สำรวจการใช้สิทธิ 30 บาท รพ.รัฐ รอคิวนาน ได้รับการตรวจจากแพทย์เวลาสั้น ๆ จริง หมอชนบทย้ำส่วนใหญ่จะมาด้วย 'ความจำเป็น-ตื่นตัวเรื่องสุขภาพ' เป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะคนจนต้องเสียต้นทุนอื่น ๆ ด้วยในการมา รพ. อย่ามอง 30 บาทเป็นผู้ร้าย งานวิจัยพบบทเรียนจาก 'ระบบร่วมจ่าย' ที่เยอรมัน ไม่ทำให้คนมาพบแพทย์ลดลง ชี้โครงการ 30 บาท ไม่ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่ลดความเสี่ยงจะหมดตัวจากการรักษาพยาบาล ที่มาภาพประกอบ: hfocus.org
เป็นที่รู้กันดีว่า การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐในแต่ละครั้งนั้น ต้องเสียเวลาอย่างยาวนาน จากขั้น ตอนธุรการและรอคอยการเข้ารักษาจากแพทย์ ในสภาพที่เนืองแน่นด้วยผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะที่แพทย์และบุคคลากรจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้การรักษาพยาบาลแต่ละครั้งต้องเสียต้นทุนทางเวลาจำนวนมาก ถึงกระนั้นกลับมีกระแสสังคมที่วิจารณ์ว่า การที่ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลรัฐ เกิดจากการเข้าใช้บริการโดยไม่มีความจำเป็น หลังจากมีโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’
แม้ในสมรภูมิการถกเถียงเกี่ยวกับการปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีข้อเสนอให้ผู้เข้ารักษาพยาบาลตามโครงการ 30 บาท ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (co-pay) เพื่อหวังลดการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล แต่จากบทเรียนของต่างประเทศพบว่าระบบร่วมจ่ายไม่ได้ส่งผลให้คนมาโรงพยาบาลน้อยลงแต่อย่างใด
สิทธิ 30 บาทโรงพยาบาลรัฐ รอนาน-หมอตรวจเร็ว
ผู้สื่อข่าว TCIJ ลงพื้นที่ทดสอบการใช้สิทธิตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น เพื่อสำรวจระยะเวลาในการเข้ารับการรักษาจากสิทธิบัตรทอง
เวลา 6.00 น ผู้สื่อข่าวเดินทางมาถึงโรงพยาบาลแห่งนี้ เริ่มเข้าระบบบริการโดยเข้ารับบัตรคิว เพื่อใช้ในการเข้าตรวจสอบสิทธิในห้องบัตร ผู้มาใช้บริการบางคนต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา เพื่อจะได้บัตรคิวเป็นอันดับต้น ๆ ห้องบัตรเปิดทำการในเวลา 6.00 น พนักงานเริ่มเรียกเรียงตามหมายเลขคิวเพื่อเข้าตรวจสอบสิทธิ จากการสังเกตพบว่า ช่องบริการผู้ถือสิทธิบัตรทองมีจำนวนผู้มาใช้บริการมากกว่าช่องอื่น ๆ อย่างสิทธิจ่ายตรงของราชการ หรือ สิทธิของพนักงานพนักงานโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย หลังจากใช้เวลานั่งรอที่หน้าห้องบัตรประมาณ 30 นาที จึงได้ยื่นบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบสิทธิ์
จากนั้น ไปยังห้องตรวจตามอาการเช่น อายุรกรรม ศัลยกรรม เป็นต้น เมื่อถึงห้องตรวจอายุรกรรม จึงได้ยื่นเอกสารที่พยาบาลประจำหน้าห้อง เพื่อทำการสอบถามอาการเบื้องต้นและชั่งน้ำหนัก-วัดความดัน ต่อจากนั้นไปนั่งรอแพทย์ที่หน้าห้องตรวจ แพทย์เข้าประจำห้องตรวจในเวลา 8.30 น จนได้เข้าพบแพทย์ในเวลา 9.10 น ใช้เวลาตรวจรักษาประมาณ 5-6 นาที หลังออกจากห้องตรวจ นำเอกสารไปยื่นที่ช่องการเงินและรอรับยา ใช้เวลาอีก 20 นาที จึงเสร็จสิ้นการเข้ารักษา พยาบาล ในเวลา 9.40 น โดยรวมเวลาในการเข้าทำการรักษาพยาบาลประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที
ผู้สื่อข่าว TCIJ ได้พบผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ที่เดินทางมาจากนอกเขต จ.ขอนแก่น จากต่างอำเภอหรือจากจังหวัดอื่น ๆที่ต้องใช้เวลามากขึ้น เช่น คุณวรรณี (ขอสงวนนามสกุล) หญิงวัยกลางคนที่เดินทางจากจังหวัดหนองคาย ถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เวลาประมาณ 4.00 น เพื่อมารักษาอาการต่อมน้ำตาอักเสบ เนื่องจากถูกส่งตัวมา ด้วยเหตุว่าโรงพยาบาลที่ขอนแก่นมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้านจักษุพร้อมกว่า “จริง ๆ ก็อยากเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่ไม่มีทางเลือกเขาส่งมาก็ต้องมา ยอมเสียเวลาดีกว่าเสียแพง ๆ กับเอกชน” คุณวรรณีระบุ โดยเธอใช้เวลาในการมารับรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่เวลา 4.00-9.00 น โดยประมาณ รวมเป็นเวลาร่วม 5 ชั่วโมง
หมอยอมรับ’30 บาท’ คนมารพ.มากขึ้นจริง แต่ไม่ได้มาเล่น ๆ
การมีสิทธิบัตรทองทำให้ประชาชนเข้ามารับการรักษาพยาบาลมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลเหมือนก่อน ที่มาภาพประกอบ: hfocus.org
ความยากลำบากในการเข้าใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลรัฐ ที่ต้องใช้เวลายาวนาน แต่กลับได้รับการตรวจรักษาในเวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัย ‘ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ใโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข’ ของ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ และคณะ ที่เผยว่าแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐบาล ใช้เวลาตรวจผู้ป่วยนอกเพียงรายละ 2-4 นาทีเท่านั้น ถึงแม้แพทย์จะใช้เวลาตรวจรักษาต่อคนเพียงสั้น ๆ แต่แพทย์กลับต้องปฏิบัติงานสูงถึงสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง
“อาจจะจริงที่บอกว่าหลังมี 30 บาท ทำให้คนมาโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขามาตรวจเล่น ๆ แก้เซ็งอย่างนั้น” นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผอ. โรงพยาบาลอำเภอภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ แพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2552 กล่าวหลังมีกระแสวิจารณ์ว่า สิทธิบัตรทองทำให้มีการเข้ามารับการรักษาโดยไม่มีความจำเป็น ประสบการณ์จากการเป็นแพทย์ในชนบทมากว่า 30 ปี นพ.กิติภูมิ ยืนยันว่าผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมาด้วยความจำเป็น เนื่องจากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐแต่ละครั้งนั้นกินเวลานาน การมาโรงพยาบาลทำให้ต้องเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์ ยิ่งทำให้การเข้ารับการรักษาพยาบาลใช้เวลานาน โดยมองว่าระยะเวลาในการรับบริการตรวจรักษานั้น สัมพันธ์กับสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดอย่างภาคอิสานที่มีแพทย์จำนวนน้อย ทำให้ต้องรับภาระการรักษาที่มากขึ้น
ตัวเลขประชากรต่อแพทย์นั้นพุ่งสูงขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อมูลจาก 'รายงานทรัพยากรสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข' ใน ระบบฐานข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11 ก.ค. 2560) เผยว่า ในภาคอีสานมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรสูงที่สุดอยู่ที่ 3,491 ต่อแพทย์ 1 คนเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนประชากร 722 ต่อแพทย์ 1 คนและจะสูงขึ้นในภูมิภาคอื่น โดยภาคเหนืออยู่ที่ 1,968 ต่อแพทย์ 1 คน / ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพ) อยู่ที่ 2,565 ต่อแพทย์ 1 คน / ภาคใต้อยู่ที่ 2,619 ต่อแพทย์ 1 คน
ตัวเลขจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงการใช้สิทธิ์บัตรทองส่วนมากถูกใช้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชนมากที่สุด โดยมีการใช้บริการผู้ป่วยนอก ถึง ร้อย 83.5 และใช้บริการเป็นผู้ป่วยในถึงร้อยละ 77.82
เมื่อปริมาณการใช้สิทธิรักษาพยาบาลส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท นพ.กิติภูมิ จึงเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลควรมุ่งไปที่การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ให้มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยบางอาการที่ไม่รุนแรงได้ เพื่อเป็นแหล่งคัดกรองการเข้าไปสู่โรงพยาบาลของผู้ป่วย และยังทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาล หากแต่ปัจจุบัน รพ.สต ไม่มีบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือที่เพียงพอ
“การมีสิทธิบัตรทองทำให้ประชาชนเข้ามารับการรักษาพยาบาลมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลเหมือนก่อนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่ง นพ.กิติภูมิ มองว่าเป็นเรื่องดีที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น ไฉนกลายเป็นผู้ร้ายทำผู้ป่วยล้น รพ.?
ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่าจำนวนการใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2549 มีผู้มาใช้สิทธิบัตรทองเพื่อรับรักษาเป็นผู้ป่วยนอกจำนวน 114.7 ล้านครั้ง ที่มาภาพประกอบ: hfocus.org
ภายหลังการเกิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 ตัวเลขจากหลายแหล่งชี้ว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิมากขึ้น ทำให้มีหลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระการรักษาและภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
ตัวเลขจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าจำนวนการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2549 มีผู้มาใช้สิทธิบัตรทองเพื่อรับการรักษาเป็นผู้ป่วยนอกจำนวน 114.7 ล้านครั้ง เพิ่มมาเป็น 161.1 โดยหากเฉลี่ยต่อหัวผู้มีสิทธิแล้ว การเข้ามารักษาเป็นผู้ป่วยนอกจะอยู่ที่ 2.42 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2549 และเพิ่มมาเป็น 3.33 ครั้งต่อคนต่อปีในปี2558 การใช้บริการเป็นผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 4.73 ล้านครั้งเพิ่มขึ้นมาเป็น 5.78 ล้านครั้ง โดยมีค่าเฉลี่ยต่อคนที่เพิ่มขึ้นจากที่ 0.1 ครั้งมาเป็น 0.12 ครั้งต่อคนต่อปี ใน 2558 นอกจากนั้น The Great Equalizer: Health Care Access and Infant Mortality in Thailand ตีพิมพ์ในวารสาร American Economic เมื่อปี 2557 ยังได้ยืนยันว่าหลังจากประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีการเข้ามาใช้ประโยชน์ (utilization) ในบริการทางสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
จากกระแสการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐว่านโยบายดังกล่าวทำให้มีการเข้าใช้ประโยชน์ในหลักประกันมากเกินความจำเป็น (overutilization) จากที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเคยอยู่ในระดับต่ำและคงที่ ทำให้คนเลือกมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ไม่มีการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง นำมาสู่ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาล จนทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย
ณัฎฐ์ หงส์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Simon Fraser ผู้ทำวิจัยเรื่อง Welfare Analysis of the Universal Healthcare Program in Thailand มองในประเด็นนี้ว่า การใช้ประโยชน์ในบริการสาธารณสุขมากขึ้นหลังมีโครงการ 30 บาทนั้น เป็นไปได้ใน 2 กรณี กรณีแรกคือ ที่ผ่านมาประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ไม่พอเพียง ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการจึงถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้มีการใช้บริการอย่างเพียงพอมากขึ้น หรืออีกกรณีคือ ที่ผ่านมาประชาชนได้รับการบริการเพียงพออยู่แล้ว และได้รับบริการมากเพิ่มขึ้นไปอีกหลังมีโครงการ 30 บาท ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการใช้บริการเกินความจำเป็น (overutilization) ในความเห็นของ ณัฏฐ์ มองว่าการวิเคราะห์ว่าเป็นไปในลักษณะใด ควรจะคำนึงถึงดัชนีตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งหลังมีโครงการ 30 บาท จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดทางสุขภาพหลายอย่างดีขึ้น โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง โดยงานวิจัย The Great Equalizer: Health Care Access and Infant Mortality in Thailand แสดงตัวเลขอัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13% – 30% เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลา 1 ปีระหว่างก่อนและหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เท่ากับที่ผ่านมา การเข้าถึงการรักษาพยาบาลยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจหมายความว่าหลังจากมีสิทธิบัตรทองทำให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอมากขึ้น
“การนำเอาเพียงตัวเลขการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น มาแปลความว่ามีการใช้บริการมากเกินความจำเป็น แบบนั้นไม่ได้ เพราะ มันเป็นไปได้ในหลายกรณี ควรต้องมีตัวเลขอื่นที่ยืนยันว่าใช้มากขึ้นแปลว่าใช้มากเกินไป เพราะจริงๆใช้มากขึ้นอาจจะเป็น เพราะเมื่อก่อนมันขาดก็ได้” ณัฎฐ์ กล่าว
ณัฎฐ์ ย้ำอีกว่า การมาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น ยังมองอีกแง่มุมอื่นได้ว่า ถ้าการมาโรงพยาบาลมากมันเป็นไปในเชิง prevention คือเป็นการป้องกันโรค การรู้ตัวว่าเป็นโรคและเข้าทำการรักษาเร็ว มีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายการรักษาในระยะยาวได้ การที่ประชาชนเข้ารับรักษาพยาบาลบ่อยครั้งขึ้น ไม่ได้แปลว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ทางการแพทย์เสมอไป “อยู่แคนนาดาผมเข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก เขาประหยัดค่าใช้จ่ายนะ ถ้าเขาไม่รักษาผมตอนนี้ หากผมแก่แล้วหัวใจวาย เขาจะเสียค่าใช้มากกว่านี้อีก การเข้าโรงพยายามบ่อยครั้งขึ้นอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่ประหยัดในระยะยาว”
บทเรียนจากเยอรมัน ร่วมจ่ายไม่แก้ปัญหา
ระบบการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ถูกนำเสนอให้แทนที่ระบบ 30 บาท เรามาลองดูบทเรียนของต่างประเทศ อย่างเยอรมัน ที่นำระบบร่วมจ่ายมาใช้ แต่ต้องยกเลิกไป เนื่องจากมีงานศึกษาที่ชี้ว่า ระบบร่วมจ่ายไม่ช่วยลดการเข้ารับบริการทางสุขภาพและรายจ่ายของประเทศได้
ในช่วงปี 1990 รัฐบาลเยอรมันได้นำระบบร่วมจ่ายมาใช้ในระบบประกันสุขภาพ (social health insurant) โดยในปี 2004 เยอรมันออกกฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่เรียกว่า law to modernize the health system กำหนดให้ผู้ประกันสุขภาพของรัฐที่มีอายุเกิน 18 ปีต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะรัฐบาลต้องการป้องกันการใช้ประโยชน์เกินความจำเป็น ( prevent overutilization)และต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการสาธารณสุข ซึ่งภายหลังการปฏิรูประบบสาธารณสุข ก็มีงานศึกษาเกี่ยวกับผลการร่วมจ่ายเช่น Copayments in the German Health System: Does It Work? (2006) และ Copayments for Ambulatory Care in Germany (2008) ที่มีข้อสรุปในแนวทางเดียวกันคือ ไม่ได้ส่งผลในการลดปริมาณคนไข้ไม่ให้พบแพทย์ แต่กลับทำให้มีการซื้อประกันสุขภาพทดแทนการร่วมจ่ายมากขึ้น และยังไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐได้ จนกระทั้งรัฐสภาเยอรมัน (Bundestag) ได้มีมติยกเลิกนโยบายนี้ ในปี 2555
30 บาท ไม่ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่ลดความเสี่ยงหมดตัว
“ยังไงคนก็ต้องไปหาหมอ การร่วมจ่ายอาจจะทำให้คนที่เป็นหวัดไม่ไปหาหมอ แต่ถ้าคนที่เป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง จะร่วมจ่ายยังไงเขาก็ต้องโรงพยาบาล” ณัฏฐ์ ให้ความเห็น จากการทำวิจัยเกี่ยวสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้เห็นว่าประโยชน์ของโครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องค่ารักษาที่ลดลง เนื่องจากตัวเลขจากงานวิจัยชี้ว่า หลังจากมีโครงการ 30 บาท ค่ารักษาจากที่ผู้ประกันตนต้องจ่าย ไม่ได้ลดลงหากวัดจากค่าเฉลี่ย แต่จำนวนคนที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูงมากๆลดลงมาก ทำให้ลดโอกาสการหมดตัวจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นประโยชน์ที่สุดของโครงการ 30 บาท ซึ่งหากใช้ระบบร่วมจ่ายเข้ามาจะทำให้จุดที่ดีที่สุดของโครงการ 30 บาทหายไป
จากงานวิจัย Welfare Analysis of the Universal Healthcare Program in Thailand แสดงตัวเลข ค่าเฉลี่ย ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายออกจากระเป๋า out-of-pocket medical spending (รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อื่นเช่นยา หรือการรักษาต่างๆที่ ไม่ครอบคุมโดยโครงการ 30 บาท) ของกลุ่ม treatment group (กลุ่มคนที่ไม่มีประกัน หรือได้สิทธิสงเคราะห์ผู้ป่วยรายได้น้อยก่อนมี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วยหน้า ) โดยก่อนมีโครงการ 30 บาท ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 375 บาท ต่อคนต่อปี และภายหลังมีโครงการ 30 ตัวเลขดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้น เป็น 444 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในการรักษาพยาบาลไม่ได้ลดลงเลยหลังมีโครงการ 30 บาทรักษา อย่างที่หลายคนเข้าใจตลอด
แต่เมื่อดูตัวเลขจำแนก ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายออกจากระเป๋า แบ่งเป็น 100 กลุ่ม จากกลุ่มที่จ่ายต่ำที่สุดขึ้นไปหากลุ่มที่จ่ายสูงที่สุด ปรากฏว่า หลังจากมีโครงการ 30 บาท จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่เคยจ่ายค่ารักษาในจำนวนเงินที่สูงๆ นั้นจ่ายลดลง โดยตัวเลขวิจัยชี้ว่า กลุ่มคนที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาสูงที่สุดในอันดับที่ 90 (90Th percentile) จ่ายเงินน้อยลง 11% ในกรณีผู้ป่วยนอก และลดลงถึง 40% ในส่วนของผู้ป่วยใน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหลังมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้กลุ่มผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องจ่ายหนักจนหมดตัว
นอกจากนั้น ข้อมูลจากงานวิจัย Achieving universal health coverage goals in Thailand: the vital role of strategic purchasing มีสถิติน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกัน คือตัวเลขการเกิดวิกฤตทางการเงินจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (Incidence of catastrophic health expenditure) ก่อนและหลังมีโครงการ 30 บาท(พ.ศ. 2539-2549) ซึ่งตัวเลขสถิติชี้ให้เห็นว่า อัตราการการเกิดวิกฤตทางการเงินจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังมีโครงการ 30 บาท ในปี 2545 โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด 20%แรก (1TH Quintile) จากเดิมตัวเลขการเกิดวิกฤตทางการเงินจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ในปี 2539 อยู่ที่ 6.8% ลดลงอย่างรวดเร็วเป็น 3.9% ในปี 2545 และอยู่ที่ 2.8 ในปี 2548
ดังนั้น เมื่ออนุมานจากตัวเลขดังกล่าว เท่ากับว่าโครงการ 30 บาท ช่วยลดโอกาสในการล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และสามารถลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ ได้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ จำแนกตามรายการ ปีงบประมาณ 2555-2559
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ