แนะ 3 ทางเลือกให้รัฐรับซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อปเสรี

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2139 ครั้ง

แนะ 3 ทางเลือกให้รัฐรับซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อปเสรี

สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งผลศึกษาวิเคราะห์โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แล้ว คาดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาในวัน ที่ 5 ก.ย.2560 นี้ โดยเสนอรัฐเลือกเปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ ใน 3 ทางเลือกระหว่างปีละ 300 เมกะวัตต์ 600 เมกะวัตต์​หรือ 1,000 เมกะวัตต์ ที่มาภาพ: Energy News Center

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 มีงานสัมมนาสรุปผลการศึกษา "โครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี" ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้อง801 อาคารจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย ดร.โสภิตสุดา ทองโสภิต นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เปิดเผยถึงผลการศึกษา "โครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี" ดังกล่าวว่า ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) โดยเน้นการผลิตเพื่อใช้เองก่อน และหากมีไฟฟ้าที่ผลิตเหลือจากการใช้ ภาครัฐก็ควรอนุญาตให้มีการรับซื้อไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม

ส่วนปริมาณการรับซื้อนั้น ทางสถาบันฯได้จัดทำเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่ 1. เปิดรับซื้อปีละ 300 เมกะวัตต์ จนครบเป้าหมายที่ 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP2015 ส่วนทางเลือกที่ 2. เปิดรับซื้อปีละ 600 เมกะวัตต์ จนครบเป้าหมาย 12,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 และทางเลือกที่ 3. เปิดรับซื้อปีละ 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี หรือครบเป้าหมายที่ 3,000 เมกะวัตต์ในปี 2563

โดยทางเลือกที่ 1. รับซื้อรวม 6,000 เมกะวัตต์นั้นจะกระทบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(FT) เพียง 0.7-1.4 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนทางเลือกที่ 2 รับซื้อรวม 12,000 เมกะวัตต์นั้น กระทบ FT เพียง 1.4-2.8 สตางค์ต่อหน่วย และทางเลือกที่ 3 รับซื้อรวม 3,000 เมกะวัตต์นั้น กระทบ FT เพียง 0.8-1.4 สตางค์ต่อหน่วย โดยทั้ง 3 ทางเลือก พบว่ามีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนไม่เกิน 3 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตามราคารับซื้อไฟฟ้าที่ศึกษาไว้นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยต้องรอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน กบง.พิจารณาเสร็จก่อน ซึ่งสถาบันฯได้ทำไว้หลากหลายแนวทาง ส่วนเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน(IRR)จะไม่ต่ำกว่า 10%

ทั้งนี้ทางสถาบันวิจัยพลังงานได้จัดส่งผลการศึกษาโครงการนำร่องส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าในัวันที่ 5 ก.ย. 2560 ทาง พพ.จะนำเสนอรายละเอียดต่อกบง.ให้พิจารณา จากนั้นจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนก.ย. 2560 นี้ อย่างไรก็ตามภาครัฐอาจจะใช้หรือไม่ใช้ผลการศึกษาของสถาบันฯ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของภาครัฐ

ดร.โสภิตสุดา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สถาบัน ยังเสนอให้ใช้ระบบ Net Billing หรือ ระบบ 2 มิเตอร์ ซึ่งสามารถอ่านค่าไฟฟ้าได้ทั้งไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ และไฟฟ้าที่ซื้อกลับเข้ามา ก็ช่วยให้เกิดการจ่ายค่าไฟฟ้ากันได้ทันที ส่วนของผลกระทบต่อการไฟฟ้านั้น ทางสถาบันได้ศึกษาเฉพาะในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) ซึ่งพบว่าในระยะแรกจะมีผลกระทบไม่มาก แต่ในระยะยาวถ้ามีการผลิตโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมาก ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: