เผยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณใช้ ม. 44 เพื่อแก้ไขกฎหมาย 5-7 ฉบับ ให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. 2560 มีการลดขั้นตอนและระยะเวลาการจดทะเบียนตั้งบริษัทจาก 25.5 วัน เหลือ 2.5 วัน แก้ไขประเด็นการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในการเรียกประชุมวิสามัญจาก 20% หรือ 10% ของผู้ถือหุ้น และกรณีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 5% สามารถขอเข้าชื่อเพื่อขอให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ตรวจสอบกิจการหรือฐานะการเงินรวมถึงการทำงานของกรรมการได้จากเดิมกำหนดไว้ที่ 20% หวังให้ธนาคารโลกจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในลำดับที่ดีขึ้น ที่มาภาพประกอบ: mattblanchfield (CC0)
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าหลังจากที่ธนาคารโลกออกมาจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ซึ่งจะสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจจาก 190 ประเทศทั่วโลก เทียบกับตัวชี้วัด 10 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนสินทรัพย์, การได้รับสินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย ภาพรวมของไทยในปี 2560 ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 46 มีคะแนนเพิ่มขึ้น 72.53 คะแนน โดยธนาคารโลกจะสำรวจข้อมูลในเดือนพฤษภาคมเพื่อประกาศผลการจัดอันดับครั้งใหม่ภายในเดือนตุลาคม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา พิจารณาการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจตามรายงาน (Ease of Doing Business) ประจำปี 2561 (2018) โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณว่า จะมีการประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมาย 5-7 ฉบับ ให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560
รัฐบาลต้องการให้การจัดลำดับสูงขึ้นให้ได้ เนื่องจากเรื่องนี้มีส่วนสำคัญในการพิจารณาเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพราะการที่นักลงทุนต่างประเทศจะตัดสินใจมาลงทุนนั้นจะต้องประเมินความน่าลงทุนของประเทศเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
"ท่านนายกฯส่งสัญญาณว่า จะต้องใช้มาตรา 44 เพื่อผ่านร่างแก้ไขทันในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน กฎหมายที่เร่งรัดขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณาโดยกฤษฎีกาแล้ว มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าใช้มาตรา 44 เช่น การเริ่มต้นธุรกิจจาก 25.5 วัน เหลือ 2.5 วัน ซึ่งในปี 2560 ไทยได้ลำดับที่ 78 หากแก้ไขได้ในหัวข้อนี้ไทยจะถูกจัดลำดับติดท็อป 20 ได้เลย" นายสนธิรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายที่รัฐบาลต้องการเร่งรัด 5-7 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนข้ามเขต และคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย 2) พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย โดยการลดสัดส่วน 3) พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อแก้ปัญหาล้มละลาย 4) พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อให้การทำธุรกิจทางออนไลน์มีผลตามกฎหมาย 5) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อขยายเวลาในการส่งเงินสมทบออนไลน์ และ 6) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อยกเลิกข้อกำหนดให้บริษัทส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นต้น
ในส่วนการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย (Protecting Minority Investor) นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ใน 2 เรื่องด้วยกันคือ การแก้ไข พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขประเด็นการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในการเรียกประชุมวิสามัญจาก 20% หรือ 10% ของผู้ถือหุ้น และกรณีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 5% สามารถขอเข้าชื่อเพื่อขอให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ หรือฐานะการเงิน รวมถึงการทำงานของกรรมการได้ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 20%
พร้อมทั้งเสนอแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ซึ่งมีสาระสำคัญว่า จะแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกรรมการกับผู้ถือหุ้นไว้ในข้อบังคับของบริษัทได้ กรณีการเพิ่มเหตุให้ศาลสั่งเลิกบริษัทและเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินปันผลภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ
ส่วนการแก้ไขตัวชี้วัดการเริ่มธุรกิจ ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเจ้าภาพ จะมีการลดขั้นตอนและระยะเวลาการจดทะเบียนตั้งบริษัทจาก 25.5 วัน เหลือ 2.5 วัน ด้วยการยกเลิกขั้นตอนการออกตราประทับ (มาตรา 1128 ประมวลกฎหมายแพ่งเดิม) ซึ่งได้เคยแก้ไขในปี 2558 ลดเวลา 4 วัน เหลือ 2 วัน ในปี 2559 และปีนี้ (2560)จะกลายเป็น 0 วัน ส่วนขั้นตอนการยื่นสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเสนอให้ยกเลิกการยื่นสำเนาข้อบังคับส่งผลให้ขั้นตอนนี้จะกลายเป็น0 วัน จากที่เคยใช้ระยะเวลานานที่สุด 21 วัน
ในวันที่ 18 เมษายนนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเปิดให้บริการ "จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration)" ครบวงจร ตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ เปลี่ยนแปลง จนถึงการเลิกประกอบธุรกิจ จะมีความรวดเร็ว-ง่าย สามารถดำเนินการได้ทุกที่ ทุกเวลา
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดลำดับ Ease of Doing Business ยังจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 เพื่อช่วยให้มีการแก้ไขกฎระเบียบ และเท่าที่ทราบในการประชุม คณะทำงานสานพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ทางประธานประชารัฐชุด D1 ซึ่งมีนายกานต์ ตระกูลฮุน เป็นประธานภาคเอกชนเตรียมจะรวบรวมและเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยด้วย
"หากเราปรับอันดับได้ดีขึ้นจะส่งผลดีกับภาพรวมทั้งประเทศไม่เพียงเท่านั้นเราต้องถามว่า เอกชนและประชาชนได้อะไร ประเทศได้อะไร ผมมองว่า การปรับปรุงกฎกติกาอะไรก็จะช่วยให้การค้าขายของประเทศชาติทำได้ดีขึ้น ประชาชนอยู่ดีกินดีเพิ่มมากขึ้น" นายกลินท์กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ