต้ของอินเดีย) เพื่อต่อต้านการฆาตกรรมชาวทมิฬ ศรีลังกาในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองของประเทศศรีลังกา กลุ่มวิชาชีพนักพัฒนาซอฟแวร์รุ่นใหม่ในย่านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศทิเดลปาร์ค (Tidel Park) เมืองเชนไน (Chennai) ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Human Chain "ต่อต้านสงคราม ปกป้องชาวทมิฬ" อันเป็นสโลแกนบนเสื้อยืดและโพสต์ของเครือข่ายชุมชนออนไลน์ออร์กัต (Orkut)

9 ปีต่อมาการรณรงค์ต่อสู้ของกลุ่มได้นำไปสู่การจัดตั้งสหภาพแรงงานอิสระของพนักงานไอทีแห่งแรกของประเทศอินเดีย ท่ามกลางสถานการณ์เลิกจ้างพนักงานของบริษัทซอฟแวร์อย่างกว้างขวาง กลุ่มสมัชชาลูกจ้างไอทีที่พัฒนามาจากกลุ่มรณรงค์ปกป้องชาวทมิฬในศรีลังกา กลายมาเป็นสหภาพแรงงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อย

ความพยายามครั้งแรกที่จะจัดตั้งพนักงานในภาคอุตสาหกรรมไอทีของประเทศราว 2.8 ล้านคนนั้นล้มเหลว "โดยปกติ ชนชั้นกลางรังเกียจกิจกรรมการเมือง" J Jayaprakash สมาชิกในกลุ่มสมัชชากล่าว

แต่เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาล่าสุด ความไม่มั่นคงในการทำงานได้เป็นประเด็นร้อนในหมู่พนักงานไอที เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าพนักงานจำนวน 4.5% จะถูกเลิกจ้างในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า สำนักข่าว Mint รายงานเหตุการณ์ความวุ่นวายว่า "การที่ยังตั้งตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า และการรับมือกับผลกระทบจากนโยบายปกป้องตัวเองของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ พนักงานอย่างน้อยจำนวน 56,000 คนในบริษัทซอฟแวร์แถวหน้า อย่าง Infosys, Wipro, Cognizant อาจจะถูกเลิกจ้างในปีหน้า

ความไม่แน่นอนนี้ทำให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการเจรจาต่อรอง Jayaprakash กล่าวว่า "เนื่องจากเราเป็นลูกจ้างไอทีที่นี่ ผู้คนก็ไว้ใจเราให้รณรงค์กับประเด็นปัญหานี้ คนในท้องที่นี่แหละจะต้องแก้ไขกันเอง

Jayaprakash กล่าวว่า กลุ่มวิชาชีพเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมไอทีเมื่อช่วงปี 2005 จากนั้น 10-20 ปีต่อมาด้วยอายุงานขนาดนี้กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด เพราะลูกจ้างวัยหนุ่มสาวกับเงินเดือนที่ต่ำกว่าจะได้รับการจ้างงานต่อ

"บริษัทเรียกว่าเป็นการสลายไขมันส่วนพิเศษออก แต่บริษัทไม่ตระหนักว่าพนักงานแต่ละคนมีครอบครัวที่ต้องดูแล"

เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมดังกล่าวเริ่มจัดตั้งขบวนการคนหนุ่มสาวทมิฬนาฑู มุ่งประเด็นปัญหาการกดขี่เชื่้อชาติวรรณะ สิทธิของชนกลุ่มน้อยและความไม่เท่าเทียมในเรื่องบทบาททางเพศในสถานที่ทำงาน แต่เนื่องจากกลุ่มประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นนักพัฒนาไอทีเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาจึงตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางช่วยเหลือ ณ วันนี้ สมัชชาลูกจ้างไอทีมีสมาชิกออนไลน์มากกว่า 1,000 คนและสมาชิกที่เคลื่อนไหวประมาณ 100 คน และนี่คือบททดสอบให้อีก 8 เมือง เช่น เมือง Bengaluru, Hyderabad, Mumbai และเมือง Delhi

ผู้นำสหภาพแรงงาน เช่น วสุมาตี (Vasumathi) เคยทำงานให้บริษัททาทา ที่ให้บริการพัฒนาไอที (Tata Consultancy Services) "ฉันไม่ได้เป็นเหยื่อของการเลิกจ้างหรือการละเมิดอะไร แต่เมื่อฉันเห็นพนักงานกำลังเดือดร้อนกังวลกับการสูญเสียงาน ก็ตัดสินใจช่วยเหลือ" Vasumathi รองประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าว

สหภาพแรงงานได้ช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหลายกรณี ตัวอย่างเช่น การช่วยให้พนักงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์กลับเข้าทำงานในบริษัททาทาได้ ทว่า บริษัทพัฒนาไอทีแถวหน้าของอินเดียมีเป้าหมายที่จะเลิกจ้างพนักงาน 56,000 คนในปีหน้า

เส้นทางอันยาวไกลในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานด้านซอฟแวร์ในเมืองเชนนายคือ สหภาพแรงงานประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวในรัฐทมิฬนาฑูและปุทุจเจรี (Puducherry) ปีกนี้ได้จัดตั้งองค์กรในช่วงเวลาเดียวกันกับสหภาพแรงงานสมัชชาลูกจ้างไอที เรียกร้องรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วให้ประกันสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานไอทีขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติข้อพิพาทแรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Disputes Act)

"ในทมิฬนาฑู เรามีธรรมเนียมของการต่อสู้เพื่อสิทธิจากขบวนการดราวิเดียน (Dravidian movement) คุณคูมาร์ สมาชิกสหภาพแรงงานประชาธิปไตยใหม่กล่าว รัฐดังกล่าวนี้มีข้อสงวนสิทธิ์อย่างมากในการให้การศึกษาแก่ชาวดราวิเดียน ชนชั้นที่ถูกกดขี่ มีหลายคนย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรมไอที บางคนถูกเพื่อนทุจริตฉ้อโกง แต่หลายคนยังไม่ลืมพื้นเพของตัวเอง พ่อแม่ของพวกเขายังทำงานเป็นชาวนาในหมู่บ้าน ซึ่งคนเชื้อชาตินี้มีความรู้สึกโดยธรรมชาติถึงการไม่ได้รับความยุติธรรมและสิทธิตามกฎหมาย

ความต้องการงานกับการประท้วงต่อต้านกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีในยุคทศวรรษ 1990 จนถึงต้นทศวรรษ 2000 การต่อต้านระเบียบข้อปฏิบัติไม่เป็นธรรม เช่น การบังคับให้ลาออก การจ่ายค่าจ้างต่ำ พนักงานจึงกลัวที่จะถูกขึ้นบัญชีดำหากออกมาเรียกร้อง Vasumathi รองประธานสมัชชาลูกจ้างไอที กล่าวว่า "เมื่่อลูกจ้างจะสมัครงานที่ไหน พวกเขาจะกังวลว่าบริษัทจะตรวจสอบประวัติว่าเคยก่อความวุ่นวายมาหรือเปล่า"

ในเมืองมุมบาย นักกฎหมายแรงงาน Vinodh Shetty เคยพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานให้แก่คนงานเหมาช่วง แต่ก็เผชิญกับสิ่งที่ท้าทายหลายอย่างในการชักชวนคนงานให้เข้ามาร่วมในหลักการเดียวกัน (common platform) เพราะคนงานมักไม่มีเวลาหรือโน้มเอียงที่จะทำกิจกรรมกลุ่ม

"แต่มันไม่ได้หมายความว่าไม่ควรจะตั้งองค์กร" เช็ตตี้กล่าว "สิ่งที่เราต้องการคือ กลุ่มแกนนำที่มีความรู้ความกระจ่างว่า ควรเลิกวิธีการเรียกร้องแบบเล่นพรรคเล่นพวก เป็นการเรียกร้องเพื่อส่วนรวมในวงกว้าง คือหากเป็นการเรียกร้องในระดับอุตสาหกรรมมากกว่าการเรียกร้องส่วนหนึ่งส่วนใดของบริษัท มันจะประสบความสำเร็จ

ผู้บริหารของสมาคมบริษัทซอฟต์แวร์และบริการไอทีของอินเดีย หรือ NASSCOM กล่าวว่า กลุ่มล้อบบี้อุตสาหกรรมซอฟแวร์ไม่มีอะไรจะกล่าวในเรื่องนี้ แต่สหภาพแรงงานจะสามารถตั้งขึ้นได้นั้น ก็ขึ้นอยู่การตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่น ลูกจ้างและบริษัท

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://scroll.in/article/838147/from-war-protestors-to-labour-activism-indias-first-it-workers-union-is-being-formed-in-tamil-nadu
http://www.livemint.com/Industry/4CXsLIIZXf8uVQLs6uFQvK/Top-7-IT-firms-including-Infosys-Wipro-to-lay-off-at-least.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: