กรมสรรพากร เตือนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) 150,000 ราย ที่ยังไม่จัดทำแบบบัญชีชุดเดียวให้เร่งจัดทำบัญชีชุดเดียวที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ เพราะจะประสบปัญหาการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทได้ เนื่องจากตั้งแต่ปีบัญชี 2561 เป็นต้นไปจะเริ่มบังคับให้นำบัญชีที่ยื่นเสียภาษีกับสรรพากร มาใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้อย่างเดียว ไม่สามารถนำบัญชีอื่นๆ หรือรายได้อื่นที่ไม่เสียภาษีมายื่นประกอบขอกู้ได้อีก ขู่ส่งชื่อให้ ปปง.เอาผิด ส่วนเก็บภาษีออนไลน์คาดกฎหมายมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า
เว็บไซต์ moneychannel.co.th รายงานเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เตือนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) 150,000 ราย ที่ยังไม่จัดทำแบบบัญชีชุดเดียวให้เร่งจัดทำบัญชีชุดเดียวที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ เพราะจะประสบปัญหาการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทได้ เนื่องจากตั้งแต่ปีบัญชี 2561 เป็นต้นไปจะเริ่มบังคับให้นำบัญชีที่ยื่นเสียภาษีกับสรรพากร มาใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้อย่างเดียว ไม่สามารถนำบัญชีอื่นๆ หรือรายได้อื่นที่ไม่เสียภาษีมายื่นประกอบขอกู้ได้อีก และหากธนาคารพาณิชย์ไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิด ซึ่งกรมสรรพากรได้ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป การขอใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินจะต้องนำบัญชีปี 2561 ที่ยื่นกับสรรพากรมาพิจารณาปล่อยกู้จะใช้ทรัพย์สินอื่น หรือบัญชีหุ้นส่วนลูกน้องมาขอกู้ร่วมไม่ได้
นายประสงค์บอกว่าตั้งแต่กฎหมายบัญชีชุดเดียวบังคับใช้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 จนถึงปัจจุบัน มีเอสเอ็มอีที่ยอมจัดทำบัญชีเดียว เพียง 50% หรือประมาณ 1.5 แสนราย จากทั้งหมด 3 แสนราย โดยเอสเอ็มอีที่ยังคงหลบเลี่ยงส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก รายได้ต่ำกว่า 30 ล้านบาท มีทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร ปล่อยกู้ ร้านทอง และบริษัทซ่อมรถ นายประสงค์ บอกด้วยว่า จะนำรายชื่อบริษัท และสำนักงานบัญชีที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาตรวจสอบทำการยึดทรัพย์ด้วย จากกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ที่เพิ่งออกเดือน เม.ย. นี้
สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากการค้าออนไลน์นั้น นายประสงค์ บอกว่ากรมสรรพากรจะเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Business ผ่านเว็บไซด์ของกรมสรรพากรอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เป็นครั้งสุดท้ายหลังจากนั้นจะปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนตามข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับฟังมา และจะเร่งสรุปในรายละเอียดเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วที่สุด โดยคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้โดยเร็วหรือกลางปี 2561 เพราะปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักแสนล้านบาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ