ผู้ว่า-เจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงรายแถลงยันชัด ไทยยังไม่อนุมัติให้ระเบิดเกาะแก่งกลางน้ำโขง ชี้ มติ ครม. 27 ธันวาฯ แค่ให้สำรวจ-ศึกษา พร้อมขอร่วมวงก่อนชี้ขาดอีกรอบ ด้าน 2 สถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายไม่รับงาน ที่มาภาพประกอบ: Wandelende Tak/wikimedia.org
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2560 ว่านายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย, นายสุรนาท ศิริโชค รักษาการ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย ได้ร่วมกันแถลงที่หอประชุม อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ระหว่างการประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เกี่ยวกับโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขง หรือการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตั้งแต่มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้-แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว
หลังจากก่อนหน้านี้ประเทศจีนเป็นโต้โผใหญ่ระเบิดแก่งน้ำโขงตั้งแต่จีนตอนใต้ เรื่อยมาจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และกำลังสำรวจระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายปรับปรุงร่องน้ำโขงตั้งแต่ จ.เชียงราย-แขวงหลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 374 กิโลเมตร
ล่าสุดรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ธ.ค.เห็นชอบเรื่องการศึกษาและสำรวจแม่น้ำโขงในเขตที่ติดกับประเทศไทย ยิ่งทำให้องค์กรเอกชน-ภาคประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมากขึ้น โดยจะเริ่มเคลื่อนไหวกันตั้งแต่ 5 ก.พ.นี้เป็นต้นไป
นายบุญส่งกล่าวว่า ช่วงคืนที่ผ่านมาตนได้รับแจ้งจากปลัดกระทรวงมหาดไทยว่ารัฐบาลไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ เกี่ยวกับการกระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงในพื้นที่ จ.เชียงราย ดังนั้น ทางจังหวัดฯ จึงถือโอกาสแจ้งให้ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ได้รับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อมูลที่คลาดเคลื่อนโดยถ้วนหน้ากัน
“กรณีที่ภาคประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ก็ขอให้ใช้สติอย่างถี่ถ้วนด้วย และขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจด้วยว่าการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักแน่นอน”
ด้านนายสุรนาทกล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าวเป็นเพียงอนุญาตให้มีการสำรวจเฉพาะพื้นที่แม่น้ำโขงที่ติดกับประเทศไทยตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน-อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนทางแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเท่านั้น ยังไม่มีการเปิดให้ระเบิดเกาะแก่งแห่งใดๆ ในแม่น้ำโขงทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เพราะตามข้อตกลง 4 ชาติลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน คือ ไทย พม่า สปป.ลาว และจีนนั้นมี Development plan หรือแผนการพัฒนาเพื่อการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขง ที่กำหนดเอาไว้ว่าเมื่อมีการศึกษา และสำรวจแล้ว จะนำผลเข้าสู่การหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
กรณีของประเทศไทยก็จะนำผลจากการศึกษาและสำรวจดังกล่าวกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง เพราะการดำเนินการใดๆ จะต้องไม่มีผลกระทบต่อแนวเขตแดนไทย-สปป.ลาว ด้วย จึงสรุปได้ว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการระเบิดเกาะแก่งใดๆ ที่ติดกับประเทศไทยแต่อย่างใด
“อนาคตจะระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงหรือไม่ตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีการศึกษาและสำรวจ เมื่อไม่มีก็ชี้ชัดลงไปไม่ได้ แต่อาจสันนิษฐานได้ 2 ด้าน คือ อาจจะไม่มีการระเบิดเกาะแก่งเลย ถ้าเมื่อสำรวจแล้วอาจเห็นควรให้มีการใช้เครื่องช่วยเหลืออื่นแทนการระเบิดเกาะแก่ง เช่น ทุ่น หลักนำ ฯลฯ หรืออาจจะระเบิด ซึ่งก็ต้องมาดูที่ข้อสรุปผลการศึกษากันอีกครั้งหนึ่ง”
นายสุรนาทกล่าวอีกว่า แต่เมื่อยังไม่มีการสำรวจ ฝ่ายไทยจึงได้เสนอขอเข้าร่วมสำรวจด้วย โดยได้จัดเจ้าหน้าที่จาก 3 ฝ่ายเข้าร่วม คือ หน่วยอุทกศาสตร์ทหารเรือ, หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย และกรมเจ้าท่า เป็น 3 หน่วยงานหลัก
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ชายแดนคนหนึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมเจ้าท่า, องค์กรภาคประชาชนที่ออกมาต่อต้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยหารือกับบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด ของจีนที่ได้สัมปทานดำเนินการปรับปรุงรองแม่น้ำโขงดังกล่าว และส่งเรือสำรวจตั้งแต่จีนตอนใต้ ผ่านเชียงราย-แขวงหลวงพระบาง มาแล้วรอบหนึ่งว่า จะขอให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ช.) เข้าร่วมในคณะสำรวจของฝ่ายไทยด้วย เพราะถือเป็นองค์กรคุณภาพที่สามารถรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment : SIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) แต่ปรากฏว่าทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่ตอบรับที่จะเข้าร่วมศึกษาสำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสียใจบ้าง จึงทำให้เหลือหน่วยงานของไทยที่จะร่วมสำรวจกับเอกชนจีนด้วย 3 ฝ่ายเท่านั้น แต่เชื่อว่าทั้งหมดก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตามความร่วมมือของไทย พม่า สปป.ลาว และจีน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544 และมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (The joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River among China, Laos Myanmar and Thailand หรือ JCCCN ) มาเป็นกลไกขับเคลื่อน
ในการประชุม JCCCN ที่ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 9-12 ม.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยเสนอขอร่วมสำรวจกับเอกชนจีน โดยตั้งเป้าว่าจะสำรวจแม่น้ำโขงระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. 2560 ก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป และในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JCCCN ซึ่งฝ่ายไทยจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุม 4 ชาติด้วย
สำหรับการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงและระเบิดเกาะแก่ง ที่ผ่านมามีการดำเนินการกับเกาะแก่งต่างๆ เพื่อให้เรือขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ตันแล่นได้ 95% ในรอบปีไปแล้ว 11 แห่ง แต่ยังติดแก่งคอนผีหลง พรมแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพราะมีการต่อต้าน และรัฐบาลไทยยังไม่อนุมัติให้ดำเนินการ
ขณะนี้โครงการดังกล่าวเริ่มเข้าสู่แผนระยะที่ 2 ซึ่งมีแผนที่จะระเบิดและขุดลอกสันดอนในแม่น้ำโขงอีก 51 แห่ง เพื่อให้สามารถเดินเรือขนาดระวางบรรทุกอย่างต่ำ 300 ตัน โดยมีเป้าหมายที่เป็นเกาะแก่งติด อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จำนวน 9 แห่ง นอกจากนี้ยังมีระยะที่ 3 ที่จะปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ 500 ตันเกือบตลอดทั้งปีด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ