หวั่นขยาย FTA ไทย-จีน ทำรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ากระทบอุตสาหกรรมในประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4723 ครั้ง

หวั่นขยาย FTA ไทย-จีน ทำรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ากระทบอุตสาหกรรมในประเทศ

เตรียมประชุมหาผลกระทบจากการขยายความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน ที่จะเริ่ม 1 ม.ค. 2561 จะมีสินค้าจากจีนอีกกว่า 703 รายการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น หวั่นการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบพลังงานไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไปจนถึงแผนการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 ว่านายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรจะประชุมร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อหาข้อสรุปของผลกระทบจากการขยายความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน เพิ่มเติมที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 โดยการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีสินค้าจากจีนอีกกว่า 703 รายการที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ มีรายการสินค้าสำคัญที่ต้องจับตาได้แก่ สินค้าเกษตร, รถยนต์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ส่วนควบคุม และอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบพลังงานไฟฟ้าที่เดิมจีนต้องเสียภาษีนำเข้า 20% แต่หลังจาก FTA มีผลก็จะทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีเลย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไปจนถึงแผนการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐด้วย

"ต้องมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะมีการคาดการณ์ว่าการขยาย FTA ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมในปีงบประมาณ 2561 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.1 แสนล้านบาทด้วย เพราะไม่เพียงแต่เรื่อง FTA เท่านั้น ยังมีผลกระทบจากกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ที่เพิ่งใช้เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าสินค้า และยังต้องติดตามดูผลจากการประกาศใช้กฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้วันที่ 13 พ.ย.นี้ด้วย" นายกุลิศกล่าว

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.04 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการณ์ 1.57 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีผู้นำเข้าใช้สิทธิประโยชน์ได้รับการยกเว้นทางภาษีส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวมถึงการยกเว้นภาษีจาก FTA แต่สูงกว่าคาดการณ์ที่กรมศุลกากรได้รับให้จัดเก็บในช่วงปลายปีงบประมาณ 60 จำนวน 785 ล้านบาท

นายกุลิศ ได้กล่าวในการประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 61 ให้แก่ผู้บริหารกรมศุลกากร หัวหน้าส่วนราชการระดับสำนัก กลุ่ม ด่านศุลกากรและผู้เชี่ยวชาญว่า ในปีงบฯ 61 นี้กรมศุลกากรได้รับจัดสรรประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ จำนวน 111,000 ล้านบาท ดังนั้น กรมศุลกากรจึงได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ในหลายมิติ ได้แก่ 1) พัฒนารูปแบบการจัดเก็บภาษีสินค้า e-commerce 2) พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบสินค้า 3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

4) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการข่าวศุลกากร Customs Intelligence Center (CIC) จัดทำข้อมูลความเสี่ยงจากการประมวลผลข้อมูลจากระบบ Big Data ทำข้อมูลการข่าวเพื่อบริหารความเสี่ยง และบูรณาการการตรวจสอบข้อมูลราคา 3 กรมภาษี (กรมสรรพกร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) 5) เชื่อมโยงข้อมูลการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษี และ 6) การใช้ระบบเทคโนโลยีในการควบคุมทางศุลกากร (X-Ray CCTV e-Lock)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: