Wonder Woman: มนุษย์ สงคราม และเสียงกระซิบที่ผิดพลาดของแอรีส

ธนเวศม์ สัญญานุจิต 6 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 5182 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

Wonder Woman ภาพยนตร์ ซูเปอร์ฮีโร่หญิงของค่าย DC Comics และ Warner Brothers โดยเล่าเรื่องของ หญิงสาวนักรบชาวอเมซอน ผู้เดินทางเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ “มหาสงคราม” (The Great War) เพราะเธอเชื่อว่า การเกิดขึ้นของสงครามนี้เป็นฝีมือของ แอรีส (Ares) เทพสงครามตามตำนานปรัมปราแห่งกรีก

ไดอาน่าได้เดินทางถึงแนวรบและเปิดตัวในสงครามด้วยการบุกฝ่า “No man's land” ตามลำพังเพื่อเข้าช่วยเหลือพลเรือน ในบริบทของสงครามนั้น No man's land คือ “ดินแดนที่ไม่มีทหารฝ่ายใดควบคุมอยู่” เป็น "แดนรกร้าง" น่าจะเหมาะกว่า เพราะเป็นพื้นที่กึ่งกลางระหว่างสนามเพลาะของกองทัพสองฝ่าย ที่ไม่มีใครผ่านได้ เพราะต่างฝ่ายต่างจดๆ จ้องๆ กัน ด้วยรังปืนกล ปืนครก ปืนใหญ่ และพลไรเฟิลของสองฝ่าย แดนรกร้างนี้ บางครั้งทอดยาวหลายร้อยเมตร บางสมรภูมิเป็นเพียงพื้นที่ไม่กี่สิบเมตรที่ต่างฝ่ายต่างตรึงกำลังใส่กัน

อันเนื่องมาจากธรรมชาติของสงครามในเวลานั้น วิทยาการอาวุธล้ำหน้า แต่ยุทธวิธีน้อย เพราะเป็นยุคบุกเบิกของสงครามสมัยใหม่ แนวรบด้านตะวันตกของมหาสงครามจึงออกมาเป็นรูปแบบ “สงครามสนามเพลาะ” (Trench Warfare) ต่างฝ่ายต่างขุดสนามเพลาะมาประจันหน้ากัน แต่รุกคืบได้น้อยมาก การบุก เท่ากับส่งคนไปตายมหาศาล เพราะการต้องวิ่งฝ่าแดนรกร้างระหว่างแนวสนามเพลาะเท่ากับฆ่าตัวตาย

แม้ในภาพยนตร์ Wonder Woman จะนำเสนอสภาพของสงครามหรือสภาพภายในสนามเพลาะให้เบาบางลงก็ตาม อาจเพราะเรตติ้งและแนวทางของสตูดิโอที่อยากเข้าถึงผู้ชมเด็กมากขึ้น ทำให้ภาพของสงครามจึงดูไม่ค่อยโหดร้าย ซึ่งตามประวัติศาสตร์ สภาพความเป็นอยู่ภายในสนามเพลาะ ไม่ต่างอะไรกับฝันร้ายหรือนรกบนดิน

เมื่อถึงฤดูหนาว อุณหภูมิอาจต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง มีทหารหนาวตายจำนวนมาก สุขอนามัยไม่ดี การระบาดของโรคเกิดขึ้นง่ายมาก เพราะในช่วงมหาสงคราม วิทยาการด้านการแพทย์ไม่ดีนัก การบาดเจ็บแขนขาอาจตามมาด้วยการติดเชื้อจนเสียชีวิตเพราะยังไม่มีการค้นพบยาฆ่าเชื้อในทางการแพทย์ รวมถึงการโงหัวขึ้นไปสังเกตการณ์แดนรกร้างข้างบน ก็อาจตกเป็นเป้าซ้อมมือให้กับข้าศึก ช่วงสงครามถึงขนาดมีการประดิษฐ์กล้องสังเกตการณ์แบบคล้ายใช้ในเรือดำน้ำขึ้นมาเพื่อให้สามารถสังเกตการณ์สภาพบนดินได้โดยไม่ต้องโผล่หัวขึ้นไปเป็นเป้า เพราะต่างฝ่ายต่างส่องปืนใส่กันข้ามวันข้ามคืน บางสมรภูมิก็นานนับปี แต่ไม่มีการรุกคืบเข้าใกล้กัน

รวมถึงศพของทหารจำนวนมาก ต้องตายอย่างไม่มีการกลบฝัง พวกเขาต้องนอนทอดกายบนแดนรกร้างและเน่าเปื่อยกันอยู่อย่างนั้น เป็นที่น่าอเนจอนาถใจ บางสมรภูมิไม่มีการเก็บกู้ศพจนสิ้นสงคราม ซึ่งแน่นอนว่าเน่าเปื่อยจนไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร

แม้มีนายทหารบางคนที่รอดตายในการรบ ก็ไม่มีแพทย์สนาม มีเพียง "พลแบกเปล" (stretcher-bearer) หรือทหารผู้ติดตรากางเขนแดงเพื่อแสดงตน ต้องเสี่ยงเวลาสองฝ่ายประกาศสงบศึกชั่วคราว เพื่อขึ้นจากสนามเพลาะไปรับตัวสหายศึกลงมาในสนามเพลาะเพื่อรับการรักษา แม้จะมีความพยายามบอกกล่าวกันว่าอย่ายิง “พลแบกเปล” ด้วยเหตุผลเชิงมนุษยธรรม แต่ก็มีการละเมิดหลายต่อหลายครั้ง

วกกลับมาสู่โลกภาพยนตร์ สาวน้อยไดอาน่า กับภารกิจสังหารเทพสงคราม เพื่อยุติมหาสงคราม จนที่สุดแล้ว เธอกลับพบความจริงที่ว่า ไม่ใช่เทพสงครามหรอก ที่ทำให้มนุษย์หันมาห้ำหั่นกัน สิ่งที่เทพสงครามทำ คือการ “กระซิบบอก” และ มอบศาตราทรงอานุภาพให้แก่มนุษย์เท่านั้น แต่ผู้ก่อสงครามฆ่าฟันกันเอง คือ “มนุษย์” เองนี่แหละ

สิ่งที่แอรีสต้องการ คือการแสดงให้เหล่าเทพเจ้ารวมถึงไดอาน่าเห็นว่า ความจริงแล้วมนุษย์นั้นน่าเกลียด หวาดระแวง และชอบใช้ความรุนแรง สมควรแก่การทำลายตนเองจนพินาศสิ้น

ซึ่งธรรมชาติแห่งการเมืองโลก รวมถึง สภาพของโลกก่อนการเกิดมหาสงคราม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราเป็นเช่นนั้น เราจะไว้ใจให้มนุษย์อีกคน ถืออาวุธที่มีศักยภาพสามารถทำลายล้างเราได้ มายืนอยู่ข้างกายเราโดยที่เรามีเพียงมือเปล่า หรือเปล่า? ความหวาดระแวงนี้คือพื้นฐานแห่งมนุษย์ การเมืองโลกในสมัยนั้นจึงเริ่มมีการแข่งขันกันสั่งสมอาวุธ เพื่อแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยให้ชาติตน

ในยุคสมัยที่ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กลไกในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศยังไม่ถูกพัฒนา โลกอยู่ในยุคแห่งอนาธิปไตย ที่ทุกชาติต่างต้องการจะทำทุกสิ่งตามใจชอบและทำทุกอย่างเพื่อรัฐของตน แบ่งพวกกันและมีความขัดแย้งสั่งสม จนการลอบปลงพระชนม์เจ้าชายฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี กลายเป็นชนวนแห่งการเปิดฉากมหาสงคราม มนุษย์อาจเป็นอย่างที่แอรีสว่าไว้ พวกเรากระหายสงคราม หวาดระแวงและนิยมความรุนแรง

หากตัดเรื่องการแก้ปมแบบเชยสะบัดในภาพยนตร์อย่าง การใช้ความรัก เข้าทำลายเทพสงคราม และคลายปมทั้งหมดแบบง่ายๆ เราจะพบว่า มันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว

แม้เป็นเทพเจ้าอย่างไดอาน่า ก็ไม่สามารถยุติสงครามได้เพียงลำพัง หากขาดวีรกรรมของ “สตีฟ เทรเวอร์” การสังหารเทพแห่งสงครามจะไร้ความหมาย หากมหาอาวุธทำลายล้างถูกนำไปทิ้งที่กรุงลอนดอน และสนธิสัญญาสันติภาพไม่ถูกลงนาม การมีอยู่ของตัวละครเทรเวอร์ นอกจากจะนำพาไดอาน่าเข้าสู่โลกของมนุษย์ และเป็นคนที่สอนไดอาน่าได้รักมนุษย์ คือการเป็นตัวแทนแห่งคุณงามความดีของมนุษย์ที่ปรากฏขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวในห้วงขณะแห่งความทารุณอย่างสงคราม

การเล่นฟุตบอลระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงคริสต์มาส ในพื้นที่ ‘no man’s land’ ที่มาภาพ: Indymedia

ดั่งเรื่องเล่าที่ตกทอดต่อกันมา ในช่วงมหาสงคราม การสงบศึกชั่วคราวในปี 1914 ช่วงวันคริสต์มาส (Christmas Truce 1914) มีเรื่องเล่าว่า แนวรบด้านตะวันตก เกิดเหตุประหลาดขึ้นช่วงสงบศึก โดยทหารของจักรวรรดิเยอรมนี กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส ร่วมร้องเพลงคริสต์มาสข้ามสนามเพลาะกัน จนพวกเขาขึ้นจากสนามเพลาะ เดินผ่านแดนรกร้างเพื่อพูดคุย แลกของขวัญซึ่งกันและกัน ตามประวัติศาสตร์มีภาพถ่ายที่พวกเขา "ร่วมเล่นฟุตบอล" กันด้วย และมีการตกลงกันที่จะเปิดช่วงให้ต่างฝ่ายต่างเก็บกู้ร่างของสหายร่วมรบกลับเข้าสนามเพลาะ

บางทีมนุษย์อาจไม่ได้กระหายสงครามอย่างที่แอรีสว่าไว้เสียทุกคน

 

ที่มาภาพประกอบ: Wired

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: