พบ ‘นักมวยเด็ก’ ขึ้นทะเบียนนับหมื่น ผลวิจัยชี้ 'ไอคิวต่ำ-สมองกระเทือน'

ทีมข่าว TCIJ : 5 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 9224 ครั้ง

แม้จะมีการสนับสนุน 'มวยไทย' ให้แก่เยาวชนทั้งด้านความเป็นเลิศทางกีฬา-สืบสานวัฒนธรรม และวงการมวยไทยก็มีนักมวยเด็กขึ้นทะเบียนไว้นับหมื่นคน แต่ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาจมีถึงแสนคน พบด้านมืดทั้งขัด 'พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน-คุ้มครองเด็ก' นักมวยไอคิวต่ำกว่าคนทั่วไปเสี่ยงกระทบกระเทือนทางสมอง เตรียมเสนอกฎหมายห้ามเด็กชกมวยเป็นอาชีพ ด้าน ‘สมาคมมวย’ ชี้เด็กเต็มใจชกมวยหารายได้ช่วยครอบครัว หวั่นไม่มีนักมวยส่งแข่งขันระดับนานาชาติ ภาพประกอบโดย: Ekkapop Sittiwantana

พบปี 2553-2560 เด็กขึ้นทะเบียนเป็น นักมวยไทยกว่า 10,373 คน

กีฬา 'มวยไทย' มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และปัจจุบันกีฬาชนิดนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างแพร่หลาย มีชาวต่างชาติหันมาชกและฝึกฝนมวยไทยมากขึ้น แต่ถ้ามองในอีกมุมถึง ‘ด้านมืด’ ของกีฬาชนิดนี้ นอกเหนือจากการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการพนันแล้วก็ยังพบว่าการฝึกฝนและอนุญาตให้เด็กชกมวยไทยนั้น อาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเองทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในระยะยาว

ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 จากข้อมูล ณ วันที่ 6 มี.ค. 2560 พบว่าในแต่ละปีมีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นทะเบียนเป็นนักมวยจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2553-2560 มีนักมวยไทยเด็กขึ้นทะเบียนไว้กว่า 10,373 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ห่างจากนักมวยผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 15 ปี ที่ขึ้นทะเบียนไว้ 17,508 คน ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวเลขอย่างเป็นทางการเท่านั้น เชื่อว่าในความเป็นจริงแล้วนักมวยไทยเด็กน่าจะมีมากกว่านี้ โดยมีการประมาณการเมื่อปี 2550 ว่าน่าจะมีถึง 100,000 คน

จากผลการวิจัย Child Watch Project โดยสถาบันรามจิตติ พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ชกมวยไทยบนเวทีอาชีพตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานศึกษาและสถานที่ราชการจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีถิ่นฐานอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณเกือบ 8,000 คน ซึ่งการขึ้นชกแต่ละครั้งเด็กจะได้รับเงิน 50-600 บาท และต้องหักให้ค่ายมวยครึ่งหนึ่ง โดยสาเหตุหลักที่เด็กตัดสินใจชกมวย เนื่องจากต้องการหาเงินส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัว รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ทั้งนี้ นักมวยเด็กในไทยเริ่มฝึกซ้อมและแข่งขันชกมวยไทยในช่วงอายุที่น้อยลงอย่างน่าใจหายคือเฉลี่ยที่ 2-3 ปี และคาดว่าแนวโน้มนี้จะคงอยู่ไปเรื่อย ๆ หากไม่มีกฎหมายบังคับเพื่อปกป้องเด็กอย่างจริงจัง เนื่องจากกีฬามวยไทยเป็นกีฬาที่หล่อเลี้ยงด้วยอุตสาหกรรมการพนัน รวมทั้งมวยไทยยังเป็นพื้นฐานกีฬาที่สามารถต่อยอดไปสู่กีฬาต่อสู้อย่างมวยสากลและศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ โดยกีฬาเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ผลวิจัยชี้นักมวยไอคิวต่ำกว่าคนทั่วไป เสี่ยงกระทบกระเทือนทางสมอง

ผลการวิจัยเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย IQ ของนักมวยเด็กและเด็กทั่วไป พบว่า IQ เฉลี่ยนักมวยเด็กต่ำกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งเสี่ยงอันตรายจากการกระทบกระเทือนทางสมอง ที่มาภาพประกอบ: Realframe

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้อ้างงานวิจัยของโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (AIMC) มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่านักมวยเด็กที่เริ่มฝึกซ้อมและขึ้นชกมวยไทย มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 ปีเท่านั้น ส่วนในระดับนานาชาติกลับพบว่าไม่มีนักมวยสมัครเล่นที่อายุต่ำกว่า 10 ปีเลย  ในการศึกษาชิ้นนี้ ได้นำนักมวยเด็กและเด็กทั่วไปที่ถูกคัดกรองแล้วมาสแกนสมองด้วยเครื่อง MRI เพื่อทำการตรวจเปรียบเทียบทั้งนักมวยเด็ก (323 คน) และเด็กทั่วไป (253 คน) ที่มีอายุเท่า ๆ กัน โดยพิจารณาเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กที่มาจากสภาพแวดล้อมด้านการเป็นอยู่ เศรษฐานะทางครอบครัว และการศึกษาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่ออ่านค่าต่าง ๆ ที่ได้จากการสแกนสมองและตรวจวัดระดับความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ผลการสแกน MRI พบว่าปริมาณธาตุเหล็กสะสมจากการเคยมีเลือดออกในสมองโดยเฉพาะบริเวณเนื้อสมองที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายของนักมวยเด็ก มีปริมาณมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งระดับของธาตุเหล็กสะสมในปริมาณที่สูงจะส่งผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อสมองและทำให้สมองฝ่อ นอกจากนี้ยังวัดความเสียหายของใยประสาทในสมอง การวัดความสามารถในการซึมของน้ำในสมอง การวัดการทำงานของสมองด้านความจำ พบว่าผลการตอบสนองด้านความจำของนักมวยเด็กน้อยกว่าเด็กทั่วไป และมีแนวโน้มอาจนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อม เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย IQ ของนักมวยเด็กและเด็กทั่วไปก็พบว่า IQ เฉลี่ยนักมวยเด็กต่ำกว่าเด็กทั่วไป ทั้งนี้ตามการเจริญเติบโตของสมองมนุษย์โดยทั่วไปการทำงานของอวัยวะสมองพัฒนาด้านการควบคุมกล้ามเนื้อและการทรงตัวการเรียนรู้จะเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก หากเด็กเริ่มชกมวยตั้งแต่เด็กย่อมทำให้การทำงานของอวัยวะสมองพัฒนาด้านสติปัญญา การควบคุมกล้ามเนื้อและการทรงตัว การเรียนรู้คิดวิเคราะห์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและสติปัญญาที่อาจลดต่ำลง

งานวิจัยฯ ยังระบุว่าผลกระทบสำคัญที่เกิดจากการชกมวยมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.ผลกระทบที่เกิดจากการบาดเจ็บทางสมอง เนื่องจากถูกชกที่ศีรษะโดยตรง ทำให้ศีรษะและสมองถูกสะบัดและหมุนด้วยแรงเหวี่ยงที่รวดเร็วอย่างกะทันหัน ส่งผลให้สร้างบาดแผลแก่เนื้อสมองโดยตรงและทำให้มีเลือดออกในเนื้อสมอง สมองช้ำและเกิดการยืดหรือขาดของเส้นประสาท 2.ผลกระทบที่เกิดจากการบาดเจ็บภายในของสมองจากแรงปะทะที่ศีรษะ เนื่องจากถูกชกข้างศีรษะส่งผลให้สมองกระแทกกับกะโหลกและกระเด้งกลับไปชนผนังกะโหลกอีกด้าน ส่งผลให้เกิดการฉีกขาดของเซลล์สมองกับใยประสาท ทำให้ศักยภาพในการส่งสัญญาณของระบบประสาทติดขัด ประกอบกับอาจมีเลือดออกในสมองตรงบริเวณที่ฉีกขาด และหากได้รับการกระทบกระเทือนในระยะเวลายาวจนในที่สุดเซลล์สมองจะตายและฝ่อลง ซึ่งหากเซลล์สมองตายแล้วไม่สามารถสร้างใหม่มาแทนได้จึงส่งผลระยะยาวต่อระบบประสาท (อ่านเพิ่มเติม: ผลงานวิจัยสมองของนักมวยเด็ก)

ขัด '...คุ้มครองเด็ก-คุ้มครองแรงงาน'

เมื่อพิจารณาประเด็นกฎหมาย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการนำ พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ.2542 มาบังคับใช้ควบคุมกีฬามวยเพื่อความปลอดภัยและการจัดสวัสดิการแก่นักมวยให้มีความเหมาะสม แต่กลับพบว่าได้ ‘เปิดช่อง’ ให้เด็กสามารถชกมวยเป็นอาชีพได้ เช่น มาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ.2542 “กำหนดให้นักมวยที่จะจดทะเบียนได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 บริบูรณ์และผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้วอาจทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับการเข้าแข่งขันกีฬามวยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก” มาตรา 32 วรรคสอง “กำหนดให้การจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นนักมวยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน” มาตรา 16 “กำหนดให้คณะกรรมการจัดให้มีระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวยเพื่อใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬามวยโดยคำนึงถึงอายุ เพศ ความปลอดภัยของนักมวย และจารีตประเพณีในการแข่งขันกีฬามวย” เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อกฎหมายที่ยกตัวอย่างมานี้ไม่มีข้อกำหนดว่าเด็กอายุกี่ขวบห้ามชกมวยอาชีพ จึงเป็นช่องโหว่ในขณะที่การดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ครอบคลุมชัดเจน

นอกจากนี้การชกมวยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในลักษณะเป็นการชกมวยอาชีพก็ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งระบุ “ให้ผู้ปกครองดูแลมิให้เด็กทำงานหรือประกอบกิจการเพื่อหารายได้อันจะเป็นอันตรายต่อเด็ก” และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่ง “กำหนดมิให้มีการใช้แรงงานในเด็กอายุต่ำกว่า 15  ปี” นอกจากนี้การชกมวยในเด็กของประเทศไทยถูกนานาชาติมองว่าเป็นการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้เคยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ให้ประเทศไทยตกอยู่ใน Tier 3 มาแล้วอีกด้วย

ดัน พ... ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน

คณะกรรมาธิการการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอ รายงานผลการพิจารณาศึกษา 'สภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเล่นกีฬาในกลุ่มเด็ก กรณีศึกษาการเล่นกีฬามวยในกลุ่มเด็ก' ต่อที่ประชุม สนช. เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยในรายงานผลการพิจารณาศึกษาฉบับนี้ได้เสนอให้มีการสนับสนุนให้เด็กทุกวัยต้องได้รับการสอนมวยไทยในฐานะที่เป็นศิลปะประจำชาติ และได้รับการฝึกในรูปแบบกีฬาและเพื่อการออกกำลังกาย ตลอดจนการส่งเสริมกีฬามวยไทยสำหรับเด็กในรูปแบบของการจัดการแข่งขันเพื่อการพัฒนาฝีมือ โดยต้องปรับเปลี่ยนกฎ กติกาใหม่ให้มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กในวัยต่าง ๆ เช่น การกำหนดกฎ กติกาสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี โดยไม่มีการแข่งขันแบบปะทะแต่ให้ดำเนินการแข่งขัน โดยเป็นกีฬาแบบไม่ปะทะ (noncontact sport) เช่น การให้คะแนนโดยการรำมวย แสดงท่าหลากหลาย และเตะต่อยเป้า ส่วนในเด็กอายุระหว่าง 9-12 ปี ควรกำหนดกฎ กติกาให้สามารถแข่งแบบปะทะได้ โดยไม่มุ่งเป้า ศีรษะ และต้องใส่เครื่องป้องกันศีรษะเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมทั้งการใส่เครื่องป้องกันลำตัว เพื่อลดการบาดเจ็บของลำตัว การให้คะแนนต้องให้เมื่อการสัมผัสเป้าหมายไม่ใช่มุ่งเน้นการกระทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ในทางตรงกันข้ามการการกระทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงโดยตั้งใจต้องถูกลดทอนคะแนนหรือทำโทษผู้แข่งขันโดยวิธีต่าง ๆ ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป อาจกำหนดกฎ กติกาให้แข่งแบบปะทะได้แบบไม่จำกัดศีรษะ แต่ยังต้องใส่เครื่องป้องกันศีรษะ รวมทั้งการใส่เครื่องป้องกันลำตัว การให้คะแนนต้องให้เมื่อการสัมผัสเป้าหมายไม่ใช่มุ่งเน้นการกระทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ในทางตรงกันข้ามการการกระทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงโดยตั้งใจต้องถูกลดทอนคะแนนหรือทำโทษผู้แข่งขันโดยวิธีต่าง ๆ นอกจากนี้ ควรต้องกำหนดจำนวนยกเวลาแต่ละยก ระยะเวลาห่างในการชกแต่ละครั้งและช่วงระยะเวลาพักเมื่อถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะบาดเจ็บสมองเล็กน้อยเกิดขึ้น โดยต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมตามแต่ละช่วงอายุ เป็นต้น

ความเห็นจากผู้ใหญ่วงการมวย

มุมมองของคนในวงการมวยต่อการชกมวยเด็กในประเทศไทยยังคงมีหลากหลาย และพบว่าในบางประเด็นก็ขัดกับการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ที่มาภาพประกอบ: Realframe

ในรายงานผลการพิจารณาศึกษา 'สภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเล่นกีฬาในกลุ่มเด็ก กรณีศึกษาการเล่นกีฬามวยในกลุ่มเด็ก' ของ สนช. ได้บันทึกการให้ข้อมูลต่อการจัดทำรายงานฯ ของคนในวงการมวยที่น่าสนไว้ดังนี้

ตัวแทนสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมป์ ให้ความเห็นไว้ว่าในปัจจุบันยังมีบุคคลในวงการมวยจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียน บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา  ส่วนกรณีการจ่ายเงินรางวัลที่เป็นค่าตอบแทนแก่นักมวยในการแข่งขันแต่ละครั้ง พบว่าการแบ่งเงินรางวัลที่นักมวยให้กับหัวหน้าค่ายมวยและผู้จัดการนักมวย ที่มีการระบุว่าอาจจะเข้าข่ายฐานความผิดการใช้แรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  ตลอดจนการชกมวยที่มีการตัดสินแพ้ชนะอันจะก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากการชกมวยเด็กหรือไม่อย่างไรนั้น ตัวแทนสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะทำงานนี้จะต้องประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายทั้งที่เกี่ยวข้องกับวงการมวยทั้งในไทยและระดับสากล กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ (อนึ่งสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลเกี่ยวกับการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นทั้งระบบตั้งแต่ ยุวชน เยาวชน อายุระหว่าง 10-17 ปี)

ตัวแทนสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ระบุว่าเด็กที่เข้ามาสู่วงการมวยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เนื่องด้วยเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวได้ และส่วนใหญ่เด็กมีความเต็มใจจะเข้ามาสู่วงการชกมวย ดังนั้นหากกำหนดมิให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ชกมวย ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ครอบครัวของเด็กและค่ายมวย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ปกครองจะส่งเด็กให้ค่ายมวยต้นสังกัดฝึกซ้อมตั้งแต่อายุยังน้อย จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้กำหนดให้หัวหน้าค่ายซึ่งเป็นต้นสังกัดต้องจัดการค่ายมวยให้มีมาตรฐานและจัดสวัสดิการให้แก่นักมวย ผู้ฝึกสอน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในค่ายมวย เหล่านี้ทำให้ผู้ปกครองมอบความไว้วางใจให้กับค่ายมวยในระดับหนึ่ง ด้านปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ไปจดทะเบียนเป็นนักมวยอาชีพมักจะถูกจำกัดสิทธิมิให้เข้าร่วมโครงการช้างเผือกของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงทำให้นักมวยเด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้ไปจดทะเบียน ในเรื่องของสุขภาพนั้นตัวแทนสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ระบุว่าที่ผ่านมายังไม่พบรายงานว่าเด็กที่ชกมวยแล้วได้รับผลกระทบหรืออาการบาดเจ็บทางสมองแต่อย่างใด

ตัวแทนสมาคมมวยสากลแห่งประเทศไทย ระบุว่าสมาคมมวยแห่งประเทศไทยดำเนินการโดยยึดถือกฎระเบียบและกติกาการแข่งขันของสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (AIBA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่ผ่านมาไม่พบปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ส่วนข้อเสนอที่ห้ามมิให้มีการนำเด็กอายุต่ำว่า 15 ปี มาชกมวยนั้น มีความเห็นว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมาคมมวย โดยเฉพาะในเรื่องการส่งนักมวยเข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเยาวชน (Youth Olympic Games)

 

ในด้านการแก้กฎระเบียบข้อบังคับคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ.2542 ให้มีความสอดคล้องกับแนวทางในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 , พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้มีการชกมวยเด็กเป็นลักษณะมวยอาชีพอีกต่อไป ทั้งนี้ เพื่อหยุดยั้งวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิเด็ก สนับสนุนให้การชกมวยเด็กต้องเป็นเพียง “วัฒนธรรม และกีฬาสมัครเล่นที่มีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ” และต้อง “ไม่เป็นอาชีพ ไม่ทดแทนคุณ ไม่ทารุณกรรม และไม่เป็นการพนัน” รวมทั้งยังมีการเสนอให้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน พ.ศ. .... (ที่มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว) โดยมีสาระสำคัญคือ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน และเป็นแนวทางที่จะสามารถช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนจากการกีฬาหรือนันทนาการได้ ที่สำคัญจะช่วยให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการสอน การฝึกซ้อมการเล่น หรือการแข่งขันกีฬาและนันทนาการของเด็กและเยาวชน รวมทั้งมาตรฐานในอุปกรณ์การกีฬาและเครื่องเล่นนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: เปรียบเทียบข้อบังคับความปลอดภัยชกมวยเด็ก ‘แคนาดา-ออสเตรเลีย-ไทย’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: