'เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน' ล่า 6 หมื่นรายชื่อเรียกร้อง 'คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม' เปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นเช่น 'แบบตรวจวัดความเสี่ยงการหลบหนี' แทนระบบเงินประกันตัวที่เอื้อให้คนจนติดคุก
4 ต.ค. 2560 เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ได้จัดการรณรงค์ออนไลน์ 'ขอ 6 หมื่นชื่อแสดงพลัง เปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป' ผ่าน change.org เพื่อเรียกร้อง 'คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม' เปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นเช่น 'แบบตรวจวัดความเสี่ยงการหลบหนี' แทนระบบเงินประกันตัวที่เอื้อให้คนจนติดคุก โดยรายละเอียดของการรณรงค์มีดังต่อไปนี้
60,000 คนต่อปี ต้องติดคุกระหว่างรอพิจารณาคดี
ระบบเงินประกันตัวขังคนที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว ระบบนี้ยุติธรรมแล้วหรอ? สำหรับคน “จน”
เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้น ลองมาดู VDO ตัวนี้กัน
มาลองดูเรื่องจริง ของคนจนที่ไม่เหลือทางเลือก เหล่านี้กัน...
นายขาว (นามสมมติ) คนขับแท็กซี่ ตำรวจพบยาเสพติดในกระเป๋าของผู้โดยสาร แต่เขาก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัยไปด้วย ผู้โดยสาร 2 คนใช้เงินประกันตัว ส่วนนายขาวไม่มีเงิน จึงต้องรอในคุกเป็นเวลาเกือบปี ถึงมีคำตัดสินว่าเขาไม่ผิด...เท่ากับว่าเวลาช่วงนั้น เขาติดคุกฟรี
ป้าแดง (นามสมมติ) ถูกผู้ค้ากัญชารายย่อยที่ตำรวจจับได้ กล่าวเท็จซัดทอดว่ารับกัญชามาจากป้าแดง ป้าไม่มีเงินประกันตัว จึงต้องเข้าไปรอในคุก และสุดท้ายศาลก็ตัดสินว่าป้าไม่ผิด… ป้าแดง ก็ติดคุกฟรีเช่นกัน
พวกเราเชื่อว่า เรื่องแบบนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย
------------------------------------------------
คุณรู้ไหมว่า ระบบเงินประกัน คือ อะไร?
ก่อนศาลจะตัดสินว่าใครผิด ผู้ต้องสงสัย (ขอย้ำว่าแค่ ‘สงสัย’ ยังไม่รู้ว่าทำผิดจริงหรือเปล่า) ที่ถูกจับกุม ณ ที่เกิดเหตุ จะต้องถูกฝากขัง เพื่อไม่ให้หนีไปก่อนพิจารณาคดี แต่เขาสามารถวางเงินประกันเพื่อซื้ออิสรภาพช่วงรอได้ เมื่อมาฟังศาลตัดสิน ไม่ว่าผิดหรือถูก ก็จะได้เงินประกันคืนไป
...แต่ในทางกลับกัน คนจนที่ไม่มีเงินเอาไว้ประกันตัวเอง จะต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณา ซึ่งเฉลี่ยแล้วอาจกินเวลาในคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลย
ระบบนี้ทำลายชีวิตของคนจนกว่า 60,000 คนต่อปี
บางคนถึงกับยอมรับสารภาพทั้งที่ไม่ผิด เพราะนั่นอาจหมายความว่าจะทำให้ติดคุกสั้นลง
ส่วนคนรวยที่ผิดจริงบางราย ก็พร้อมจ่ายเงินประกันแล้วหนีอยู่ดี
ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลเสียต่อประเทศ กว่า 8,500 ล้านต่อปี
- ต้นทุนของเรือนจำ เช่น ผู้คุม อาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ กว่า 2,500 ล้านต่อปี
- คนที่ต้องเสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ คำนวนแล้วเกือบ 6,000 ล้านต่อปี
ต้นเหตุของเรื่องนี้ ก็เพราะ “เงิน” ไม่ได้วัดว่าใคร “เสี่ยง” ที่จะหนีหรือไม่หนี
---------------------------------------------------
แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?
ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เคยเจอปัญหานี้แบบบ้านเรา จึงเปลี่ยนมาใช้ “แบบตรวจวัดความเสี่ยงการหลบหนี” ซึ่งได้ผลดีอย่างมาก และตอนนี้ไทยก็เริ่มรับโครงการนี้มาทดลองใช้แล้ว
- เมื่อมีคดีเข้ามา เจ้าหน้าที่ศาลจะดึงข้อมูลของผู้ต้องสงสัย จำนวน 15 หมวด เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติยาเสพติด คดีที่ค้างพิจารณา ฐานรายได้ เป็นต้น มาคำนวนเป็นคะแนน ว่าคนนี้ มี “ความเสี่ยง” ที่จะหนีมากน้อยแค่ไหน
- ผู้พิพากษา สามารถจัดการตามคะแนนได้ เช่น เสี่ยงน้อยก็ให้สาบานแล้วนัดวันรายงานตัว เสี่ยงกลางก็สามารถให้รายงานตัวด้วยการ Scan ลายนิ้วมือผ่าน Application หรือใส่กำไลที่ข้อเท้า และถ้าเสี่ยงมากจริงๆ ว่าจะหนี ก็ยังสามารถขังได้เหมือนเดิม
- ด้วยการตรวจวัดความเสี่ยงที่เป็นวิทยาศาสตร์ และกลไกการกำกับดูแลหลังปล่อย จึงทำให้ศาลมีทั้งข้อมูลและเครื่องมือที่ทำให้ไม่ต้องเรียกเงินในการประกันตัวอีกต่อไป
ข้อดีของระบบใหม่นี้ คือ
- ใช้หลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้คนทุกคนไม่ว่ารวยจน ก็จะเท่าเทียมกัน คนรวยมีทั้งที่เสี่ยงจะหนีและไม่หนี คนจนก็เช่นกัน ทุกคนจะถูกวัดด้วยเครื่องมือเดียวกัน ปลอดอคติ
- เป็นหลักสถิติ ที่ยิ่งใช้มาก ยิ่งเพิ่มฐานข้อมูล ก็จะยิ่งคาดการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น
- ลดความแออัดในเรือนจำ ตอนนี้คุกไทยมีผู้ต้องขังทั้งหมด 2.4 แสนคน แต่เป็นคนที่ถูกขังเพราะไม่มีเงินประกัน ถึงเกือบ 60,000 คน หรือ 1 ใน 5
---------------------------------------------------
แล้วคุณจะช่วยให้ระบบนี้เป็นจริงได้อย่างไร?
ปัจจุบันในประเทศไทย แบบตรวจวัดนี้ถูกรับไปทดลองใช้แล้วใน 12 ศาล
ที่ยังไม่สามารถใช้พร้อมกันทั่วประเทศได้นั้น เพราะต้องได้รับการสนับสนุนด้านคนทำงานเพิ่มเติม งบประมาณในการวางระบบและเครื่องมือต่างๆ
เราจึงอยากให้คุณร่วมลงชื่อสนับสนุนในแคมเปญนี้ เพื่อผลักดันโครงการเข้าสู่แผนของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม” ให้อีก 250 ศาลทั่วประเทศหันมาใช้แบบตรวจวัดนี้
เพื่อ
ให้คนจนไม่ต้องรอในคุก
ให้คนทุกคนได้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน
ผู้ร่วมลงนาม “เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน”
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
---------------------------------------------------
*สนับสนุนข้อมูลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
อ้างอิง ศาลเปิดโมเดลการฝากขังและปล่อยชั่วคราวใหม่ นำร่อง 5 จังหวัด ชี้ต้องรื้อระบบเงินซื้ออิสรภาพได้ “คุกมีไว้ขังคนจน” และ เศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก: ว่าด้วยกองทุนยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ