ก.คลังเตรียมรับฟังความเห็นเก็บภาษีค้าออนไลน์

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 1780 ครั้ง

ก.คลังเตรียมรับฟังความเห็นเก็บภาษีค้าออนไลน์

สรรพากรเตรียมเสนอครม. แก้กฎหมายเก็บภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ขณะที่คลังเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นหวั่นกระทบรายย่อย ที่มาภาพประกอบ: FirmBee (CC0)

เว็บไซต์ moneychannel.co.th รายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่าเตรียมสรุปรายละเอียดร่างกฎหมายใหม่ และร่างแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร ในการจัดเก็บภาษีธุรกิจ e-Business และ อี-คอมเมิร์ซ เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์ และสรุปผลเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.

โดยอัตราการจัดเก็บภาษี e-Business ขณะนี้มีการปรับปรุงให้มีเพดานอัตราการจัดเก็บสูงสุดที่ 15%ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บที่อัตรา 5% ของเงินได้ที่จ่ายโดยอัตราที่จะจัดเก็บใหม่นี้ จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี อัตราการจัดเก็บภาษี จะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรมที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และจะมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้ เช่น กรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศของผู้ทำธุกรรม

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ เบื้องต้นจะให้สถาบันการเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากรในอัตรา 5% อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาว่าการให้สถาบันการเงินหักภาษีให้ครอบคลุมหรือไม่ และอัตราที่หัก 5% มีความเหมาะสมหรือยัง เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซขนาดเล็กๆ จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

นายประสงค์กล่าวด้วยว่า การประเมินมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือ การชำระเงินของส่วนราชการและเอกชนต่างๆ และ 2.ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟสบุ๊ค กูเกิล ไลน์ หรือ อูเบอร์

ด้านนายอาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้รับทราบนโยบายในเบื้องต้นว่าจะให้สถาบันการเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ยังไม่ได้คุยในรายละเอียดกับกระทรวงการคลัง เพราะเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งหากมีความตกลงที่ชัดเจนว่า ให้ธนาคารมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะสถาบันการเงินจะต้องไปพัฒนาระบบไอทีเพื่อดำเนินการคำนวณและหักภาษี ณ ที่จ่าย เพิ่มจากระบบเดิมที่มีอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะระบบใหม่ต้องสามารถรองรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทุกประเภท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: