จับตา: คำชี้แจง พศ. 'คณะสงฆ์ไทยไม่อาจรับรองการบวชภิกษุณี'

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6270 ครั้ง


สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เคยชี้แจงอ้างมติการประชุมมหาเถรสมาคม ว่าประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาสายเถรวาทนี้ไม่อาจบรรพชาสามเณรีและอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีขึ้นได้อีก (ที่มาภาพ: CC0 Public Domain)

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2557 ดร.สมชาย สุรชาตรี ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ระบุถึงกรณี 'คณะสงฆ์ไทยไม่อาจรับรองการบวชภิกษุณี' ไว้ว่าภิกษุณีหมายถึงหญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) ในสมัยพุทธกาลพระนางมหาปชาบดีโคตมี (พระน้านาง) ถือเป็นภิกษุณีองค์แรกที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชสตรีเป็นภิกษุณี  แต่กว่าที่พระนางจะได้บวชพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสห้ามเสีย 3 ครั้ง  เมื่อพระอานนท์ไปขอต่อพระพุทธเจ้าพระนางจึงได้รับอนุญาตให้บวชในพระพุทธศาสนา โดยก่อนอุปสมบทพระนางจะต้องรับครุธรรม 8 ข้อ คือ

  1. ภิกษุณีที่อุปสมบทแล้วต้องกราบไหว้พระภิกษุ
  2. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุ
  3. ภิกษุณีจะต้องเข้าฟังโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
  4. ภิกษุณีออกพรรษาพึงปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ พระภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์  
  5. ภิกษุณีเมื่อต้องอาบัติหนักต้องอยู่กรรม 15 วัน ในสงฆ์ 2 ฝ่าย
  6. สตรีที่ศึกษาอยู่ในธรรม 6 ข้อ เป็นเวลา 2 ปี (กล่าวคือรักษาศีล 10 ของสามเณร ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 6 โดยไม่ขาดตลอดเวลา 2 ปี) เรียกว่า นางสิกขมานา เมื่อได้ศึกษาแล้ว ดังนี้จึงอุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่ายได้
  7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุโดยปริยายใด ๆ
  8. ภิกษุทั้งหลายสั่งสอนห้ามปรามภิกษุณีทั้งหลายได้ แต่ภิกษุณีทั้งหลายจะสั่งสอนห้ามปรามภิกษุทั้งหลายไม่ได้

ถึงแม้นว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชสตรีเป็นภิกษุณีได้ แต่ด้วยการที่ต้องรับครุธรรม 8 ประการดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของภิกษุณีทั้งการอยู่อาศัยในป่า การอยู่อาศัยร่วมกับบุรุษทำให้ภิกษุณีค่อย ๆ หมดไปภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว

สำหรับประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ การศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไม่ปรากฏมีการกล่าวถึงภิกษุณี กระทั่งยุคปัจจุบันได้มีการจัดพิธีอุปสมบทภิกษุณีและบรรพชาสามเณรีกันขึ้นมา มีคณะภิกษุณีสงฆ์และคณะภิกษุสงฆ์จากศรีลังกามาเป็นอุปัชฌาย์

คณะสงฆ์ศรีลังกานับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเช่นเดียวกับประเทศไทยและพระพุทธศาสนาสายเถรวาทนั้น รับรองกันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้ขาดสูญไปนานแล้ว มิอาจกระทำการอุปสมบทสตรีขึ้นเป็นภิกษุณีได้อีก เพราะไม่มีภิกษุณีมาทำหน้าที่อุปัชฌาย์ ในประเทศศรีลังกาก็เช่นกัน คัมภีร์มหาวงศ์บันทึกไว้ว่า

ใน พ.ศ. 1560  ทมิฬโจฬะจากภาคใต้ของอินเดียได้เข้ายึดครองเมืองอนุราธปุระ แล้วบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนกระทั่งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ขาดสูญไปจากประเทศศรีลังกา  ต่อมากษัตริย์ศรีลังกาพระนามว่าพระเจ้าวิชัยพาหุสามารถขับไล่ทมิฬโจฬะออกไปจากประเทศได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 1629  แล้วทรงฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในศรีลังกา ด้วยการอาราธนาคณะภิกษุสงฆ์จากประเทศพม่าไปเป็นผู้ดำเนินการ แต่การอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้รับการฟื้นฟูในครั้งนั้น เพราะไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศพม่า ด้วยเหตุนี้ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาจึงขาดสูญไปตั้งแต่บัดนั้น

คณะสงฆ์ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา สืบเชื้อสายมาจากคณะสงฆ์สายเถรวาทจากประเทศศรีลังกา  เรียกว่าลัทธิลังกาวงศ์ จึงไม่ปรากฏการอุปสมบทภิกษุณี แต่ยังมีคณะบุคคลพยายามรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีขึ้นในประเทศไทย ทำให้พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พระสังฆราชเจ้า ทรงประกาศห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิตความว่า

“หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องพระพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา  เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา 12 ล่วงแล้วเป็นปวัตตินีคือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรีไม่มีแล้ว  สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี  ผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเพราะเหตุนี้ห้ามไม่ให้พระเณรทุกนิกาย บวชหญิงเป็นภิกษุณีเป็นสิกขมานา และเป็นสามเณรี ตั้งแต่นี้ไป ฯ ประกาศแต่วันที่ 18 มิ.ย. พ.ศ.2471”

ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการบวชภิกษุณีในประเทศไทย แล้วเห็นว่าประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาสายเถรวาทนี้ไม่อาจบรรพชาสามเณรีและอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีขึ้นได้อีก พร้อมกับมีมติให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับ กวดขันให้มีการถือปฏิบัติตามประกาศพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระสังฆราชเจ้า เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.2471 และพระวรธรรมคติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก และมติมหาเถรสมาคม พ.ศ.2545 เรื่องการบวชภิกษุณีอย่างเคร่งครัด 

“ขอทำความเข้าใจแก่สาธารณชนว่าการบวชสามเณรีและภิกษุณีในคณะสงฆ์ สายเถรวาทในปัจจุบันนี้ไม่อาจทำได้และคณะสงฆ์ไม่อาจรับรองการบวชดังกล่าว”

มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 31/2545
เรื่อง การบวชภิกษุณี

ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 31/2545 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เรื่อง การบวชภิกษุณี ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ 31/2545 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ระบุว่าเลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ในการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 8/2545๘/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545 ที่ประชุมซึ่งมี พระพรหมมุนี เป็นประธาน ได้พิจารณารับรองมติเรื่องการบวชภิกษุณี ซึ่งได้ประชุมในครั้งที่ 7/2545 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 ไว้ดังนี้

  1. คณะสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นพระพุทธบัญญัติว่าด้วยการให้การบรรพชาอุปสมบทหญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานา และเป็นสามเณรี เป็นหลักปฏิบัติ
  2. เห็นควรปฏิบัติตามประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยเรื่องห้ามพระภิกษุ สามเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ. 2471 ต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีก็สามารถสมาทานศีล 8 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้ และที่ประชุมได้พิจารณาเอกสารว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับภิกษุณี ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดยคณะกรรมการความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งลงมติให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ และในโอกาสที่สมควร จะได้ขออนุมัติเพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่แก่สาธารณชนต่อไป

 

ประกาศ
ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต
 

หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรีโดยถูกต้องพระพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษาสิบสองล่วงแล้วเป็นปวัตตินี คือ เป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้อนุญาตให้พระภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรีไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

เพราะเหตุนี้ ห้ามไม่ให้พระเณรทุกนิกายบวชหญิงเป็นภิกษุณีเป็นสิกขมานาและเป็นสามเณรีตั้งแต่นี้ไป 

ประกาศแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2471
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: