หลังการลงพื้นที่ของโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 25 ก.พ. สอบข้อเท็จจริงญาติผู้ประสบอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร เมื่อวันที่ 2 ม.ค.60 กรณี รถตู้โดยสารประจำทาง สาย กรุงเทพ – จันทบุรี พุ่งข้ามเลนชนรถกระบะที่วิ่งสวนทางมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 25 ศพ บนถนนสาย 344 ช่วงอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2560 นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ โครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่าจากการสอบถามผู้เสียหายที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่า ผู้เสียหายแต่ละรายได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจครบตามสิทธิความคุ้มครองแล้ว และได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีอีกส่วนหนึ่งเพียงเท่านั้น
กรณีนี้เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่มีความรุนแรงและมีความสูญเสียจำนวนมาก หลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานพยายามเข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆทั้งการให้ข้อมูลและการชดเชยความเสียหาย แต่ขณะนี้ผ่านมาจะครบ 2 เดือนแล้ว ก็ยังพบปัญหาการที่ผู้เสียหายแต่ละรายต้องพยายามหาข้อมูลด้วยตนเองในหลายด้านเพื่อจะทำเอกสารเพียงลำพังในการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“แม้ผู้เสียหายทั้งหมดจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าการเยียวยาจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังให้ข้อมูลกับผู้เสียหายตั้งแต่หลังเกิดเหตุที่ไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ผู้ประสบเหตุบางส่วนต้องเสียเวลาในการรวบรวมและจัดทำเอกสารเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายใหม่” นายคงศักดิ์กล่าว
พร้อมกล่าวถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือต่อไปนั้น ให้ผู้เสียหายทุกรายในการจัดทำข้อมูลส่ง เอกสาร ต่างๆ เพื่อประกอบการเรียกร้องค่าเสียหายมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องสิทธิในการชดเชยความเสียหายจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตามกรณีการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะนั้นผู้บริโภคสามารถเรียกร้องได้ 3 ช่องทางนั้นก็คือ
ส่วนที่ 1 การเรียกค่าสินไหม จาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
คุ้มครองเฉพาะการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเท่านั้น 1.) ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามจริง ให้โรงพยาบาล ไม่เกิน 80,000 บาท และไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด (กรณีเป็นผู้โดยสาร) 2.) ค่าชดเชยรายวัน จ่ายให้ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน 3.)ค่าปลงศพ / เสียชีวิ/ ทุพพลภาพ จ่ายให้ทายาท 300,000 บาท
ส่วนที่ 2 การเรียกค่าเสียหายกับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันภัยชั้น 1,2,3)
1.) ค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เกินวงเงินของ พ.ร.บ.รถฯ
2.) ค่าทนทุกข์ทรมาน จากการบาดเจ็บ
3.) ทรัพย์สินที่เสียหาย หรือสูญหายในขณะเกิดอุบัติเหตุ
4.) ค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการเดินทาง หรือทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดรายได้ เป็นต้น
ส่วนที่ 3ฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้เมื่อเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหม
ฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค ทางเลือกที่น่าสนใจ โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม สามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองได้
โดยผู้บริโภคต้องการเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เช่นภาพวันเกิดเหตุ บัตรเสร็จรับเงิน ตั๋วรถ เอกสารรับรองเงินเดือน เพราะเอกสารต่างๆสำคัญและการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ