คนไทยรู้ยัง: ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้คนทำแท้งเพิ่มขึ้น

ทีมข่าว TCIJ : 3 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5164 ครั้ง

ข้อมูลจากกรมอนามัยที่เปิดเผยเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2560 ระบุว่าจากการสำรวจข้อมูลการแท้งโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 24 จังหวัดในประเทศไทย ปี 2558 พบว่ามีการแท้งเอง ร้อยละ 56.9 และทำแท้ง ร้อยละ 43.1 โดยสาเหตุการทำแท้งมาจากเหตุผลด้านสุขภาพ ร้อยละ 37.4, เหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ร้อยละ 62.6 นอกจากนี้ ผู้ที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ร้อยละ 28.6 มีสถานภาพนักเรียน-นักศึกษา ร้อยละ 26.3 อายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 53.1 อายุต่ำกว่า 25 ปี ในกลุ่มของเด็กอายุ 15-19 ปี ใน 1,000 คน จะมีคนที่ตั้งครรภ์อยู่ถึง 44 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ต่อการตั้งครรภ์ต่อปี และในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปีรวมอยู่ด้วย

โดยสาเหตุของการท้องไม่พร้อมเป็นเพราะขาดความรู้ในเรื่องเพศศึกษาและเรื่องการคุมกำเนิดที่ถูกวิธี มีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการร่วมเพศที่คิดว่าครั้งเดียวคงไม่ท้อง ไม่สวมถุงยางอนามัยเพราะรู้สึกว่าขัดขวางความรู้สึกทางเพศ คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักปลอดภัยโดยไม่ป้องกัน การท้องไม่พร้อมมักนำไปสู่การตัดสินใจทำแท้ง ดังนั้น การคุมกำเนิดจึงจำเป็นสำหรับวัยเจริญพันธุ์ในระยะที่ไม่พร้อม ด้วยวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงยางอนามัย ถุงยางอนามัย และการคุมกำเนิดแบบถาวรคือการทำหมัน ซึ่งที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น

ทั้งนี้การให้บริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อยู่ในภาวะหลังคลอดหรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิดในทุกสิทธิสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค) สิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาแม่วัยรุ่นและป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในครั้งที่ 2 และลดการทำแท้งจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลเด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนเพศวิถีศึกษา การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2.สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3.สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4.การจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 5.ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: