ภิกษุณีไทย: สิทธิสตรี-เสรีนิยม บนย่างก้าวอนุรักษ์นิยม

เจษฎา บัวบาล* TCIJ School รุ่นที่ 4 : 4 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 25722 ครั้ง

การบวชของภิกษุณีในประเทศไทยดูเหมือนจะประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือ รูปแบบองค์กรภิกษุณีสงฆ์ ที่มีเสรีภาพในการเผยแผ่และเป็นอิสระจากรัฐ มิใช่แค่ยินดีกับการที่ผู้หญิงสามารถเข้ามารับใช้ระบอบราชการไทยซึ่งถูกควบคุมโดยสถาบันสงฆ์ (ที่มาภาพ: Media Inside Out)

การบวชของภิกษุณีในประเทศไทยดูเหมือนจะประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือ รูปแบบองค์กรภิกษุณีสงฆ์ ที่มีเสรีภาพในการเผยแผ่และเป็นอิสระจากรัฐ มิใช่แค่ยินดีกับการที่ผู้หญิงสามารถเข้ามารับใช้ระบอบราชการไทยซึ่งถูกควบคุมโดยสถาบันสงฆ์

การเรียกร้องสิทธิและวิถีการดำรงชีพของภิกษุณีในประเทศไทยมิได้สะท้อนแนวคิดเสรีนิยม การตีความศาสนาเพื่อสนองต่อความเป็นสมัยใหม่ หรือส่งเสริมให้เกิดรัฐโลกียวิสัย (secular state) ดังที่เข้าใจกัน หากแต่ดำเนินไปภายใต้กรอบคิดอนุรักษ์นิยมที่นักวิชาการและภิกษุณีเองก็มิได้สลัดให้พ้นปัญหาเดิมคือ ระบบราชการแบบรวบศูนย์อำนาจและผูกขาดการตีความคำสอน

กรณีศึกษาภิกษุณีในศรีลังกาและอินโดนีเซีย ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านบริบทและรูปแบบของภิกษุณีสงฆ์ในแต่ละท้องที่ว่า มีพัฒนาการต่างจากภิกษุณีในประเทศไทยอย่างไรบ้าง

การฟื้นฟูภิกษุณีไทยภายใต้กระแสโลก

กระแสการฟื้นฟูภิกษุณีของพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของแนวคิดสตรีนิยมและสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านวิชาการและการขับเคลื่อนกิจกรรมในศตวรรษที่ 20 นั่นเอง ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่การฟื้นฟูภิกษุณีกลายเป็นประเด็นเมื่อคณะสงฆ์ผู้ชายซึ่งมีอำนาจรัฐ ปฏิเสธสถานะของพวกเธอตลอดมา

ข้ออ้างหลักที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเถรวาทใช้เพื่อปฏิเสธการบวชภิกษุณีคือ 1) การขาดสูญไปของอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิงที่เรียกว่า ปวัตตินี ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของสตรีก่อนจะส่งต่อให้พระสงฆ์ผู้ชายสวดสังฆกรรมรับรองอีกทีหนึ่ง 2) การใช้ภิกษุณีจากฝ่ายมหายานมาเป็นปวัตตินี ซึ่งเป็นนักบวชต่างนิกายเป็นสิ่งที่เถรวาทแบบไทยไม่สามารถรับได้

ดร. ฉัตรสุมาล กบิลสิงห์ อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยโต้แย้งผ่านงานวิจัยในปี พ.ศ. 2527 ว่าการหยิบยืมภิกษุณีจากสายมหายานให้เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะสิกขาบท (ศีล) ของภิกษุณีทั้ง 6 นิกายมีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นมหายานหรือเถรวาทก็ถือศีลแบบเดียวกัน

Gross Rita ศึกษาประเด็นเรื่องเพศสภาพและพุทธศาสนาซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2536 เสนอว่า การตีความพุทธศาสนาในอดีตตกอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) อันนำไปสู่การตัดโอกาสของผู้หญิง ข้อเสนอนี้ตรงกับนักวิชาการด้านศาสนาของไทย เช่น ร.ศ. ดร. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล  ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ และ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย

การถูกสถาบันพระสงฆ์ปฏิเสธไม่รับเข้าสังกัดภายใต้มหาเถรสมาคม เป็นโอกาสทองที่ภิกษุณีสามารถตั้งองค์กรที่เป็นเอกชนและเป็นแบบอย่างของพุทธศาสนาที่ไม่ขึ้นกับรัฐได้ดังสมัยพุทธกาล โดยที่ภิกษุณีเองยังสามารถปฏิสัมพันธ์กับชุมชนผ่านการรับบิณฑบาตหรือกิจกรรมในวันสำคัญได้ตามปกติ แต่ทั้งนักวิชาการและภิกษุณีกลับมองข้ามข้อดีนี้ไป มายาคตินี้จะเห็นชัดขึ้นเมื่อเทียบกับการฟื้นฟูภิกษุณีของศรีลังกาและอินโดนีเซีย

ศรีลังกา เป็นประเทศเถรวาทที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ไม่มีการปกครองที่รวมศูนย์แบบมหาเถรสมาคมของไทย พระสงฆ์ศรีลังกาแบ่งการปกครองออกเป็น 3 นิกายคือ อมรปุระ (Amarapura) รามัญญะ (Ramanna) และ สยามวังสะ (Siyam Vamsa) สองนิกายแรกสืบทอดจากพม่า ขณะที่นิกายหลังได้รับจากประเทศไทยในสมัยอยุธยา แต่ละนิกายมีพระสังฆราชหรือ สังฆนายก (Sangha Nayaka) เป็นของตนเอง ซึ่งมิได้ถูกแต่งตั้งจากรัฐ

น่าสนใจว่า แม้พระสงฆ์นิกายรามัญญะจะไม่เห็นด้วยกับการบวชภิกษุณีของอีกสองนิกาย แต่ก็ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐมาขัดขวางการสนับสนุนภิกษุณีได้ ต่างฝ่ายจึงเป็นอิสระต่อกันและยังเป็นอิสระจากรัฐ แม้ศรีลังกาจะประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ในมิติของการปกครอง พระสงฆ์ศรีลังกากลับมีเสรีภาพในการตีความคำสอน และมีสิทธิในฐานะพลเมืองได้มากกว่าพระสงฆ์ภายใต้ระบบราชการไทย

การบวชภิกษุณีเถรวาทของศรีลังกา เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของพระสงฆ์ที่มีการศึกษาตลอดจน นักวิชาการด้านพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2539 โดยมีสตรีเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรี 10 รูป และสองปีถัดมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีตามข้อกำหนดของพระวินัย โดยมีภิกษุณี ซิงยุน (Master Hsing Yun) จากใต้หวันของสำนัก ฝอกวงซาน (Fo Guang Shan) เป็นพระอุปัชฌาย์  และจากงานศึกษาของ ภิกขุโพธิ (Bhikkhu Bodhi) ปัจจุบันจำนวนภิกษุณีของศรีลังกาอยู่ที่ประมาณ 500 รูป

ภาพการบวชภิกษุณีที่ศรีลังกา เมื่อเดือน ธันวาคม 2559 (ที่มาภาพ: ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม) 

อินโดนีเซีย แม้จะมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ  องค์กรพุทธศาสนาในอินโดนีเซียอยู่ในรูปแบบของมูลนิธิ (Yayasan) ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และขึ้นต่อสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งอินโดนีเซีย (Walubi) สังกัดกระทรวงการศาสนา กล่าวได้ว่า อินโดนีเซียจัดรูปแบบการบริหารศาสนาในรูปแบบรัฐโลกียวิสัย องค์กรทางศาสนาทั้งหลายจึงมีเป็นอิสระจากรัฐในแง่การเผยแผ่

การบวชภิกษุณีเถรวาทในอินโดนีเซียเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ณ วัดกุสะละยานี (Wisma Kusalayani)  เมืองบันดุง จังหวัดชวาเหนือ โดยมีภิกษุณี สันตินี (Santini) ชาวอินโดนีเซียเป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และพระสรณังกะระ (Bootawatte Saranankara) จากศรีลังกาเป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ มีสามเณรี 9 รูปเข้ารับการอุปสมบท  สองรูปเป็นชาวอินโดนีเซียและอีกเจ็ดรูปเดินทางมาจากประเทศอื่นๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศาสนาของอินโดนีเซียเป็นประธานในพิธี และยังกล่าวปาฐกถาในทำนองที่ปลุกให้คนทุกศาสนาหันมาสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงให้มากขึ้น

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีภิกษุณีเถรวาทไม่ถึง 10 รูป แต่ก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการเผยแผ่ศาสนา ภิกษุณีเหล่านั้นออกเทศนาสั่งสอนในลักษณะเชิงรุก และเป็นอิสระแม้จากคณะสงฆ์ (ผู้ชาย) พุทธศาสนิกชนทั่วไปมิได้ปฏิเสธการมีอยู่ของภิกษุณี  พระวีรสิน พระธรรมทูตไทยสายอินโดนีเซียกล่าวว่า “เนื่องจากพุทธศาสนามหายานเติบโตอย่างมากในอินโดนีเซีย ผู้คนจึงไม่ถูกแนวคิดกีดกันสตรีเพศแบบที่เถรวาทครอบงำ”

ประเทศไทย แม้มิได้ระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แต่ศาสนาพุทธก็อยู่ภายใต้ การสนับสนุนและควบคุมจากรัฐ โดยมีพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ทำหน้าที่เป็นเหมือนข้าราชการที่ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค และศาสนาพุทธเองก็ได้รับการอุปถัมภ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับศาสนาอื่นๆ  

ขณะที่พระสงฆ์ผู้มีอำนาจบริหารเหล่านั้น สามารถขอให้รัฐออกกฎหมายควบคุมพระสงฆ์และกิจการด้าน ศาสนาได้ เช่น กรณีของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่เคยออกคำสั่ง ‘ห้ามมิให้ พระสงฆ์ไทยบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี’ ในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งปัจจุบันก็ยังมิได้ถูกยกเลิก

ในอดีตเคยมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นภิกษุณีในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยที่ นรินทร์ ภาษิต ให้ลูก สาวสองคนคือ ‘สาระ’ และ ‘จงดี’ บวชเป็นสามเณรี แล้วสร้างวัดชื่อว่า “วัตร์นารีวงศ์” ต่อมามีสตรีอีก 6 คนออกบวชเพิ่ม นับรวมแล้วขณะนั้นมีสามเณรี 8 รูป แต่ไม่ปรากฏชื่อของอุปัชฌาย์ เนื่องมาจากการป้องกันมิให้รัฐเข้าจัดการกับภิกษุรูปนั้น อย่างไรก็ตาม รัฐได้เบียดเบียนสามเณรีโดยวิธีต่างๆ เช่น จับถอดจีวรและบังคับให้สึก ซึ่งไม่กี่ปีต่อมาทุกรูปก็สึกและการฟื้นฟูภิกษุณีก็สิ้นสุดลง

สังคมไทยเริ่มรับรู้เรื่องราวของภิกษุณีอีกครั้งเมื่อ รศ. ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หรือหลวงแม่ ‘ธัมมนันทา’ อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บวชเป็นภิกษุณีในปี พ.ศ. 2546 ณ ประเทศศรีลังกา การบวชของหลวงแม่ธัมมนันทามิได้ละเมิดคำสั่งของคณะสงฆ์ เพราะท่านเลือกจะบวชกับพระสงฆ์ศรีลังกา มิใช่พระสงฆ์ภายใต้มหาเถรสมาคมของไทย

หลวงแม่ธัมมนันทาได้ตั้งวัตร (วัด) ขึ้นที่นครปฐมโดยให้ชื่อว่า ‘ทรงธรรมกัลยาณี’ และชักชวนให้สตรีหลายคนบวชเป็นภิกษุณี ขณะเดียวกันก็ทำงานเผยแผ่ทั้งด้านวิชาการและสอนธรรมะแก่ชุมชน ปัจจุบันมีภิกษุณีทั่วประเทศไทยประมาณ 200 รูป

นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรทั้งในและต่างประเทศได้ให้การช่วยเหลือการฟื้นฟูภิกษุณีในเมืองไทยอย่างมาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ศักยธิดา (Sakyadhita) หรือ สมาคมสตรีชาวพุทธสากล (International Association of Buddhist Women)

 

เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ภิกษุณีสงฆ์รวม 72 รูป ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เพื่อไปเจริญเมตตาธรรมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 โดยเจ้าหน้าที่แจ้งกับภิกษุณีบางกลุ่มว่าภิกษุณีไม่มีสถานะนักบวช ต้องไปต่อแถวของประชาชนทั่วไป และให้แต่งกายในชุดดำ (ที่มาภาพ:ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม)

ภิกษุณีไทยกับการยอมรับจากสังคม

พิธีกรรมการบวชภิกษุณีในประเทศไทยครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ณ ทิพยสถานธรรมเกาะยอ จังหวัดสงขลา โดยมี สามเณรี 8 รูปเข้ารับการอุปสมบท เพื่อป้องกันการเบียดเบียนจากอำนาจรัฐ สามเณรี ธัมมทีปา (ณัฐทิพย์ ตนุพันธ์) เจ้าสำนักได้เชิญหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.) มาร่วมเปิดงาน และยังมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และหนังสือขอพระราชทานพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งทั้งสำนักนายกฯ และสำนักพระราชวังได้มีจดหมายตอบกลับมาเพื่อแสดงความรับทราบถึงกิจกรรมดังกล่าว

พระอุปัชฌาย์ในพิธีคือ พระมหาสังฆนายกะ มหินทะวังสะ (Mahinda Vamsa) สังฆนายกแห่งนิกายอมรปุระ และภิกษุณี สุมิตรา (Sumitra) จากประเทศศรีลังกา ไม่กี่เดือนต่อมา มหาเถรสมาคมได้นำคำสั่งเรื่องการห้ามบวชภิกษุณีของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่ออกในปี พ.ศ. 2471 มาเน้นย้ำอีกครั้งจนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม

คำสั่งนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อเอาผิดพิธีการบวชที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป เพราะสามเณรีณัฐทิพย์ได้หาทางเลี่ยงด้วยการนิมนต์พระสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกามาทำการบวช คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นแค่การตอกย้ำระบบอำนาจรวมศูนย์ของคณะสงฆ์ไทย เพื่อให้พระสงฆ์ทั่วไปต้องเชื่อฟังอำนาจมหาเถรสมาคมส่วนกลาง ผู้ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษได้

แม้มหาเถรสมาคมจะไม่มีอำนาจกระทำการบวชภิกษุณีให้เป็นโมฆะ แต่คำสั่งนี้ก็ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่จะไม่ยอมรับให้ภิกษุณีเหล่านี้เข้าสังกัดคณะสงฆ์เถรวาทแบบไทย เพราะในทัศนะของมหาเถรสมาคม แม้ภิกษุณีเหล่านี้จะยังดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย แต่ก็มิได้รับสิทธิในแบบที่พระสงฆ์ผู้ชายได้รับ เช่น ใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ ฟรี หรือได้รับส่วนลดเมื่อซื้อตั๋วรถไฟ เป็นต้น

หลวงแม่ธัมมทีปา (ณัฐทิพย์ ตนุพันธ์) เคยผ่านชีวิตการเป็นแม่ชีภายใต้การอบรมของหลวงปู่ สุภา กนฺตสีโล ท่านจึงได้เรียนรู้ศิลปะต่างๆ จากหลวงปู่ทั้งด้านพลังจิต วิปัสสนา อิทธิฤทธิ์ และคาถาต่างๆ เช่น วิชาเป่าทองเข้าตัวและปลุกเสกแมงมุมมหาลาภ จึงไม่แปลกหากจะพบว่า รูปแบบการสอนธรรมะและการตอบสนองต่อคนในชุมชนของหลวงแม่ธัมมทีปาจะมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาจากพระผู้ชาย

การเติบโตมาในสังคมไทยและการใช้ชีวิตเป็นแม่ชีเพื่ออุปัฏฐากหลวงปู่ มีส่วนทำให้หลวงแม่ธัมมทีปาเองซึมซับความเป็นไทย ทั้งในแง่โลกทัศน์และการแสดงออกผ่านพิธีกรรมทางศาสนาในแบบที่คนไทยนิยม เช่น การสร้างบ้านเรือนไทยในรูปแบบศาลพระภูมิ เพื่ออุทิศให้แม่เสมือนเป็นที่สิงสถิตย์ของดวงวิญญาณ และการสร้างพระสีวลี เพื่อให้ผู้ศรัทธาโยนเหรียญทำนายดวงชะตา เป็นต้น

หลวงแม่ธัมมทีปามีความสามารถด้านวาทศิลป์และจบปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (ปี พ.ศ. 2559) ท่านสามารถหยิบยกหลักธรรมต่างๆ มานำเสนออย่างน่าสนใจ เช่น กรณีของการพรมน้ำมนต์ ก็จะเริ่มจากการเล่าประวัติที่อ้างอิงจากคัมภีร์เพื่อเจาะจงศาสนิกผู้ศรัทธาและต่อด้วยการอภิปรายเหตุผลสำหรับปัญญาชนว่า “เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ส่งเสริมกำลังใจเท่านั้น การจะล่วงพ้นอุปสรรคปัญหาจะต้องใช้กำลังใจนั้นมาตั้งสติและแก้ปัญหาด้วยปัญญาในขั้นถัดไป”

ด้วยแรงจูงใจที่ท่านเองเคยเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งมาหลายปี ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามจึงกลายเป็นสถานดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งทางกายภาพและจิตใจผ่านหลักธรรม จึง มองได้ว่า สิ่งนี้กลายเป็นคุณูปการอันหนึ่งที่ภิกษุณีริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือชุมชน ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ การมีอยู่ของภิกษุณีกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย

เรียกร้องสถานภาพภิกษุณี แต่อยากอยู่แบบอนุรักษ์นิยม  

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทิพยสถานธรรมได้จัดโครงการการบวชสามเณรี ‘กอดคอกันทำดีเพื่อพ่อ บรรพชา  สามเณรีรุ่นที่ 9’  มีผู้สมัครบรรพชาถึง 92 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ลักษณะและเนื้อหาของการอบรมหลายอย่างเป็นการปรับตัวเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ เช่น อนุญาตให้รับประทานกล้วยในตอนเย็นได้ หากผู้ใดประสงค์ ด้วยเหตุผลว่า “การปฏิบัติธรรมไม่ควรสร้างความลำบากตึงเครียดให้แก่ผู้อบรม” หลวง แม่ธัมมกมลาน้องสาวหลวงแม่ธัมมทีปา กล่าวสรุป

การต้องเคร่งครัดกับมารยาทแบบผู้หญิงในบางเรื่อง ดูจะสะท้อนถึงความเป็นเผด็จการหรือลัทธิบูชาผู้นำได้เช่นกัน ดังกรณีที่ผู้เข้าอบรมจะถูกแนะนำเรื่องพฤติกรรมอย่างละเอียด เช่น ท่าทางการยืน การนั่ง การวางมือ การหัวเราะ ระดับความสูง-ต่ำของการนุ่งห่มสบงจีวรฯ  จนภิกษุณีรูปอื่นๆ แทบไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นนอกแนวทางของหลวงแม่ธัมมทีปา  

เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการสังกัดกับทิพยสถานธรรม จะมีการปักรูปภิกษุณีหมุนล้อธรรมจักรไว้บริเวณปกเสื้อ (ขณะที่วัด ของหลวงแม่ธัมมนันทา นครปฐม ปักรูปใบโพธิ์) เพื่อจะยืนยันว่า หากภิกษุณีอื่นๆ ที่ไม่สวมเสื้อที่มีลายปักนี้ปฏิบัติตนนอกลู่นอกทาง ก็ให้ถือว่ามิได้เป็นสมาชิกของตน การควบคุมที่เข้มแข็งนี้ อาจเกิดจากการที่ภิกษุณีในแต่ละกลุ่มต้องช่วยสอดส่องกันเอง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเธอเองก็ถูกจับตามองจากสาธารณชนเช่นกัน

บัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางของภิกษุณีในเมืองไทย ยังระบุคำนำหน้าด้วยนางหรือนางสาว เพราะมหาเถรสมาคมไม่รับรองสถานะความเป็นนักบวชให้ มองในแง่หนึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ท่านเหล่านี้มิต้องถูกรวบเข้ากับระบบโครงสร้างราชการที่ซับซ้อนของคณะสงฆ์ไทย เช่น นักบวชที่สังกัดมหาเถรสมาคมจะต้องได้รับอนุมัติจากพระสังฆาธิการ คือ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศตภ.)ก่อน จึงจะดำเนินการทำหนังสือเดินทางได้

“กระบวนการที่ยุ่งยากเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับภิกษุณี ตราบเท่าที่ไม่ถูกรวบเข้าอยู่ภายใต้สังกัดของมหาเถรสมาคม น่าเสียดายที่ภิกษุณีเองมิได้ตระหนักถึงเสรีภาพที่มีอยู่ แต่พยายามอย่างมากที่จะให้มหาเถรสมาคมยอมรับสถานะ โดยที่ภิกษุณีทั้งหลายก็พร้อมจะเสียสิทธิเสรีภาพนั้นไป” พระจีรศักดิ์ พระธรรมทูตไทยในเกาหลีใต้กล่าว

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อรับกับความเป็นสมัยใหม่ และการข้ามไม่พ้นกรอบจารีตแบบเดิม ภิกษุณีภายใต้กระแสสิทธิสตรีและเสรีนิยมเรียกร้องสิทธิในการเข้าสู่ศาสนา แต่ขณะเดียวกัน ก็พร้อมจะสูญเสียเสรีภาพเพื่อแลกกับการเป็นภิกษุณีไทยภายใต้ระบอบเดิม กระแสฟื้นฟูภิกษุณีในเมืองไทย จึงมิใช่การปะทะกันระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม หากแต่เป็นอนุรักษ์นิยมเก่าและอนุรักษ์นิยมใหม่

ทางออกเพื่อสิทธิสตรีที่ดีกว่า

การเรียกร้องสิทธิในการบวชภิกษุณีเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะสามารถปลุกให้สังคมไทยหันมาตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศและเคารพเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาของปัจเจกบุคคลได้ แต่เสรีภาพเหล่านั้น ควรจะนำไปสู่การสร้างความหลากหลายขององค์กรทางศาสนาที่สามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

การเผยแผ่ศาสนาตามรูปแบบของศรีลังกาและอินโดนีเซียที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอุทาหรณ์ที่ดีของสถาบันทางศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ ภิกษุณีไทยซึ่งถูกฟื้นฟูขึ้นภายใต้กระแสสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน ควรถูกขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองรัฐสมัยใหม่ ซึ่งแม้รัฐไทยจะยังไม่ก้าวถึงจุดนั้น แต่องค์กรภิกษุณีเองที่ถูกจัดการอย่างเป็นอิสระ จะสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรศาสนาอื่นๆ ในประเทศไทยได้อย่างดี

สตรีนิยมจึงมิใช่แค่การที่ผู้หญิงสามารถทำเลียนแบบในสิ่งที่ผู้ชายทำได้ หากแต่ผู้หญิงต้องเติบโตและกล้าหาญที่จะกระทำสิ่งใหม่ๆ ได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเพศสภาพและมโนทัศน์เก่า สังคมไทยอาจต้องหันมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า เพื่อก้าวสู่สังคมสมัยใหม่ ชาวพุทธต้องการจะฟื้นฟู “ภิกษุณีเถรวาท” หรือ “ภิกษุณีแบบจารีตไทย” กันแน่ ?

*เจษฎา บัวบาล  นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: คำชี้แจง พศ. 'คณะสงฆ์ไทยไม่อาจรับรองการบวชภิกษุณี'

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: