นักวิชาการระบุประเทศไทยขยับติดอันดับ 5 ของโลกที่มีการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด เสี่ยงถูก EU กดดันไทยในลักษณะเช่นเดียวกับ IUU ด้าน ทช.เผยสัตว์ทะเลหายากตายกว่า 300 ตัวกินถุงพลาสติก-ติดเศษอวน ร้อยละ 60 โลมา-วาฬกินขยะ ส่วนกลุ่มเต่า ติดอวนเชือก ที่มาภาพประกอบ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล
Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา "วิกฤตขยะบก สู่แพขยะในทะเล : จะแก้อย่างไร?" จัดโดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่าการรณรงค์ให้ประเทศไทยลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ร้อยละ 30 เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จากปัจจุบันยังลดการใช้ได้ไม่ถึง ร้อยละ 10 หากประชาชนทุกคนไม่ช่วยกัน โดยขยะทะเลเป็นปัญหาสะสมในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ที่สำคัญไทยได้ขยับอันดับปัญหาขยะทะเลจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด แซงประเทศศรีลังกาแล้ว
ดร.ธรณ์ บอกว่า นับเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะไทยมีประชากรน้อยกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่กลับมีปริมาณขยะในทะเลมากกว่า 1 ล้านตัน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกลุ่มประเทศยุโรป (EU) กดดันไทยในลักษณะเช่นเดียวกับการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU จึงอยากให้คนไทยร่วมมือกันทั้งลดการใช้ถุงพลาสติก และลดขยะตั้งแต่ครัวเรือน เนื่องจากขยะทะเลไม่สามารถย่อยสลายในลักษณะเดียวกับขยะบก เพราะขยะทะเลลอยน้ำไปได้ไกลถึงทะเลประเทศอื่น ๆ แต่ขยะทะเลต้องจัดการลักษณะเดียวกับก๊าซเรือนกระจก
ด้านดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล หรือ ทช. บอกว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ พบสัตว์ทะเลหายากตายจากกกินขยะและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยแบ่งเป็นการกิน ร้อยละ 60 จะเป็นพวกโลมาและวาฬ ส่วนพวกเต่า ปัญหาจะติดพันขา และตามลำตัวจากขยะ ที่ทะเลที่ล่องลอยสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งอย่างล่าสุดที่เจอทั้งแมนต้าเรย์ ฉลามวาฬที่มีเชือกติดกับลำตัวของสัตว์เหล่านี้
ทั้งนี้ใน เว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ได้เผยแพร่รายงาน '5 หมื่นตันต่อปีขยะทะเล วิกฤติพอหรือยัง' ระบุว่าการตอบสนองต่อการจัดการปัญหาแพขยะ นับว่าหน่วยงานภาครัฐในยุครัฐบาลปัจจุบัน ได้บูรณาการและร่วมมือดำเนินการจัดการรับมือกับปัญหาได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง กล่าวคือ - สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับแบบจำลอง Real-Time Ocean Forecast System (RTOFS) เพื่อพยากรณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของแพขยะ - จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร ประสานงานให้กองทัพเรือภาคที่ 1 กองบิน 5 ขึ้นบินสำรวจหาบริเวณแพขยะลอยกระจาย - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมความพร้อมและประสานงานกับชุมชนชายฝั่ง สมาคมประมงในท้องที่เพื่อเข้าทำการตรวจสอบและเก็บกู้ขยะทะเลขึ้นฝั่ง
แม้ว่าจะได้เร่งเข้าร่วมดำเนินการกันอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคจากคลื่นลมและกระแสน้ำพบว่าแพขยะที่พบลอยกระจายวงกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันออกของเกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแนวประมาณ 20 กม. ห่างจากชายฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตรนั้น ได้กระจัดจายไม่เป็นกลุ่มแพทำให้การเก็บกู้ขยะซึ่งได้ระดมเรือของ ทช.จำนวน 4 ลำ เจ้าหน้าที่จำนวน 40 นาย และเรือนำเที่ยวของเอกชน จำนวน 2 ลำ เรือประมง จำนวน 10 ลำ โดยสามารถกู้ขยะขึ้นจากทะเลได้ประมาณ 5,5๐๐ กิโลกรัม ซึ่งจากการประเมินคัดแยกขยะ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นขยะจากครัวเรือน เป็นถุงพลาสติก 30 เปอร์เซ็นต์ ขวดพลาสติก 30 เปอร์เซ็นต์ กล่องโฟม 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะอื่นๆ ซึ่งต่อมาได้ส่งต่อไปที่เทศบาลบางสะพานเพื่อจัดการกำจัดอย่างถูกวิธี
มีคำถามตามมาว่า “แพขยะทะเล” มาจากไหน? ในเรื่องนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยแพร่ข้อมูลโดยอ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีจำนวนขยะประมาณ 26.85 ล้านตัน/ปี (หรือคิดเป็นปริมาณขยะ จำนวน 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน) โดยในจำนวนนี้มีปริมาณขยะที่ตกค้างเพราะไม่สามารถกำจัดอย่างถูกวิธี ประมาณ 23 % หรือประมาณ 6.22 ล้านตัน/ปี โดยสำหรับจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะ ประมาณ 10 ล้านตัน/ปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตันที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธี ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจประเมิน พบว่าประมาณร้อยละสิบของขยะที่ตกค้างเนื่องจากกจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตัน/ปี ซึ่งประเมินว่าในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติดในทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น แหล่งที่มาของขยะทะเล คือ ขยะจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น จากชุมชน จากแหล่งท่องเที่ยวชายหาด จากท่าเรือ และจากแหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง รวมทั้ง ขยะจากกิจกรรมในทะเล เช่น การประมง การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งทางทะเล โดยขยะทะเลจะส่งผลกระทบทั้งต่อการท่องเที่ยว ต่อการประมง/การเดินเรือ ต่อสุขภาพอนามัย ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีขยะทะเลอันดับ 6 ของโลก (จากผลการสำรวจโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ปี 2558)
นอกจากมาตรการเฉพาะหน้าเร่งด่วน เช่นกรณีจัดการปัญหาแพขยะที่พบในท้องทะเลชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ แล้ว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง นักวิชาการ กลุ่มนักอนุรักษ์ ในการกำหนดมาตรการจัดการขยะทะเล ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) การสำรวจ ศึกษา จัดทำฐานข้อมูลชนิด ปริมาณ แหล่งที่มาของขยะทะเล (2) การลดปริมาณขยะทะเลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ชุมชนชายฝั่ง การประมง การท่องเที่ยว และกลุ่มวิสาหกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น (3) การลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศ ต่อการท่องเที่ยว ต่อสุขอนามัย (4) การส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5) การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นับว่าเป็นครั้งแรก ที่ปัญหาขยะทะเลได้รับความสนใจในระดับนโยบาย โดยรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญและบรรจุแผนงาน/โครงการจัดการขยะทะเลไว้ใน “แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ปี พ.ศ.2560 – 2564) รวมทั้ง ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งมีคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะทำงาน 7 คณะ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคณะทำงานด้านสัตว์ทะเลมีพิษและมลพิษทางทะเล ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงจากนโยบายสู่การปฏิบัติโดยมีกลไกด้านวิชาการรองรับสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมและมีมาตรฐานทางวิชาการที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมองจากขนาดของปัญหาขยะทะเลห้าถึงหกหมื่นตัน/ปี หรือ ปริมาณขยะพลาสติคประมาณ 750 ล้านชิ้น/ปี การจะทิ้งภาระการจัดการขยะทะเลให้หน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบเพียงลำพังน่าจะเกิดความสำเร็จหรือไปสู่เป้าหมายการไม่ติดอันดับโลกเรื่องปริมาณขยะพลาสติคในทะเลได้ในเร็ววันหากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนไทยทุกคนไม่ร่วมรับผิดชอบลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติค (ซึ่งการสำรวจพบว่าคนไทยใช้ถุงพลาสติค ประมาณ 15 ใบ/คน/วัน) ขณะนี้ จึงมีกระแสเรียกร้องจากกลุ่มนักวิชาการและนักอนุรักษ์ซึ่งกระตุ้นให้ภาครัฐพิจารณาว่านอกจากการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึก สมัครใจลดขยะพลาสติคแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่ควรจะมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติคดังตัวอย่างของหลาย ๆ ประเทศทั้งในยุโรปและเอเซียใช้เป็นมาตรการที่ได้ผลให้เห็นแล้ว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ