ไม่ถึงเดือน-เชียงใหม่ ‘แผ่นดินไหว’ 90 ครั้ง

ทีมข่าว TCIJ : 5 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 15850 ครั้ง

‘แผ่นดินไหว’ ในประเทศไทย นาน ๆ ครั้งจึงจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในวงกว้าง เนื่องจากภัยพิบัติชนิดนี้ถูกมองว่ามีโอกาสเกิดน้อยกว่าน้ำท่วม ภัยแล้ง หรืออุบัติภัยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่า ทำให้รัฐบาลแทบทุกยุคสมัยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยทั้งเรื่องรอยเลื่อนและการรับมือกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่น้อยมาก

ต้นปี 2560 ไหวถี่ที่ภาคเหนือ งานวิจัยชี้อีก 50 ปีอาจไหว 5-7 แมกนิจูด

ข้อมูลที่ TCIJ รวบรวมจากจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 - 26 ม.ค. 2560 (เวลา 23.19 น.) เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่ จ.เชียงใหม่ ไปแล้วถึง 90 ครั้ง โดยวันที่มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้งที่สุดคือวันที่ 15 ม.ค. 2560 มีแผ่นดินไหวถึง 16 ครั้ง และครั้งที่ไหวรุนแรงมากที่สุดคือแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 15.35 น. ของวันที่ 15 ม.ค. ที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีความรุนแรง 4.2 แมกนิจูด พื้นที่เกิดเหตุมากที่สุดคือพื้นที่ อ.จอมทอง และ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในช่วงต้นปี 2560 นี้ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถทำนายปรากฏการณ์การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่มีเครื่องมือที่สามารถวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น ปกติแล้วการเกิดแผ่นดินไหวในไทยที่ถือว่ารุนแรงจะอยู่ที่ระดับ 4-5 แมกนิจูดขึ้นไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ กรณีที่เกิดที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ระดับ 4.2 แมกนิจูด ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง รู้สึกถึงความสั่นไหวได้ในบางพื้นที่ โดยถือเป็นการขยับตัวของเปลือกโลกแล้วปล่อยพลังงานออกมาตามปกติ ซึ่งแผ่นดิน ไหวที่มีความถี่แต่ไม่รุนแรงนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นไม่อยากให้ประชาชนเกิดความกังวลมากเกินไป ทางสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และทางกรมทรัพยากรธรณีเองติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ

สำหรับการคาดการณ์เหตุแผ่นดินไหวในอนาคตนั้น งานวิจัย 'การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' โดย ผศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่าภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีโอกาส 70-90% และ 20-40% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 และ 6.0 แมกนิจูด ในอีก 50 ปีข้างหน้า ส่วนในกรณีของโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด มีโอกาสไม่เกิน 10% ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ

รอยเลื่อนและพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวในประเทศไทย

สภาพถนนที่เสียหายจากแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 ที่มาภาพ: chiangraitimes.com

ข้อมูลจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าประเทศไทยค่อนข้างโชคดีด้วยลักษณะภูมิประเทศและที่ตั้งของประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่แนวแผ่นดินไหวของโลก แนวที่ใกล้ที่สุดอยู่ในประเทศพม่า ทะเลอันดามัน และด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา ซึ่งค่อนข้างมีระยะห่างจากแหล่งชุมชนของประเทศไทยมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงถูกจัดอยู่ในบริเวณที่มีภัยแผ่นดินไหวระดับต่ำจนถึงปานกลาง ซึ่งสามารถยืนยันจากข้อมูลในประวัติศาสตร์และสถิติอดีตที่ผ่านมาประมาณ 700-800 ปี ประเทศไทยยังไม่เคยมีประวัติความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศ ยกเว้นกรณีเมืองโยนกนคร ในภาคเหนือ ซึ่งมีประวัติความเสียหายรุนแรงเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: บันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวในประวัติศาสตร์ไทย)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่พบว่าแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง ต่ำกว่า 6.0 แมกนิจูด อาจเกิดใกล้แหล่งชุมชนได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงและไม่ได้ออกแบบสร้างให้ต้านทานต่อแผ่นดินไหว ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลัง

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรง 6.3 แมกนิจูด ที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 (ความรุนแรง 6.3 แมกนิจูด อ้างอิงตามกรมอุตุนิยมวิทยา ส่วน USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นมีความรุนแรง 6.1 แมกนิจูด) ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 79 ปี นับจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด ที่ อ.ปัว จ.น่าน เมื่อปี 2478 ทำให้มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติใน จ.เชียงราย รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ 47 ตำบล 478 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 8,935 หลัง โดยที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง 116 หลัง ได้รับความเสียหายบางส่วน 8,463 หลัง, วัด 99 แห่ง, โบสตถ์คริสต์ 7 แห่ง, โรงเรียน 35 แห่ง, มหาวิทยาลัย 1 แห่ง, สถานพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง, โรงแรม 1 แห่ง, ถนน 5 สาย ตลิ่งพัง 1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง และคอสะพาน 5 แห่ง โดยมูลค่าความเสียหายจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้นได้มีการประเมินอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท

แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ที่มาภาพ: กรมทรัพยากรธรณี

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีระบุว่าประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนใหญ่ ๆ อยู่หลายแนวด้วยกัน สามารถจัดกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญได้ 3 แนว ตามทิศทางการวางตัวและการเคลื่อนที่ คือ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ที่ครอบคลุ่มพื้นที่ในประเทศไทยจำนวน 22 จังหวัดคือ

รอยเลื่อนที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย 1. รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่านอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร 2. รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่านอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร 3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กิโลเมตร 4. รอยเลื่อนเมย วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ พาดผ่านตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายแดนพม่า ต่อไปยังห้วยแม่ท้อ ลำน้ำปิง จังหวัดตาก ไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่จังหวัดอุทัยธานี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร 5. รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร 6. รอยเลื่อนเถิน พาดผ่านอำเภอแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในแนวโค้งในไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร 7. รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร 8. รอยเลื่อนปัว พาดผ่านพื้นที่อำเภอสันติสุข อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง และอำเภอทุ่งช้าง ของจังหวัดน่านในแนวเหนือ-ใต้ ด้วยความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร 9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร และ 10. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่านอำเภอหนองไผ่ อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กับแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร

รอยเลื่อนที่พบอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย 11. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านอำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร 12. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่านอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวโค้งเล็กน้อยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร

รอยเลื่อนที่พบอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย 13. รอยเลื่อนระนอง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบ คีรีขันธ์ และพังงา มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร 14. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านอำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทับปุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา พาดผ่านไปตามทะเลอันดามัน ระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กับอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังพบรอยเลื่อนที่ไม่มีพลังงานแล้ว หรือไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง คือ กลุ่มรอยเลื่อนแกลง ทอดตัวผ่านอำเภอพนัสนิคม, อำเภอบ้านบึง, อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี อำเภอวังจันทร์, อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีความยาวโดยประมาณ 98 กิโลเมตร และ กลุ่มรอยเลื่อนปัตตานี เป็นรอยเลื่อนที่ต่อมาจากมาเลเซีย เข้ามาในไทยที่บริเวณแม่น้ำสายบุรี จ.ปัตตานี แล้วเลยขึ้นไปทางเหนือของ จ.ปัตตานี

สำหรับบริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ. 2548 กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดทำแผนที่บริเวณความเสี่ยงแผ่นดินไหว โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากรอยเลื่อนมีพลัง ลักษณะธรณีวิทยา ความถี่ และขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้วิศวกรใช้ในการออกแบบก่อสร้างอาคารที่ต้องคำนึงถึงค่าความปลอดภัยตาม กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้าน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ที่ออกตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่บังคับให้วิศวกรต้องออกแบบอาคารที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ ในพื้นที่ที่กำหนด

แผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย พ.ศ. 2548 ได้มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยออกเป็น 5 ระดับ พบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุดของประเทศไทย คือ พื้นที่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเมย และรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ส่วนพื้นที่ที่มีความรุนแรงรองลงมาในระดับความเสี่ยงน้อยถึงปานกลาง คือ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้ ตามแนวรอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ส่วนบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จัดอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงน้อย และไม่มีความเสี่ยงที่ต้องออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหว

แผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ที่มาภาพ: กรมทรัพยากรธรณี

 

ใครว่า‘กรุงเทพฯ’ไม่เสี่ยง-ดูตัวอย่าง ‘เม็กซิโกซิตี้’ ปี 1985

ความเสียหายที่กรุง Mexico City ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล’ เมื่อปี ค.ศ.1985 ที่มาภาพ: wikimedia.org

แม้สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยในรอบ 70-80 ปีที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหวประมาณ 300 ครั้งที่สามารถรับรู้ได้ในไทย มีเพียงประมาณ 40 กว่าครั้งเท่านั้นที่ประชาชนในกรุงเทพฯสามารถรับรู้ได้ ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทย แทบจะไม่ได้สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างอาคารบ้านเรือนและสาธารณูปโภคในกรุงเทพฯเลย แต่กระนั้น ผลจาก ‘แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล’ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

ข้อมูลจากโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกบริเวณแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว จึงไม่มีความเสี่ยงจาก‘แผ่นดินไหวในระยะใกล้’ แต่กระนั้นก็ยังมีความเสี่ยงจาก ‘แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล’ เช่น ประเทศพม่า จ.กาญจนบุรี หรือในทะเลอันดามัน ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ หลายร้อยกิโลเมตร แม้โดยปกติแล้ว การสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในระยะไกลเช่นนี้จะมีระดับต่ำจนไม่เป็นอันตราย แต่กรณีของกรุงเทพฯ จัดว่าเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่า สภาพดินอ่อนในบริเวณกรุงเทพฯ สามารถขยายระดับการสั่นสะเทือนของพื้นดินได้ถึงประมาณ 3-4 เท่าของระดับปกติ ซึ่งการขยายระดับการสั่นสะเทือนของพื้นดินนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ เมือง ตัวอย่างที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ (Mexico City) ประเทศเม็กซิโก ในปี ค.ศ.1985 (พ.ศ. 2528) เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ความรุนแรงระดับ 8.1 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ถึง 350 กม. แต่ได้ส่งผลให้เกิดการพังทลายของอาคารประมาณ 500 หลัง และมีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน เนื่องจากการขยายคลื่นแผ่นดินไหวของชั้นดินอ่อนในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ได้ทำให้อาคารสิ่งก่อสร้างบ้านเรือนพังทลายลง

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรุงเทพฯ เช่น งานศึกษาของ Dr. Paul C. Thenhaus แห่ง U.S. Geological Survey ได้เคยศึกษาพื้นที่ในกรุงเทพฯ ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2529 รวมทั้งงานศึกษาร่วมกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเชียในเวลาต่อมา ชี้ว่าปรากฏการณ์ที่เคยเกิดกับกรุงเม็กซิโกซิตี้นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเกิดก็อาจส่งผลให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมากเสียหายจนถึงขึ้นพังทลายได้ แม้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์กว่า 200 ปีของกรุงเทพฯ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่มีความถี่ในการเกิดเพียงประมาณ 500-2,500 ปีต่อครั้ง ดังนั้นโอกาสที่จะได้เจอกับปรากฏการณ์เช่นนี้ในช่วงชีวิตมนุษย์ (ประมาณ 75 ปี) จึงมีเพียง 3% ถึง 15% อย่างไรก็ตาม ก็ควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แผ่นดินไหวในไทย ‘บ้านไม้’ หรือ ‘บ้านปูน’ เสียหายมากกว่ากัน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 พบบ้านที่ก่อสร้างด้วยไม้ หรือครึ่งไม้ครึ่งปูน ไม่มีความเสียหายที่รุนแรง แต่สำหรับบ้านปูนนั้น กลับพบความเสียหายรุนแรง ซึ่งหากออกแบบและก่อสร้างบ้านปูนอย่างถูกต้อง บ้านปูนจะต้านแผ่นดินไหวได้ไม่ด้อยกว่าบ้านไม้

ในบทความ 'บทเรียนวิศวกรรมโครงสร้างจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายและเนปาล: บ้านไม้บ้านปูน บ้านแบบไหนปลอดภัยจากแผ่นดินไหวกว่ากัน' โดย ศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศ รองเลขาธิการสภาวิศวกร อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่เผยแพร่ใน ศูนย์ข้อมูลทางด้านแผ่นดินไหวแห่งประเทศไทย (TEIC) ระบุว่าในเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 6.3 ที่ จ. เชียงราย (เมื่อปี 2557) นั้น พบว่าโครงสร้างที่ก่อสร้างในพื้นที่มี 3 แบบใหญ่ ๆ คือ 1. บ้านไม้ทั้งหลัง 2. บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน โดยด้านล่างเป็นเสาปูนและด้านบนก่อสร้างด้วยไม้ และ 3. บ้านปูนทั้งหลัง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บ้านที่ก่อสร้างด้วยไม้ หรือ ครึ่งไม้ครึ่งปูน ไม่พบความเสียหายที่รุนแรง แต่สำหรับบ้านปูนนั้นกลับพบความเสียหายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านปูนที่ชั้นล่างเปิดโล่งทั้ง ๆ ที่บ้านทั้ง 3 แบบนั้นก็ไม่มีวิศวกรมาออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างเหมือน ๆ กัน

สาเหตุที่ทำให้บ้านปูนเสียหายกว่าบ้านไม้นั้นมาจาก น้ำหนักของตัวบ้าน บ้านปูนมีน้ำหนักมากกว่าบ้านไม้มาก แรงแผ่นดินไหวที่ผลักตัวบ้านจึงมีค่ามากกว่า ประกอบกับเสาบ้านปูนก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่นเสาเล็กเกินไป (ไม่ถึง 20 ซม.) และเสริมเหล็กปลอกน้อย จึงทำให้เสาปูนแตกหักได้ง่ายและเสียหายอย่างรุนแรง แต่สำหรับบ้านไม้หรือครึ่งไม้ครึ่งปูน ตัวบ้านมีน้ำหนักที่เบากว่า แรงแผ่นดินไหวที่กระทำจึงน้อยกว่า อีกทั้งไม้เป็นวัสดุที่ยืดหยุ่นและไม่แตกหักเช่นคอนกรีต จึงทนทานต่อแผ่นดินไหวได้ดีกว่า ดังนั้นแม้การออกแบบและก่อสร้างจะไม่มีวิศวกรมาดูแลเหมือนกัน แต่แรงแผ่นดินไหวที่กระทำต่อบ้านไม้นั้นน้อยกว่าบ้านปูนมาก จึงทำให้บ้านไม้ไม่เสียหายรุนแรง

อย่างไรก็ตาม บ้านปูนก็สามารถทำให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกวิธี เน้นที่การทำให้เสาบ้านปูนแข็งแรงและเหนียวโดย 1. เสาบ้านปูนต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 20-25 ซม. 2. ต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. มีระยะเรียงไม่เกิน 7.5 ซม. 3. เหล็กแกนต้องมีไม่น้อยกว่า 4 เส้นขนาดไม่เล็กกว่า 12 ถึง 16 มม. และ 4. ต้องหลีกเลี่ยงเสาสั้น หากออกแบบและก่อสร้างบ้านปูนอย่างถูกต้องแล้ว บ้านปูนย่อมต้านแผ่นดินไหวได้ไม่ด้อยกว่าบ้านไม้

แม้ว่าบ้านไม้จะดูเสี่ยงน้อยกว่าบ้านปูนในเรื่องแผ่นดินไหว แต่ก็ใช่ว่าบ้านไม้จะปลอดภัยกว่าบ้านปูนทุก ๆ ด้าน เมื่อเกิดลมพายุ หรือน้ำท่วม บ้านไม้มีโอกาสที่จะเสียหายหรือพังทลายได้ง่ายกว่าบ้านปูน เนื่องจากน้ำหนักของบ้านที่เบากว่า จึงทำให้ลมพายุหรือน้ำพัดพาไปได้ง่ายกว่าบ้านปูน อีกทั้งบ้านไม้ยังเกิดไฟไหม้ได้ง่ายกว่าบ้านปูนอีกด้วย สรุปคือบ้านไม้กับบ้านปูนมีความเสี่ยงกันคนละด้าน หลักสำคัญอยู่ที่การออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกวิธี จึงจะทำให้บ้านไม่ว่าจะทำจากไม้หรือปูน มีความปลอดภัยจากภัยพิบัติทุกรูปแบบ

 

อาคารในไทย รับมือไหวไหม ?

ประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันภัยพิบัติ มักจะมีกฎหมายควบคุมการออกแบบก่อสร้างอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวที่รุนแรง อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีกฎหมายบังคับมาอย่างยาวนาน และมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบต้านแผ่นดินไหวหลัก ๆ 2 ครั้ง คือ ในปี ค.ศ.1981 (พ.ศ. 2524) และปี ค.ศ.1995 (พ.ศ. 2538) ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ (Kobe) นอกจากมีกฎหมายแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีมาตรการให้เงินสนับสนุนบางส่วนแก่เจ้าของอาคารในการปรับปรุงอาคารเก่าให้ได้มาตรฐานอีกด้วย สำหรับประเทศไทยเพิ่งเริ่มเห็นปัญหานี้ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มากำหนดให้มีการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือและ จ.กาญจนบุรี ซึ่งในเวลาต่อมากฎกระทรวงดังกล่าวได้ถูกแทนที่โดย กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้าน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ซึ่งปรับปรุงขยายพื้นที่ควบคุมให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีมาตรฐานการออกแบบรองรับแผ่นดินไหวที่สำคัญ คือ ‘มาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ.1301-54) พ.ศ. 2554’ และ ‘มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ.1302) พ.ศ. 2552’

ข้อมูลจาก สำนักงานการโยธา กรุงเทพมหานคร ณ ปี 2558 พบอาคารสูงในกรุงเทพฯ มีอาคาร 1-3 ชั้น จำนวน 1,993,207 หลัง อาคาร 4-7 ชั้น จำนวน 35,851 หลัง และอาคาร 20 ชั้นขึ้นไป จำนวน 736 หลัง และ โครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ระยะที่1) ที่ให้ทุนวิจัยโดย สกว. เคยทำการตรวจวัดสภาพการสั่นไหวโดยธรรมชาติ (Ambient Vibration) ของอาคารสูงในเขต กทม. จำนวน 50 หลัง ที่มีความสูงตั้งแต่ 20 ถึง 210 เมตร (มีจำนวน 5 ถึง 54 ชั้น) พบว่ามีกลุ่มอาคารที่มีโอกาสเกิดการโยกไหวตัวรุนแรง หากมีการสั่นสะเทือนของ พื้นดิน สอดคล้องกับข้อมูลจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ที่ระบุว่าแม้ว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแต่หากเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนบริเวณ จ.กาญจนบุรี ก็จะได้รับแรงสั่นสะเทือนไปด้วย โดยเฉพาะอาคารที่มีความสูง 20 ชั้น จะเป็นตึกที่มี ความเสี่ยงมากที่สุด เพราะแรงสั่นสะเทือนธรรมชาติที่มีการออกแบบไว้โดยวิศวกรจะพ้องกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรโซแนนท์ (Resonance) ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะคลื่นของแรงสั่นสะเทือนจะเกิดความถี่เป็นจำนวนมาก และเมื่อมาถึง กรุงเทพฯ ความถี่จะขยายมากขึ้นเพราะเป็นพื้นที่ชั้นดินอ่อน เมื่อมาเจอกับถี่ธรรมชาติของตึกที่มีการออกแบบไว้ก็เกิดแรงสั่นพ้องที่รุนแรงทำให้ตึกขนาด 20 ชั้นอาจจะเกิดความเสียหายมากกว่าตึกที่สูง 50 ชั้นขึ้นไป เพราะตึกที่มีขนาดสูงจะถูกออกแบบให้แรงความถี่ธรรมชาติสั่นช้า เมื่อมาเจอกับความถี่ของแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนจะลดลง

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
จับตา: อาคารเรียนในพื้นที่เสี่ยง 202 แห่ง ไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหว

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: P K (CC BY 2.0)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: